หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
[ วัดบวรนิเวศวิหาร ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๐ ฉบับที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๐ )
พระประวัติ
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

นับแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ ในรัชกาลที่ ๔ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกจนตลอดรัชกาล เป็นเวลา ๑๕ ปี ฉะนั้น ในรัชกาลที่ ๔ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชจนเกือบตลอดรัชกาล เพราะสมเด็จฯ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่เพียงปีเศษ ตอนต้นรัชกาลเท่านั้น

เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สองจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (๑)

มาในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้โปรดสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตลอดช่วงต้นแห่งรัชกาล เป็นเวลาถึง ๒๓ ปี ฉะนั้น ในช่วงต้น รัชกาลที่ ๕ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๒๓ ปี จึงได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ เป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระประวัติในเบื้องต้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ และเจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ ตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ อันเป็นวันเริ่มสวดมนต์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงได้พระราชทานนามว่า พระองค์เจ้าฤกษ์

ทรงผนวช
พ.ศ. ๒๓๖๕ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักพระญาณสมโพธิ (รอด) ครั้งทรงผนวชเป็นสามเณรได้ ๔ พรรษา ประชวรไข้ทรพิษต้องลาผนวชออกมารักษาพระองค์ เมื่อหายประชวรแล้ว สมเด็จกรมพระราชบวรมหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงจัดการให้ทรงผนวชเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๓๗๒ พระชนมายุครบทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ทรงลาผนวชออกสมโภช แล้วแห่พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้าอาภรณ์ ที่จะทรงผนวชเป็นเป็นสามเณรในเวลานั้น ในการทรงผนวชเป็นพระภิกษุนั้น สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศ เป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส กับพระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดมหาธาตุนั้น เช่นกัน ในเวลานั้น (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระเจริญพระชนมายุกว่า ๕ พรรษา) เป็นเหตุให้ทรงเลื่อมใสในลัทธิธรรมวินัย ตามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ภายหลังจึงได้ทรงอุปสมบทซ้ำอีกครั้งหนึ่งในนทีสีมา โดยพระสุเมธาจารย์ (พุทธวังสะ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (๒)

สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม จนทรงแตกฉานในภาษาบาลี แต่ไม่ทรงเข้าสอบเพื่อเป็นเปรียญ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ที่เคยพระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อครั้งยังมิได้ทรงเป็นพระราชาคณะ ให้ทรงถือเป็นเกียรติยศ สืบมา พระนิพนธ์อันเป็นเครื่องแสดงถึง พระปรีชาสามารถในภาษาบาลีของพระองค์ก็คือ พระนิพนธ์เรื่อง สุคตวิทัตถิวิธาน ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลี ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์คืบพระสุคต อันเป็นมาตราวัดที่มีกล่าวถึงในทาง พระวินัย นอกจากนี้ ก็ได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เป็น ภาษาบาลีไว้อีกหลายเรื่อง นับว่าทรงเป็นปราชญ์ทาง ภาษาบาลีที่สำคัญพระองค์หนึ่ง ในยุครัตนโกสินทร์

ในรัชกาล ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะสมณศักดิ์ เสมอพระราชาคณะสามัญ พระราชทานตาลปัตรแฉกถมปัดเป็นพัดยศ

พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะยังทรงผนวชอยู่ ทรงเป็นพระเถราจารย์ประธานแห่งพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย ทรงลาผนวชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ ๔ จึงได้ทรงสถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฤกษ์ เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงอิศริยยศเป็นประธานาธิบดี แห่งพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “ธรรมยุติกนิกายิกสังฆมัธยมบวรนิเวสาธิคณะ” ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สองรองจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆปริณายก คือสมเด็จพระสังฆราชอยู่ในขณะนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ จึงทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเป็นพระองค์แรก (๓)

ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษี สุริยพันธุ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จประทับที่พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน โดยทรงเชิญเสด็จสมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ต่างวัด เข้าไปอยู่ด้วยพอครบคณะสงฆ์ ทรงผนวชอยู่ ๑๕ วันก็ทรงลาผนวช (๔)

หลังจากเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภที่จะถวายมหาสมณุตมาภิเษกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษี สุริยพันธุ์ ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช แต่สมเด็จมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นไม่ทรงรับ ทรงถ่อมพระองค์อยู่ว่า เป็นพระองค์เจ้าในพระราชวังบวรฯ จักข้ามเจ้านายที่เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ทั้งทรงเจริญพระชนมายุกว่าก็มี จักเป็นที่ทรงรังเกียจของท่าน จึงทรงรับเลื่อนเพียงเป็นกรมพระ เสมอด้วยเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในชั้นเท่านั้น (๕) จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนพระ อิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ (๖)

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อนพระอิศริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งนี้ แม้ว่าพระองค์จะไม่รับถวายมหาสมณุตมาภิเษก ในที่สมเด็จพระสังฆราช แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ถวายพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์สูงสุดเท่ากับทรงเป็นสมเด็จ พระสังฆราชดังปรากฏในคำประกาศเลื่อนกรมว่า “สมควรเป็นสังฆปรินายกประธานาธิบดี มีสมณศักดิ์อิศริยยศใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาสงฆ์บรรพสัชทั้งปวงในฝ่ายพุทธจักร” (๗) ฉะนั้น ในช่วงต้นรัชกาล มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ เป็นเวลา ๒๓ ปี จึงว่างสมเด็จพระสังฆราช

ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก
พ.ศ. ๒๔๓๔ อันเป็นบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ แห่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษก ขณะเมื่อทรงรับถวายมหาสมณุตมาภิเษกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเจริญพระชนมายุถึง ๘๒ พรรษาแล้ว มาในคราวนี้ ทรงยอมรับถวายมหาสมณุตมาภิเษก เพราะเจ้านายชั้นเดียวกัน สิ้นพระชนม์แล้วทั้งสิ้น มีเจ้านายผู้ใหญ่เจริญพระชนมายุเหลืออยู่แต่พระองค์ เพียงพระองค์เดียว (๘)

การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก (ของเดิมเขียน มหาสมณุตมาภิเศก) ทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งพระราชพิธีสงฆ์ ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร มีเทียนชัยและเตียงพระสวดภาณวาร ตั้งพระแท่นเศวตฉัตร ในนั้น ตั้งพระแท่นสรงที่ศาลากำแพงแก้ว โรงพิธีพราหมณ์ตั้งริมคูนอกกำแพงบริเวณนั้นออกมา มีสวดมนต์ตั้งน้ำวงด้ายวัน ๑ พระสงฆ์ ๒๐ รูป รุ่งเช้าจุดเทียนชัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น โปรดให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงจุด พระสงฆ์เข้าพระราชพิธี ๓๐ รูป สวดมนต์ ๓ เวลาและสวดภาณวาร ๓ วัน ๓ คืน เช้าวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๔ สรงแล้ว เสด็จขึ้นพระแท่นเศวตรฉัตร มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงสถาปนาแล้ว ทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องยศ ดอกไม้ธูปเทียนและต้นไม้ทองเงินของหลวงแล้ว ทรงถวายศีล เป็นเสร็จการรับมหาสมณุตมาภิเษกเพียงเท่านี้ ต่อนั้นทรงธรรม ๔ กัณฑ์ อนุโลมตามบรมราชาภิเษกกัณฑ์ทศพิธราชธรรมจรรยา เปลี่ยนเป็นไตรสิกขา และ ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนของ พระสงฆ์พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ (๙)

ประกาศการมหาสมณุตมาภิเศก
ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๔ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม สสสังวัจฉร กรรติกมาศกาฬปักษ์ พาระสีดิถี ศุกรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ พฤศจิกายนมาศ สัตตวีสติมวารปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถ มหามกุฏราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์ บูรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษสรรพ เทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิสมญา พินิตประชานารถเปรมกระมล ขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ดำรงพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ แลเปนสังฆปรินายกปธานาธิบดี มีสมณะศักดิ ใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาสงฆบรรพสัช ทั่วพระราชอาณาเขตร มาตั้งแต่วันศุกร เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ล่วงมาจนกาลบัดนี้ มีพระชนมายุเจริญยิ่งขึ้น จนไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด ในมหาจักรีบรมราชตระกูลนี้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ที่ยังดำรงอยู่ก็ดี จะได้มีพระชนมายุยืนยาว มาเสมอด้วยพระชนมายุสักพระองค์เดียว เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลพระบรมวงศานุวงศ์ทรงยินดีมีความเคารพนับถือยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

อีกประการหนึ่งฝ่ายบรรพชิต บรรดาพระสงฆ์ซึ่งมีสมณะศักดิ์ในเวลานี้ ก็ไม่มีผู้ใด ซึ่งจะมีพรรษาอายุเจริญยิ่งกว่าพระชนมายุแลพรรษา ก็ย่อมเป็นที่ยินดีเคารพนับถือยิ่งใหญ่ ในสมณะมณฑลทั่วทุกสถาน

อนึ่งแต่ก่อนมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานมหาสมณุตมาภิเศกฉด่พระนจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ด้วยทรงพระราชปรารภ พระชนมายุซึ่งเจริญยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง

อีกประการหนึ่ง ด้วยการที่ทรงผนวชมาช้านาน ทรงคุณธรรมทางปฏิบัติในพระพุทธสาสนา แลได้เป็นครูอาจารย์แห่งราชตระกูลแลมหาชน เปนอันมากเปนที่ตั้ง ก็ถ้าจะเทียบแต่ด้วยคุณธรรม การปฏิบัติในทางพระพุทธสาสนา ฤๅด้วยการที่ได้เป็นครูอาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์ แลมหาชนเปนอันมากนี้ก็พิเศษกว่า ด้วยได้ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ในพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์มีเจ้าฟ้า แลพระองค์เจ้าต่างกรม แลพระองค์เจ้า จนตลอดข้าราชการเป็นอันมาก จนถึงในครั้งนี้ ก็ยังได้ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งยังทรงผนวชเปนสามเณรอยู่ในบัดนี้ เพราะฉะนั้น บรรดาบรมราชตระกูลแลตระกูลทั้งปวง ทั้งในสมณะมณฑลทั่วทุกหมู่เหล่า ยอมมีความเคารพนับถือในพระองค์ทั้งสองประการ คือเปนพระเจ้าบรมวงศ์ ซึ่งทรงมีพระชนมายุเจริญยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แลทั้งเป็นพระอุปัธยาจารย์ด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง จึงมีความนิยมยินดี ที่จะใคร่ให้ได้ดำรงพระยศอันยิ่งใหญ่ เสมอกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยรับมหาสมณุตมาภิเศกแลเลื่อนกรม เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระให้เต็มตามความยินดีเลื่อมใส จะได้เป็นที่เคารพสักการบูชา เป็นที่ชื่นชมยินดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยแลอเนกนิกรมหาชนบรรดา ซึ่งนับถือพระพุทธสาสนาทั่วหน้า

จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการมหาสมณุตมาภิเศก แลเลื่อนพระอิศริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระ มีพระนาม ตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุตร ปฏิบัติสุทธิคณะนายก ธรรมนิติสาธกปวรัยบรรพชิต สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชาปัญญาอรรค มหาสมณุดม บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนารถ มหาเสนานุรักษ์อนุราชวรางกูร ปรมินทรบดินทร์สูริย์หิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย ไตรปิฎกโหรกลาโกศล เบญจปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธสาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติยญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรยคุณารักษ์ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิโลกยปฏิพัทธ พุทธบริสัษยเนตร สมณคณินทราธิเบศร์ สกลพุทธจักโรปการกิจ สฤษดิศุภการมหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร เสด็จสถิตย์ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง (มุสิกนาม) ให้ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนด อย่างพระองค์เจ้าต่างกรมตำแหน่งใหญ่ ในพระบรมมหาราชวัง แลดำรงพระยศฝ่าย สมณะศักดิ์เปนเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งกรุงเทพ ฯ แลหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขตร พระราชทานนิตยภัตรบูชาเดือนละ ๑๒ ตาลึง ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธสาสนา เปนภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิศริยยศสมณศักดิ จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ ศุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ พิพัฒมงคลวิบุลยศุภผลจิรฐิติกาล ในพระพุทธสาสนาเทอญ ฯ

ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี
สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน ซึ่งคนส่วนมากไม่ค่อยจะได้รู้จัก ประการแรก ทรงเป็นปราชญ์ ทางภาษาบาลีที่สำคัญพระองค์หนึ่ง ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่มากนัก ผลงานด้านภาษาบาลีที่สำคัญของพระองค์ ก็คือพระนิพนธ์เรื่องสุคตวิทิตถิวิธาน ซึ่งทรงวิเคราะห์ และอธิบายเรื่องคืบพระสุคต พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ ในปลายรัชกาลที่ ๓ และได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในลังกา ในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ สำหรับในประเทศไทยนั้น เพิ่งจะมารู้จักพระนิพนธ์เรื่องนี้เมื่อต้นรัชกาลที่ ๖ นอกจากพระนิพนธ์เรื่องนี้แล้ว พระองค์ยังทรงพระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ เป็นภาษาบาลีไว้อีกหลายเรื่อง ส่วนพระนิพนธ์ในภาษาไทย ก็ทรงไว้หลายเรื่องเช่นกัน ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม และทรงพระปรีชาสามารถ ทั้งในทางร้อยแก้ว และร้อยกรอง ที่สำคัญ เช่น ลิลิตพงศาวดารเหนือ โครงพระราชประวัติในรัชกาลที่ ๔

ทรงเป็นสถาปนิก
พ.ศ. ๒๓๙๖ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริที่จะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งองค์เดิมเป็นพระเจดีย์ขนาดย่อม ให้เป็นพระมหาเจดีย์ สำหรับเป็นที่สักการบูชาของมหาชนสืบไทย จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่ยังทรงเป็นกรมหมื่นออกแบบพระเจดีย์ และทรงโปรดให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัย ก็โปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เป็นผู้บัญชาการทำการปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ พระปฐมเจดีย์ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงเป็นผลงานออกแบบของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (๑๐)

ทรงเป็นนักโบราณคดี
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เป็นเหตุให้ทรงพบศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และจารึกอื่นๆ ในเวลาต่อมาอีกมาก และพระองค์ทรงพยายามศึกษา จนสามารถทรงอ่านข้อความในจารึกดังกล่าวนั้น ได้ซึ่งอำนวยประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไทย อย่างมหาศาล สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ซึ่งทรงเป็นศิษย์ใกล้ชิด ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง ก็ได้ทรงดำเนินรอยตาม เป็นเหตุให้ทรงเชี่ยวชาญ ในทางโบราณคดีพระองค์หนึ่งของไทยในยุคนั้น ทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกรุ่นแรกของไทย ได้ศึกษาและรวบรวมจารึกต่างๆ ในประเทศไทยไว้มากและได้ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (อักษรขอม) เป็นพระองค์แรก (๑๑)

ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์
นอกจากจะทรงสนพระทัย ในการศึกษาทางโบราณคดีแล้ว สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ยังทรงสนพระทัยในเรื่องประวัติศาสตร์ด้วย ดังจะเห็นได้จากผลงานทางด้านประวัติศาสตร์ ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง เช่น ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นต้น

ทรงเป็นนักดาราศาสตร์และโหราศาสตร์
สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงเป็นที่เลื่องลือว่าเชี่ยวชาญในทางโหราศาสตร์เป็นอันมาก แต่ไม่ทรงนิยมการพยากรณ์ ในด้านดาราศาสตร์ก็ทรงเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงพระนิพนธ์ ตำราปักขคณนา (คือตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ) ไว้อย่างพิสดาร พระนิพนธ์อันเป็นผลงานของพระองค์ในด้านนี้ ไม่ค่อยได้ตีพิมพ์ออกเผยแพร่คนทั่วไป จึงไม่ค่อยรู้จักพระอัจฉริยภาพ ของพระองค์ในเรื่องดังกล่าวเหล่านี้มากนัก

ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์
สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงบันทึกจำนวนฝนตก เป็นรายวันติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ในรัชกาลที่ ๓ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๓ ในรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นการเก็บสถิติน้ำฝนในประเทศไทย นับว่าทรงมีความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ทรงเรียกบันทึกของพระองค์ว่า “จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน” และในจดหมายเหตุนี้ ยังได้ทรงบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญๆ ไว้ด้วย นับเป็นจดหมายเหตุทางประวัติที่มีค่ามากเรื่องหนึ่ง

ทรงเป็นกวี
สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ ไว้มาก ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี ในส่วนที่เป็นภาษาไทยนั้นทรงพระนิพนธ์เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ไว้ก็จำนวนมาก เช่น โคลงพระราชประวัติรัชกาลที่ ๔ กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นกวีนักอักษรศาสตร์ที่สำคัญพระองค์หนึ่ง ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย
เมื่อกล่าวถึงเรื่องพระกริ่ง คนส่วนมากก็คงจะเคยได้ยินเรื่องพระกริ่งปวเรศ ซึ่งนิยมนับถือกันว่าเป็นยอดแห่งพระกริ่ง ในสยามพระกริ่งปวเรศเป็นพุทธศิลป์ ที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ได้ทรงพระดำริสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ นับเป็นการให้กำเนิดพระกริ่งขึ้นในประเทศไทย เป็นครั้งแรก และได้เป็นแบบอย่างให้มีการสร้างพระกริ่ง กันขึ้นในเวลาต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

พระอวสานกาล
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นที่เคารพนับถือ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ตลอดถึงพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอันมาก ทรงเป็นที่ปรึกษา ในกิจการบ้านเมืองที่สำคัญๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มาตลอดพระชนมชีพ ดังจะเห็นได้จากความในพระราชหัตถเลขา ที่กราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น บางตอนว่า “ทุกวันนี้หม่อมฉันเหมือนตัวคนเดียว ได้อาศัยอยู่แค่สมเด็จกรมพระกับสมเด็จ เป็นที่พึ่งที่ปรึกษา เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ขอให้ทรงพิเคราะห์การให้ละเอียดด้วย”

ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงประชวรต้อกระจก ในที่สุดพระเนตรมืด ครั้ง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงประชวรพระโรคกลัดพระบังคนหนัก จัดเข้าในพระโรคชรา สิ้นพระชนม์เมื่อเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๓ พรรษา ทรงครองวัดบวรนิเวศเป็นเวลา ๔๑ ปี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่เพียง ๑๑ เดือนเศษ ได้พระราชทานพระโกศกุดั่งใหญ่ทรงพระศพ

พระศพสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระตำหนักเดิม (คือที่เสด็จประทับ) วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลาถึง ๘ ปี จึงได้พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๔๓

ทรงสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะเมื่อทรงดำรงพระสมณฐานันดรเป็น สมเด็จพระมหาสังฆปริณายก ที่ สมเด็จพระสังฆราชนั้น ยังไม่มีคำนำพระนาม ที่บ่งบอกถึงพระเกียรติยศ ในทางสมณศักดิ์ คือเรียกพระนามไปตามพระอิศริยยศแห่งบรมราชวงศ์ว่า “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมสมเด็จ พระยาปวเรศวริยาลงกรณ์” มาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา เปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์” ในคราวเดียวกันกับที่ทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ จึงได้เรียกกันว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่นั้นเป็นต้นมา

-----------------------------------------------

เชิงอรรถ
๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ กรมพระดำรงราชานุภาพ กรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๐๖ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หน้า ๑๒๖-๘
๒. เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๒๘ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความทรงจำ สำนักพิมพ์คลังวิทยา กรุงเทพฯ ๒๕๑๗ หน้า ๗๓
๓. เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๒๙-๑๓๐
๔. ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร พิมพ์โดยพระบรมราชโองการในงานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ที่พระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๖๕ หน้า ๖๘-๙
๕. เรื่องเดียวกัน หน้า ๗๖-๘
๖. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ อ้างแล้ว หน้า ๑๓๐
๗. เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๓๑
๘. ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร อ้างแล้ว หน้า ๗๗
๙. เรื่องเดียวกัน หน้า ๗๖-๗
๑๐. เรื่องเดียวกัน หน้า ๕๑
๑๑. กรมศิลปากร จารึกสมัยสุโขทัย จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปีลายสือไทย พ.ศ. ๒๕๒๖ หน้า ๒๒๕

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก