หน้าหลัก ธรรมะปฏิบัติ บทสวดมนต์ และมนต์พิธี
Search:
หน้าแรก : หมวดธรรมะปฏิบัติ

“อานนท์ ! พุทธบริษัททั้งสี่ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย ! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม”

พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
อาจารย์วศิน อินทสระ

"ดูก่อนอานนท์ ธรรมหนึ่งคือ..
อานาปานสติสมาธิ
ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์,
สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์,
โพชฌงค์ ๗
อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและ วิมุติให้บริบูรณ์"

“..ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน
คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
   สมถะ ที่ภิกษุเจริญแล้ว... ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมดีแล้ว... ย่อมละราคะได้
   วิปัสสนา ที่อบรมดีแล้ว.. ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมดีแล้ว.. ย่อมละอวิชชาได้"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ ชื่อว่าปัญญาวิมุติ"

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

  ความหมายของการสวดมนต์ไหว้พระ
           การสวดมนต์ไหว้พระ ได้นิยมมาแล้วตั้งแต่โบราณกาล แม้ในศาสนาพราหมณ์ ก็ได้นิยมสวดดังที่เรียกกันว่า สาธยายมนต์ ร่ายมนต์ เพื่อความทรงจำพระเวทบ้าง เพื่อสิริมงคลบ้าง ในทางพระพุทธศาสนา ก็มีการสวดสาธยายเช่นเดียวกัน ในชั้นต้นเพ่งเพียงสวดสาธยาย เพื่อความทรงจำหลักคำสอนที่เป็นพระพุทธวจนะเท่านั้น เมื่อชาวบ้านได้ยินพระสงฆ์สวดสาธยายก็พากันอนุโมทนา และได้ถือกันว่าการได้ ยินได้ฟังพระสงฆ์สวดสาธยายเช่นนั้นเป็นสิริมงคล ในสมัยนั้น ยังไม่มีตำราที่จดจารึกเอาไว้ ต้องท่องจำให้ได้ด้วยวาจา
           บทสวดในพระพุทธศาสนามีมาก พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาถือเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประโยชน์ของการสวดมนต์ไหว้พระที่เห็นได้ชัด มี ๓ อย่าง คือ
           ๑. เป็นปริตรป้องกันเหตุเภทภัยต่าง ๆ
           ๒. เป็นการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้
           ๓. เป็นกัมมัฏฐานอบรมจิตใจของตน ทั้งที่เป็นสมถะและวิปัสสนา

           ด้วยเหตุทั้ง ๓ ประการนี้ ที่ถือกันว่าเป็นสิริมงคล และสามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายได้นั้น จึงพากันนิยมการสวดสาธยาย เป็นไปทั้งทางวัดและทางบ้าน ภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาได้สวดเป็นประจำ เช่น ทำวัตรไหว้พระเป็นต้น ในบางสมัยเมื่อปรารภเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ก็อาราธนาพระสงฆ์สวดเพื่อสิริมงคลบ้าง เพื่อเจริญความสังเวชบ้าง เมื่อมี ความนิยมมากขึ้น ต่อมาก็เลยนิยมเป็นพิธีทั้งในพระราชพิธีและพิธีของปวงชนทั่วไป.

           การสวดมนต์ ได้มีเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ มีบัญญัติในพระวินัยของนางภิกษุณีก็มี เช่น ห้ามนางภิกษุณี และทรงห้ามพระภิกษุเรียนเดรัจฉานวิชา แต่ให้เรียนปริตรป้องกันเหตุเภทภัยต่างๆ เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น พระสงฆ์ก็ใช้สวดสาธยายพระพุทธวจนะนั้นตามสมควรแก่เหตุการณ์ ดังมีเรื่องเล่าว่า เมื่อคราวเมืองเวสาลี เกิดโรคระบาดทำให้คนและสัตว์ตายเป็นอันมาก พระอานนท์ ได้ไปยังที่นั้นแล้วสวดรตนสูตร โรคนั้นระงับไป เมื่อสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงประชวร โปรดให้พระจุนทเถระสวดโพชฌงคสูตรถวาย ครั้งหนึ่งพวกภิกษุไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ป่า ถูกพวกอมนุษย์รบกวน กลับมาเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์โปรดให้สวดกรณียเมตตสูตร แล้วอยู่ต่อไป ภัยเหล่านั้นก็ไม่มี หรือเมื่อพระโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะเป็นไข้หนัก พระพุทธเจ้าได้สวดโพชฌงคสูตร ให้สดับแล้วหายจากโรคภัยไข้เจ็บ อานิสงส์ของการสวดมนต์ไหว้พระ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มีเทศนาอยู่ตอนหนึ่งในหนังสือบูรพาจารย์ที่ทางมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้จัดพิมพ์ขึ้นมีใจความว่า การสาธยายพุทธมนต์ ใครสวดก็ตาม จะเป็นกิจวัตรพระสงฆ์ เช้า - เย็น หรือชาวพุทธทุกคนสวดพุทธคุณ ระลึกในใจ มีอานุภาพแผ่ไปได้หมื่นจักรวาล พูดสวดออกเสียงพอฟังได้ มีอานุภาพไปได้แสนจักรวาล สวดมนต์เช้า - เย็น ธรรมดามีอานุภาพแผ่ไปได้แสนโกฏิจักรวาล สวดเต็มเสียงสุดกู่ มีอานุภาพแผ่ไปได้ อนันตจักรวาล แม้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในภพที่สุดอเวจีมหานรกยังได้รับความสุข เมื่อแว่วเสียงพุทธมนต์ผ่านเข้า ถึงชั่วขณะหนึ่งครู่หนึ่ง (ชั่วช้างพับหูงูแลบลิ้น) ดีกว่าหาสุขไม่ได้ตลอดกาล นี้คืออานิสงส์ของการเจริญพระพุทธมนต์

           การสวดมนต์ คือการกล่าวคำศักดิ์สิทธิ์ อันมีฤทธิ์มีอำนาจเหนือชีวิตจิตใจ ได้แก่การสรร เสริญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และมนต์ของพระพุทธเจ้าซึ่งเรียกว่า “พระพุทธมนต์” แต่พระพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมนับถือพระพุทธมนต์เสมอด้วยชีวิตจิตใจ ถือว่าเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตราย และประสิทธิ์ประสาทความเจริญ ให้จัดเป็นกุศลพิธีมาแต่ครั้งพุทธกาล การสวดมนต์ใช้สวดกันเป็นภาษามคธเป็นพื้น เพราะภาษามคธเป็นภาษาหลักเดิมของพระพุทธศาสนา และนับถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ข้อสำคัญควรรู้ความที่สวดนั้นด้วย การสวดมนต์ที่เราเห็นกันอยู่คือการสวดเป็นกิจวัตรสำหรับตนอย่างหนึ่ง ฟังพระสวดมนต์ในพิธีต่างๆ อย่างหนึ่ง ในการสวดก็มีหลายแบบ หลายวิธีสุดแต่จะนิยมสวดกัน ส่วนที่นิยมเป็นอย่างเดียวกันและเว้นไม่ได้ก็คือ บทนมัสการพระ ได้แก่ “นะโม” บทนี้ต้องใช้ขึ้นต้นเสมอไปไม่ว่าในพิธีใด ๆ และดูเหมือนจะขึ้นใจกันในบทนี้ก่อน เพราะเป็นบทไหว้พระบรมครู ที่ต้องการว่าก่อน เรียกว่าตั้ง นะโม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อท่านผุ้เป็นพระบรมครูของโลก ผู้เริ่มสร้างหลักธรรมของพระพุทธศาสนาขึ้นจะได้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ในบทที่จะสวด บทต่อไปมีอยู่ ๕ บท คือ นะโม บทหนึ่ง ตัสสะ บทหนึ่ง ภะคะวะโต บทหนึ่ง อะระหะโต บทหนึ่ง สัมมาสัมพุทธัสสะ บทหนึ่ง ทั้ง ๕ บทนี้ มีตำนานมาว่า ครั้งหนึ่งเทวดาห้าองค์ คือ สาตาคิรายักษ์ องค์หนึ่ง อสุรินทราหู องค์หนึ่ง ท้าวมหาราช องค์หนึ่ง ท้าวสักกะ องค์หนึ่ง ท้าวมหาพรหม องค์หนึ่ง ไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างจับใจ จึงได้เปล่งวาจาขึ้น
           สาตาคิรายักษ์ ...... เปล่งวาจาว่า นะโม
           อสุรินทราหู ........ เปล่งวาจาว่า ตัสสะ
           ท้าวมหาราช ....... เปล่งวาจาว่า ภะคะวะโต
           ท้าวสักกะ ......... เปล่งวาจาว่า อะระหะโต
           ท้าวมหาพรหม ...... เปล่งวาจาว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ

           จึงใช้สำหรับเป็นบทนมัสการพระพุทธเจ้า ตั้งแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ ใจความของนะโมนั้นมีว่า “ขอนอบน้อม แด่สมเด็จพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” เพียงเท่านี้ก็เป็นอันประกาศพระคุณของพระพุทธเจ้า อย่างรวบยอดโดยสิ้นเชิง พระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างรวบยอดมี ๓ ประการ คือ
           ๑. ทรงตรัสรู้ ชอบด้วยพระองค์เอง เรียกว่า พระปัญญาคุณ
           ๒. ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิง เรียกว่า พระวิสุทธิคุณ
           ๓. สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ยิ่งตามความเป็นจริง เรียกว่า พระกรุณธิคุณ

           การสวดมนต์ เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนมานานแล้ว ทั้งสวดด้วยตนเองและฟังพระสวด การสวดด้วยตนเอง ได้กล่าวแล้วว่า เป็นกิจวัตรสำหรับตน ซึ่งจะต้องทำเสมอ ๆ เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตน และเป็นเครื่องปลอบใจให้สงบไม่ฟุ้งซ่าน โดยนึกถึงคุณพระเป็นอารมณ์ เพื่อหน่วงเหนี่ยวน้ำใจให้แช่มชื่น อยู่ในพระคุณของท่าน แม้เวลามีอันตราย เมื่อนึกถึงคุณพระก็บรรเทาความหวาดสะดุ้งไปได้ชั่วขณะ ในโลกนี้ ใครที่จะถูกขอร้องให้ทำงานทั้งใหญ่ ทั้งหนักทั้งมาก และไม่มีเวลาหยุดเหมือนคุณพระเป็นไม่มีแล้ว งานแต่ละอย่างที่ถูกขอร้องนั้น ล้วนมหึมาทั้งสิ้น เช่น งานดลบันดาล งานคุ้มครองป้องกัน งานปกป้องรักษา ดังปรากฏในคำขอร้องอวยพรต่าง ๆ ในที่ทั่ว ๆ ไป คุณพระต้องแบ่งภาคทำงานใหญ่ ทุกทิศทุกทางไม่หยุดหย่อน แล้วแต่ว่าเขากลัวกันในด้านไหน ต้องการอะไร เขาก็ขอร้องให้ทำทั้งนั้น เขาไปรบก็ต้องแบ่งภาคไปกับเขา ถ้าเขาไปกันแสนหนึ่ง ก็ต้องแบ่งภาคไปแสนหนึ่ง ที่เฝ้าแนวหลังก็ต้องแบ่งภาคอยู่ด้วย ทุกวัดวาอาราม ทุกบ้านเรือนที่นับถือต้องอยู่ช่วยกันทั้งนั้น จนกระทั่งเด็กเล็ก ๆ ก็ต้องแบ่งภาคเป็นองค์เล็ก ๆ ให้ผูกคอ ทั้งเป็นหมอวิเศษนัก ผู้ที่เส้นประสาทไม่ค่อยดี เพราะเสียงสัญญาณภัย ทางอากาศ ถ้าไม่ได้คุณพระซึ่งเป็นหมอวิเศษแล้วจะเลยเป็นบ้ากันยกใหญ่ ถึงที่เส้นประสาทดีก็ได้ท่านรักษาอีก จึงคงดีอยู่ได้มาก เรารบกวนท่านแล้วถึงเพียงนี้ ก็ควรทำให้ดีอยู่กับท่านเสมอ ๆ นึกถึงท่านทุกวันคืน ไม่ใช่นึกถึงท่านเพียงชั่วขณะมีอันตรายเท่านั้น ทำได้ดังนี้เป็นสวัสดีแน่ ๆ


      บทสวดมนต์
      มนต์พิธี


   โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
ประโยชน์ของการทำวัตรสวดมนต์ คลิกฟัง
พระทำวัตรสวดมนต์ เช้า คลิกฟัง
พระทำวัตรสวดมนต์ เย็น คลิกฟัง
สวดมนต์พิเศษ - แปล ๑ คลิกฟัง
สวดมนต์พิเศษ - แปล ๒ คลิกฟัง
   โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
สวดมนต์เป็นเรื่องใหญ่ สวดกันทำไมต้องรู้ให้ชัด คลิกฟัง
   โดย พระโพธิธรรมาจารย์เถระ (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)
การสวดมนต์ไหว้พระ คลิกฟัง
การสวดมนต์ภาวนาเพื่อให้จิตตั้งอยู่ในบุญกุศล คลิกฟัง
ทำวัตรเช้า คลิกฟัง
ทำวัตรเย็น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คลิกฟัง
ทำวัตรเช้า นำโดยมหาทวีสุข คลิกฟัง
ทำวัตรเย็น นำโดยหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ คลิกฟัง

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก