หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
๑๖ กันยายน ๒๔๓๓ - ๑๓ มกราคม ๒๕๒๐
วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
--------------------
หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ (พระราชธรรมาภรณ์) วัดดอนยายหอม ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม อดีตพระคณาจารย์นักพัฒนา พระเครื่อง และวัตถุมงคลของท่านยอดเยี่ยม ด้านคงกระพันชาตรี เปี่ยมด้วยเมตตามหานิยมยิ่งนัก

ในอดีตนั้น วัด คือจุดศูนย์รวมของชุมชน โดยเฉพาะในชนบทห่างไกลความเจริญ เป็นทั้งแหล่งให้วิชาความรู้เป็นแหล่งอบรมศีลธรรม เป็นแหล่งสถานพยาบาล ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงเป็นแหล่งที่พึ่งทางจิตใจ โดยพระสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้

นอกจากนั้นแล้ว พระสงฆ์ยังมีฐานะเป็นแกนนำสำคัญของชุมชน ในการพัฒนาท้องถิ่น ให้มีความเจริญด้านต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จาก อัตชีวประวัติของพระคณาจารย์ดังในอดีต ทุกท่านทุกองค์ ต่างประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด อันเนื่องจากว่าท่านเหล่านั้น เป็นพระคณาจารย์ที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธา จากบรรดาลูกศิษย์ลูกหา และพุทธศาสนิกชน เมื่อทำการสิ่งใดจึงสำเร็จได้โดยง่าย ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้านในชุมชนนั้น พระสงฆ์จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อชุมชนในทุก ๆ ด้าน

หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ หรือ สมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม ท่านเป็นพระคณาจารย์ที่ได้รับการยกย่อง และเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธา จากชาวบ้านดอนยายหอม รวมถึงพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก จนได้รับสมญานามว่า เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ มีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นเสาหลักที่พึ่งพักพิงผู้เดือดร้อน อบรมบ่มนิสัยให้พุทธศาสนิกชนเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนาพระอาราม และชุมชน ให้มีความเจริญ ในทุก ๆ ด้าน ไม่จะเป็นเสนาสนะ ถาวรวัตถุ การศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรม รวมถึงสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือร่วมไม้ ของชาวบ้าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก เคารพนับถือ และศรัทธาของตนเอง คือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม งานทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ติดขัด

กล่าวได้ว่า ท่านหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม คือ เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม โดยแท้ แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม แต่สิ่งต่าง ๆ ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำ ของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยเฉพาะชาวดอนยายหอมอย่างไม่มีวันลืม ต่างยังรำลึกถึงท่านอย่างไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำ และเป็นเช่นนี้ชั่วกาลนาน

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เป็นคนบ้านดอนยายหอมโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวเกษตรกรรม ที่มีฐานะมั่งคั่งครอบครัวหนึ่ง ของบ้านดอนยายหอม เกิดเมื่อวันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2433 (ร.ศ. 109, จ.ศ. 1252) ตรงกับขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นบุตรของ พ่อพรม-แม่กรอง นามสกุล ด้วงพูลเกิด มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 คือ
1. นายอยู่
2. นายแพ
3. นายทอง
4. ท่านหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ
5. นายแจ้ง
6. นายเนียม
7. นางสายเพ็ญ
8. นางเมือง

ในจำนวนบุตรทั้งหมด 7 คนนี้ ท่านเป็นคนที่ได้รับการโปรดปรานจากบิดา-มารดามากที่สุด เพราะอุปนิสัยของท่าน เป็นคนอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อย มีสติปัญญาเฉียบแหลม ทั้งยังได้ยึดถือตัวอย่างจากบิดา ที่ประพฤติดีประพฤติชอบ ขยันขันแข็ง ไม่เป็นนักเลงอันธพาล หรือปล่อยเวลาว่างไปโดยเปล่าประโยชน์

วัยเยาว์ของท่าน ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่บ้าน มีพ่อพรมเป็นผู้สอน ด้วยเหตุว่าพ่อพรมนั้น เป็นผู้คงแก่เรียนทั้งหนังสือไทย อักขระขอม และวิชาอาคมต่าง ๆ จึงได้ถ่ายทอดให้กับลูกทุกคน ควบคู่ไปกับการสอนศีลธรรม ไหว้พระ สวดมนต์ เป็นประจำ เป็นการปลูกฝังพื้นฐานที่ดีงามแก่ลูก ๆ ทั้งชายหญิง ให้มั่นคงในพระศาสนา ดังนั้น เมื่อบุตรชายคนใด อายุครบอุปสมบท พ่อพรมจะจัดงานให้อย่างยิ่งใหญ่ครึกครื้น มีมโหรี แตรวง กลองยาว แห่แหนกันอย่างสนุกสนาน ลูกชายคนโต ไม่ว่าจะเป็น นายอยู่ นายแพ นายทอง ต่างอุปสมบทบวชเรียน จนได้ลาสิกขาบทออกมาแต่งงาน แยกเรือนออกไปเป็นฝั่งเป็นฝาแล้ว

เมื่อถึงคราวท่านหลวงพ่อเงินอุปสมบท พ่อพรมได้จัดงานให้อย่างเรียบง่าย ด้วยรู้ใจของบุตรชายดีว่า เป็นคนไม่ชอบความครึกครื้นเหมือนคนอื่น ถึงเวลา ก็แห่รอบพระอุโบสถสามรอบ และทำพิธีบรรพชา-อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดดอนยายหอม โดยมีพระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เป็นพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา เวลา 18.15 น. ตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ

ภายหลังการอุปสมบท ได้พำนักจำพรรษา ณ วัดดอนยายหอม ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย รวมถึงบทสวดมนต์ต่าง ๆ ท่านก็สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากมีพื้นฐานที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเพียงชั่วพรรษาแรก ก็สามารถสวดพระปาฏิโมกข์จนจบ ได้อย่างแคล่วคล่อง สิ่งที่ท่านทำควบคู่กันโดยตลอด คือ การฟื้นฟู ทบทวนคาถาอาคมต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนศึกษามาจากผู้เป็นบิดา อย่างไม่เคยขาด

ในพรรษาต่อมา ได้เริ่มศึกษาฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามที่บิดาได้แนะนำ ใช้เวลาและฝึกฝนปฏิบัติอยู่นานถึง 5 ปี จนมีความเชี่ยวชาญชำนาญ พรรษาที่ 6 เริ่มออกเดินธุดงค์ เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก เป็นการฝึกจิตสมาธิให้กล้าแข็ง ตามแบบของพระคณาจารย์ยุคเก่า ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา อันเป็นการกำจัดเอาอาสวกิเลส ให้บรรเทาเบาบาง ทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาไปในตัว ท่านเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงได้ไปกราบหลวงพ่อพระพุทธชินราช ที่พิษณุโลก ซึ่งต่อมาภายหลังท่านได้นำแบบอย่างมาจำลอง สร้างเป็นวัตถุมงคลชนิดต่าง ๆ ดังปรากฏพบเห็น และเล่นหาสะสมกันอยู่ในปัจจุบัน

ในพรรษาที่ 6 นี่เอง ภายหลังที่ท่านกลับจากการออกเดินธุดงค์ ไม่นานนักก็ได้รับการแต่งตั้งจากท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัด ให้เป็นรองเจ้าอาวาส วัดดอนยายหอม ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2459
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เนื่องจาก พระปลัดฮวย อดีตเจ้าอาวาสมรณภาพ
วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2472 เป็นพระปลัด ฐานานุกรมของเจ้าคณะเมืองนครปฐม
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2473 เป็นพระอุปัชฌาย์
วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูทักษิณานุกิจ
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชธรรมาภรณ์

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม พระเถระผู้เข้มขลังในพระเวทย์วิทยาคม ดังจะเห็นได้จากวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่ท่านสร้าง และปลุกเสกเอาไว้ มีผู้นำไปใช้อาราธนาติดตัว แล้วเกิดประสบการณ์มาอย่างมากมาย จนนับไม่ถ้วน นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังมีเมตตาต่อบรรดาลูกศิษย์อย่างเสมอภาค ไม่แบ่งแยกมั่งมี หรือยากจน ทุกคนเท่าเทียมกัน

นอกจากท่านจะเป็นที่พึ่งทางจิตใจแล้ว ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่นำความเจริญ มาสู่ท้องถิ่นอย่างมากมาย นับเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2459 ซึ่งเป็นปีที่ท่านรับตำแหน่ง เป็นรองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ขณะนั้นวัดกำลังทรุดโทรม เสนาสนะต่าง ๆ หรือ แม้กระทั่งกุฏิ ชำรุด ผุพังเกือบทั้งหมด ท่านได้เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์ เป็นการใหญ่ เพื่อให้เสนาสนะกลับฟื้นคืนสภาพดีดังเดิม นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ท่านยังได้ก่อสร้างถาวรวัตถุอีกหลายอย่าง เช่น ปี พ.ศ. 2465 สร้างหอสวดมนต์ ปี พ.ศ. 2470 สร้างศาลาการเปรียญ ปี พ.ศ. 2480 สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อแล้วเสร็จจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต ปี พ.ศ. 2492 หล่อพระประธานในพระอุโบสถ ขนาดหน้าตัก 4 ศอก 6 นิ้ว ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ปี พ.ศ. 2470 สร้างสถานีอนามัย ปี พ.ศ. 2497 และสร้างโรงเรียนสหศึกษาบาลี สร้างตึกเรียนพระปริยัติธรรม สร้างโรงเรียนประชาบาล ฯลฯ

กิจวัตรของหลวงพ่อเงิน
กิจวัตรประจำของหลวงพ่อเงินนั้น ท่านตื่นเวลา 5.00 น. ล้างหน้าครองจีวรแล้ว ก็สวดมนต์เจริญภาวนา พอได้เห็นอรุณท่านก็ออกเดิน (สมัยยังหนุ่มท่านไปบิณฑบาตด้วย) ตรวจดูความสะอาด และสิ่งต่าง ๆ ภายในวัด เวลา 7.00 น. ฉันเช้าเสร็จ ก็นั่งพักผ่อนหรือรับแขกที่หน้ากุฏิของท่าน ในระหว่างเวลาที่พักผ่อนนี้ ท่านมักจะนิมนต์พระในวัด มาสอบถามความเป็นไปต่าง ๆ เพื่อหาโอกาสสั่งสอนบ้าง บางทีก็เรียกศิษย์วัดไปนั่งเป็นกลุ่ม ให้หัดท่องหนังสือบ้าง ให้มีผู้อ่านหนังสือให้ท่านฟังบ้าง หากว่างจริง ๆ ท่านก็มักจะนั่งสงบจิตอยู่ผู้เดียว ซึ่งความจริงโอกาสว่างหรือจะพักผ่อนจริง ๆ หาได้น้อยเต็มที ส่วนใหญ่ใช้เวลาไปในการรับแขกเกือบทั้งสิ้น

เวลา 11.00 - 12.00 น. ฉันเพล เมื่อเสร็จแล้ว ก็กลับมานั่งหน้ากุฏิเพื่อรับแขก ซึ่งมักจะมีมากันมากหน้าหลายตาในตอนนี้ เพราะเป็นแขกที่มาจากต่างท้องที่ หรือจังหวัดไกล ๆ ต้องเสียเวลาเดินทางมา ตอนเย็นราว 19.00 น. หลังจากสรงน้ำ ซึ่งเป็นเวลาพลบค่ำ ท่านก็จะหาโอกาสสั่งสอนพระภิกษุ หรือชาวบ้านไปจนถึง 22.00 - 23.00 น. จึงจะขึ้นกุฏิเพื่อเตรียมตัวจำวัด แต่ก่อนจำวัด ท่านจะต้องเข้าห้องพระ บูชาพระรัตนตรัยแล้วเข้ากลด ซึ่งทำเป็นลักษณะคล้ายกับของภิกษุซึ่งออกธุดงค์ ข้าง ๆ กลดมีรูปกะโหลกศีรษะ และโครงกระดูกคน เข้าใจว่าสำหรับใช้ปลงกัมมัฏฐาน

กิจวัตรของหลวงพ่อเงินที่กล่าวข้างต้น แตกต่างกันมากมายระหว่างฤดูเข้าพรรษากับฤดูออกพรรษา เพราะในตอนเข้าพรรษามีพระบวชใหม่มาก มีชาวบ้านมาวัดมาก ประกอบกับงานนิมนต์ต่างท้องที่นอกวัด ก็ลดน้อยลง หลวงพ่อเงินจึงมีเวลาอยู่วัดมากขึ้น หลวงพ่อเงินได้ใช้เวลาเหล่านี้ ในการฝึกสอนอบรมพระลูกศิษย์วัด ตลอดจนชาวบ้าน โดยเฉพาะอุบาสกอุบาสิกา ที่มารักษาอุโบสถศีลในวันพระ โดยปกติ การลงอุโบสถในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ หลวงพ่อเงินไม่ยอมขาดเลย สำหรับวันพระ 15 ค่ำ หลวงพ่อจะต้องพยายามลงให้ได้ แม้จะเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย หลวงพ่อเงินก็ไม่ยอมเสียโอกาส

ผู้ที่อยากจะสนทนากับหลวงพ่อเงินนาน ๆ ก็จะต้องหาทางให้ท่านบรรยายธรรมะ เพราะหลวงพ่อเงินสนใจจะพูดคุยด้วย ยิ่งกว่าการคุยเรื่องอื่น บ่อยครั้งที่ลูกศิษย์ลูกหา ต้องนั่งฟังหลวงพ่อเงินคุยเรื่องธรรมะ ธรรมโม อยู่จนตีหนึ่ง ตีสอง โดยไม่รู้สึกง่วง เพราะหลวงพ่อเงินเข้าใจหาเรื่องมาสอน และถูกรสนิยมผู้ฟังด้วย หลวงพ่อเงินถือคติว่า “พระก็เหมือนเนื้อนา ถ้าไม่ดีก็ไม่มีใครเขาหว่านพืชผลลงไป เพราะรังแต่จะสูญเปล่า ไม่ได้ผลกลับคืน” โดยเหตุนี้ ท่านจึงวางกฎสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ในวัด ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติไว้เคร่งครัด เป็นต้นว่า ถ้าไม่มีกิจจำเป็นจริง ๆ แล้ว พระภิกษุทุกองค์จะต้องทำวัตรเช้าเย็น ไม่ว่าจะเป็นออกพรรษาหรือในพรรษา และพระภิกษุต้องตื่นก่อนรุ่งอรุณ คือวัดจะตีระฆังปลุกราว 5.00 น. เมื่อตื่นแล้วต้องครองผ้า สวดมนต์ในห้องเสียก่อนที่จะเปลี่ยนผ้าครองออกไปบิณฑบาต

พระภิกษุในวัดจะต้องมาฉันเพล ฉันจังหันรวมกัน ณ หอฉัน เมื่อฉันเช้าเสร็จแล้ว จะพักผ่อนหรือท่องหนังสือก็สุดแต่ใจสมัคร เมื่อฉันเพลแล้ว ถ้าเป็นในฤดูในพรรษา จะต้องขึ้นเรียนพระปริยัติธรรมราว 3 ช.ม. เสร็จจากการเรียนก็สรงน้ำแล้ว พักผ่อนเตรียมตัวทำวัตรเย็น หลังจากการทำวัตรเย็น หลวงพ่อเงินใช้วิธีฝึกฝนพระภิกษุ ด้วยการให้ฟังเทศน์ โดยพระทุกองค์ผลัดกันแสดง วันละองค์หมุนเวียนไปตามลำดับอาวุโส ถ้าเป็นวันธรรมสวนะด้วยแล้ว ก็จะมีพระภิกษุอาวุโสแสดงปาฏิโมกข์ หลังจากนั้น หลวงพ่อก็จะอบรมข้อปฏิบัติต่าง ๆ บางครั้งต้องอยู่ในอุโบสถ เพื่อฟังโอวาทของท่านถึง 21.00 - 22.00 น. พระภิกษุต้องนั่งพับเพียบเมื่อยแล้วเมื่อยอีก แต่หลวงพ่อเงิน ไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้ปรากฏ

ถ้าเป็นวันธรรมดา เมื่อเสร็จจากการทำวัตรแล้ว พระภิกษุสงฆ์ก็จะต้องไปพร้อมกันที่หน้ากุฏิ เพื่อรับฟังโอวาทหรือการอบรมข้อปฏิบัติต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติภายในวัด มีบ่อย ๆ ที่หลวงพ่อเงินก็ไม่ย่อท้อ คงรักษาวัตรปฏิบัติตามปกติ แต่เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์จะทราบ และขอนิมนต์ว่า จะนวดให้ท่านในระหว่างเวลาที่หลวงพ่อเอนให้นวด หลวงพ่อเงินจะหาเรื่องสนทนา เป็นการอบรมบ่มนิสัยไปด้วยในตัว ผู้ที่หาโอกาสปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อเงิน จึงเป็นผู้ที่มักจะได้รับถ่ายทอดธรรมะ และความรู้ต่าง ๆ จากหลวงพ่อมากกว่าผู้อื่น ตามปกติหลวงพ่อเงิน ถือหลักปกครองวัดเสมือนบิดากับบุตร มีทั้งการให้ปันและเอาใจใส่เมื่อเจ็บไข้ แม้ว่าหลวงพ่อเงินจะฉันจังหันเพียงองค์เดียว แต่หลวงพ่อเงินก็แสดงเมตตาจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยการนำอาหารที่มีผู้มาถวายมาแบ่งปัน เฉลี่ยไปยังพระภิกษุสงฆ์อื่น ๆ ภายในวัดอยู่แทบทุกวัน คราวหนึ่งราว 20 ปีมาแล้ว มีพระภิกษุบวชใหม่ เกิดอาพาธกะทันหันขึ้น ในเวลาค่ำคืน วันนั้นบังเอิญหลวงพ่อเงินรับนิมนต์ไปนอกวัด กว่าจะกลับก็ 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่คนอื่น เข้าห้องนอนกันแล้ว เมื่อหลวงพ่อเงิน ทราบว่ามีพระป่วย หลวงพ่อเงินก็กระวีกระวาด สั่งลูกศิษย์จุดตะเกียงขึ้นหลายดวง (ขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้) แล้วหลวงพ่อเงินก็นำเด็ก ออกตระเวนหาต้นยาสมุนไพรด้วยตนเอง ชาวบ้านใกล้เคียงเห็นแสงตะเกียง เคลื่อนไหวไปมามากผิดปกติ ก็ออกมาสอบถาม ได้ความว่า เด็กวัดกำลังเก็บสมุนไพร ช่วยหลวงพ่อเงิน จนได้ยาครบและถวายพระที่อาพาธในคืนนั้นเอง การปฏิบัติของหลวงพ่อเงินตามที่ยกมากล่าวนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายส่วน ที่ไม่สามารถจะยกมากล่าวได้ หลวงพ่อเงินสนใจในทุกข์สุขของพระภิกษุสงฆ์ในวัด และเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือด้วยความจริงใจ นับได้ว่าท่านมีความเมตตาธรรมประจำใจสูง

ที่มา : http://www.fangdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก