หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ นางวิสาขา มหาอุบาสิกา
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๒. นางวิสาขา มหาอุบาสิกา เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายิกา

นางวิสาขา เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อว่า ธนญชัย มารดาชื่อว่าสุมนาเทวี และปู่ชื่อเมณฑกเศรษฐี ขณะที่เธอมีอายุอยู่ในวัย ๗ ขวบ เป็นที่รักดุจแก้ว ตาดวงใจของเมณฑกะ ผู้เป็นปู่ยิ่งนัก

๗ ขวบบรรลุโสดาบัน
เมื่อเมณฑกเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก กำลัง เสด็จมาสู่เมืองภัททิยะ ท่านเมณฑกเศรษฐี จึงได้มอบหมายให้เด็กหญิงวิสาขา พร้อมด้วยบริวาร ออกไปทำการรับเสด็จ ที่นอกเมือง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่นั้น เด็ก หญิงวิสาขา พร้อมด้วยบริวาร เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่ตน พระพุทธ องค์ทรง แสดงพระธรรมเทศนาให้พวกเธอฟัง เมื่อจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้ง หมด

ส่วนเมณฑกเศรษฐี เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงแล้ว จึงรีบเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรม เทศนา ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์ที่ติดตามเสด็จทั้งหมด เข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่บ้านของตน ตลอดระยะเวลา ๑๕ วันที่ ประทับอยู่ที่ภัททิยนครนั้น

สมัย พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี และพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ มี ความเกี่ยวข้องกัน โดยต่างก็ได้ภคินี (น้องสาว) ของกันและกัน มาเป็นมเหสี แต่เนื่องจากในเมือง สาวัตถีของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ไม่มีเศรษฐีตระกูลใหญ่ ๆ ผู้มีทรัพย์สมบัติมากเลย และได้ ทราบว่าในเมืองราชคฤห์ ของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติขนาดนับไม่ถ้วนอยู่ ถึง ๕ คน

ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วแจ้ง ความประสงค์ที่มาในครั้งนี้ ก็เพื่อขอพระราชทาน ตระกูลเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นี้ ไปอยู่ในเมือง สาวัตถีสักหนึ่งตระกูล

พระเจ้าพิมพิสารได้สดับแล้ว ตรัสตอบว่า “การโยกย้ายตระกูลใหญ่ ๆ เพียงหนึ่งตระกูล ก็ เหมือนกับแผ่นดินทรุด” แต่เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีต่อกันไว้ หลังจากที่ได้ปรึกษากับอำมาตย์ทั้ง หลายแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรยกตระกูลธนญชัยเศรษฐี ให้ไปอยู่เมืองสาวัตถี กับพระเจ้าป เสนทิโกศล

ธนญชัยเศรษฐี ได้ขนย้ายทรัพย์สมบัติ พร้อมทั้งบริวาร และสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย เดินทางสู่ พระนครสาวัตถี พร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และเมื่อเดินทางเข้าเขตแคว้นของ พระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว ขณะที่พักค้างแรมระหว่างทาง ก่อนเข้าเมือง ธนญชัยเศรษฐี เห็นว่าภูมิ ประเทศบริเวณที่พักนั้น เป็นชัยภูมิเหมาะสมดี อีกทั้งตนเอง ก็มีบริวารติดตามมาเป็นจำนวนมาก ถ้าไปตั้งบ้านเรือนภายในเมือง ก็จะคับแคบ จึงขออนุญาตพระเจ้าปเสนทิโกศล ก่อตั้งบ้านเมืองลง ณ ที่นั้น และได้ชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “สาเกต” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์

หญิงงามเบญจกัลยาณี
ในเมืองสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า มิคารเศรษฐี มีบุตรชายชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัย สมควรที่จะมีภรรยาได้แล้ว บิดามารดาขอให้เขาแต่งงาน เพื่อสืบ ทอดวงศ์ตระกูล แต่เขาเองไม่มีความประสงค์จะแต่ง เมื่อบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงหาอุบาย เลี่ยง โดยบอกแก่บิดามารดาว่า ถ้าได้หญิงที่มีความงามครบทั้ง ๕ อย่าง ซึ่งเรียกว่า เบญจกัลยาณี แล้วจึงจะยอมแต่งงาน

เบญจกัลยาณี ความงามของสตรี ๕ อย่าง คือ
๑. เกสกลฺยาณํ ผมงาม คือ หญิงที่มีผมยาวถึงสะเอวแล้วปลายผมงอนขึ้น
๒. มงฺสกลฺยาณํ เนื้องาม คือหญิงที่มีริมฝีปากแดงดุจผลตำลึงสุกและเรียบชิดสนิทกันดี
๓. อฏฺฐิกลฺยาณํ กระดูกงาม คือหญิงที่มีฟันสีขาวประดุจสังข์ และเรียบเสมอกัน
๔. ฉวิกลฺยาณํ ผิวงาม คือหญิงที่มีผิวงามละเอียด ถ้าดำก็ดำดังดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวดัง ดอกกรรณิกา
๕. วยกลฺยาณํ วัยงาม คือ หญิงที่แม้จะคลอดบุตรถึง ๑๐ ครั้ง ก็ยังคงสภาพร่างกายสาวสวยดุจ คลอดครั้งเดียว

บิดามารดาเมื่อได้ฟังแล้ว จึงให้เชิญพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในด้านอิตถีลักษณะ มาถามว่า หญิงผู้มีความงามดังกล่าวนี้ มีหรือไม่ เมื่อพวกพราหมณ์ตอบว่ามี จึงส่งพราหมณ์เหล่านั้น ออก เที่ยวแสวงหาตามเมืองต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบพวงมาลัย และเครื่องทองหมั้นไปด้วย

ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม
พวกพราหมณ์เที่ยวแสวงหา ไปตามเมืองต่าง ๆ ทั้งเมืองเล็ก เมืองใหญ่ จนมาถึงเมือง สาเกต ได้พบนางวิสาขา มีลักษณะภายนอกถูกต้องตามตำราอิตถีลักษณะ ครบทุกประการ ขณะ ที่นาง พร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ ขณะนั้น ฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิง บริวารทั้งหลาย พากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขา ยังคงเดินด้วยอาการปกติ ทำ ให้พวกพราหมณ์ทั้งหลาย รู้สึกแปลกใจ ประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางด้วย จึง ถามนางว่า “ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนกับหญิงอื่น ๆ” นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวก เมื่อวิ่งจะดูไม่งาม ได้แก่

๑. พระราชา ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ
๒. บรรพชิต ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์
๓. สตรี ผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลาย นอกจากจะดูไม่งานแล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจน เสียโฉม หรือพิการ จะทำให้เสื่อมเสียและหมดคุณค่า
๔. ช้างมงคล ตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง

พวกพราหมณ์ ได้เห็นปัญญาอันชาญฉลาด และคุณสมบัติ เบญจกัลยาณี ครบทุกประการ แล้ว จึงขอให้นางพาไปที่บ้าน เพื่อทำการสู่ขอต่อพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อสอบถามถึงชาติตระกูล และทรัพย์สมบัติ ก็ทราบว่า มีเสมอกัน จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาขา เป็นการหมั้นหมาย และกำหนดวันวิวาหมงคล

ธนญชัยเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทอง ทำเครื่องประดับ ชื่อ มหาลดาปสาธน์ เพื่อมอบให้แก่ ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกัน ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ประดับ ด้วยเงินทองและรัตน อันมีค่าถึง ๙ โกฏิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่ หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้ เพราะมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ ธนญชัยเศรษฐี ยังได้มอบ ทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวาร และฝูงโคอีกจำนวนมากมายมหศาล อีกทั้ง ส่งกุฏุมพี ผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษา ดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย

ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาว
ก่อนที่นางวิสาขา จะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญชัยเศรษฐีได้อบรมมารยาท สมบัติของกุลสตรี ผู้จะไปสู่ตระกูลของสามี โดยให้โอวาท ๑๐ ประการ เป็นแนวปฏิบัติ คือ

โอวาทข้อที่ ๑ ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดี ของพ่อผัวแม่ผัว และสามี ออกไปพูดให้คนภายนอกฟัง
โอวาทข้อที่ ๒ ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอก ตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง
โอวาทข้อที่ ๓ ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้ว แล้วนำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้ แก่คนที่ยืมของไปแล้ว แล้วไม่นำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้ และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตร ผู้ยากจนมาขอความช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้ว จะให้คืนหรือไม่ให้คืน ก็ควรให้
โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางพ่อผัว แม่ผัวและสามี
โอวาทข้อที่ ๗ พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่ควรนอนก่อนพ่อผัวแม่ผัวและสามี
โอวาทข้อที่ ๘ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อผัว แม่ผัวและสามี บริโภคแล้ว ตนจึงบริโภคภายหลัง
โอวาทข้อที่ ๙ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัวและสามี เป็นเหมืองกองไฟ และพญานาค ที่จะต้องบำรุงดูแล
โอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสอมว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมือนเทวดา ที่จะต้องให้ความนอบน้อม

อานิสงส์ของการทำบุญแล้วแถม
ธนญชัยเศรษฐี ให้เวลาถึง ๔ เดือนในการเตรียมทรัพย์สมบัติ เพื่อมอบให้แก่นางวิสาขา สำหรับใช้สอย เมื่อไปอยู่ในตระกูลของสามี เฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ เพียงอย่างเดียว ก็ใช้เวลาทำถึง ๔ เดือน เช่นกัน เมื่อถึงกำหนด นางวิสาขาได้ออกเดินทางไปยังตระกูลของสามี พร้อมด้วยข้าทาสบริวาร ทรัพย์สินเงินทอง ของใช้อเนกอนันต์ และโคกระบืออีกมากมายมหาศาล ที่บิดาจัดการมอบให้

แม้กระนั้น โคกระบือที่อยู่ในคอก ยังทำลายคอกวิ่งออกตามขบวน ของนางวิสาขาไปอีก จำนวนมาก ทั้งนี้ ด้วยอานิสงส์แห่งการทำบุญ ถวายทานที่นางทำไว้ในอดีตชาติ คือ ในครั้งที่นาง วิสาขา เดิมเป็นธิดาของพระเจ้ากิกิ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางได้ถวายอาหาร แก่ พระภิกษุสามเณรเป็นประจำ และทั้ง ๆ ที่พระภิกษุสามเณรกล่าวว่า “พอแล้ว ๆ” ก็ยังตรัสว่า “พระคุณเจ้าสิ่งนี้อร่อย สิ่งนี้น่าฉัน” แล้วก็ถวายเพิ่มขึ้นอีก ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายเพิ่มนี้ บันดาลให้โคเหล่านั้น แม้จะมีคนห้ามมีคอกกั้นอยู่ ก็ยังโดดออกจากคอก วิ่งตามขบวนของนาง วิสาขาไปอีกจำนวนมาก

นางวิสาขาตำหนิพ่อผัว
เมื่อนางวิสาขา เข้ามาสู่ตระกุลของสามีแล้ว เพราะความที่เป็นผู้ได้รับการอบรมสั่งสอน เป็นอย่างดี ตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีน้ำใจเจรจาไพเราะ ให้ความเคารพผู้ ที่มีวัยสูงกว่าตน จึงเป็นที่รักใคร่ และชอบใจของคนทั่วไป ยกเว้นมิคารเศรษฐีของสามี ซึ่งมีจิต ฝักใฝ่ในนักบวชอเจลกชีเปลือย โดยให้ความเคารพ นับถือว่าเป็นพระอรหันต์ และนิมนต์ให้มา บริโภคโภชนาหาร ที่บ้านของตนแล้ว สั่งให้คนไปตามนางวิสาขา มาไหว้พระอรหันต์ และให้มา ช่วยจัดเลี้ยงอาหาร แก่อเจลกชีเปลือยเหล่านั้นด้วย

นางวิสาขา ผู้เป็นพระอริยสาวิกาชั้นโสดาบัน พอได้ยินคำว่า อรหันต์ ก็รู้สึกปีติยินดี รีบ มายังเรือนของมิคารเศรษฐี แต่พอได้เห็นอเจลกชีเปลือย ก็ตกใจจึงกล่าวว่า “ผู้ไม่มีความละอาย เหล่านี้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้” พร้อมทั้งกล่าวติเตียนมิคารเศรษฐี แล้วกลับที่อยู่ของตน

ต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขาคอย ปรนนิบัติอยู่ใกล้ ๆ ได้มีพระเถระเที่ยวบิณฑบาต ผ่านมาหยุดยืนที่หน้าบ้านของมิคารเศรษฐี

นางวิสาขาทราบดีว่า เศรษฐีแม้จะเห็นพระเถระแล้ว ก็ทำเป็นไม่เห็น นางจึงกล่าวกับพระเถระว่า “นิมนต์พระคุณเจ้า ไปข้างหน้าก่อนเถิด ท่านเศรษฐีกำลังบริโภคของเก่าอยู่”

เศรษฐี ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงโกรธเป็นที่สุด หยุดบริโภคอาหารทันที แล้วสั่งให้บริวารมา จับ และขับไล่นางวิสาขาให้ออกจากบ้านไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับ นางวิสาขาขอชี้แจงแก่ กุฎุมพี ๘ นาย ที่คุณพ่อได้ส่งมาช่วยดูแลนางก่อน และเมื่อมิคารเศรษฐี ให้คนไปเชิญกุฎุมพีมาแล้ว แจ้งโทษของนางวิสาขาให้ฟัง ซึ่งนางก็แก้ด้วยคำว่า “ที่ดิฉันกล่าวอย่างนั้น หมายถึง มิคารเศรษฐี บิดาของสามี กำลังบริโภคบุญเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่าอย่างที่เข้าใจ” กุฎุมพีทั้ง ๘ จึงกล่าว กับเศรษฐีว่า “เรื่องนี้นางวิสาขาไม่มีความผิด”

พ่อผัวยกย่องนางวิสาขาในฐานะมารดา
เมื่อมิคารเศรษฐี ฟังคำชี้แจงของลูกสะใภ้แล้ว ก็หายโกรธขัดเคือง และกล่าวขอโทษนาง พร้อมทั้งอนุญาต ให้นางนิมนต์พระบรมศาสดา พร้อมภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาตในเรือน ของตน ขณะที่นางวิสาขาจัดถวายภัตตาหาร แด่พระบรมศาสดาและภิกษุสงฆ์อยู่นั้น ก็ได้ให้คน ไปเชิญมิคารเศรษฐีมา ร่วมถวายภัตตาหารด้วย

แต่เศรษฐีเมื่อมาแล้ว ไม่กล้าที่ออกไปสู่ที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เพราะไม่มีศรัทธาเลื่อมใส จึงแอบนั่งอยู่หลังม่าน เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วพระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนมิคารเศรษฐีแม้จะหลบอยู่หลังม่านก็มีโอกาสได้ฟังธรรมด้วยจนจบ และได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล ในพุทธศาสนา เป็นสัมมาทิฎฐิบุคคล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทันใดนั้น มิคารเศรษฐีได้ออกมาจากหลังม่าน แล้วตรงเข้าไปหานางวิสาขา ใช้ปากดูดถัน ของลูกสะใภ้ และประกาศให้ได้ยินทั่วกัน ณ ที่นั้นว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอเธอจงเป็นมารดา ของข้าพเจ้า” และตั้งแต่นั้นมานางวิสาขา ก็ได้นามว่า “มิคารมารดา” คนทั่วไปนิยมเรียกนางว่า “วิสาขามิคารมารดา

คุณสมบัติพิเศษประจำตัวนางวิสาขา
ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมา ตั้งแต่อดีตชาติมากเป็น พิเศษ กว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ หลายประการ เช่น
๑. ลักษณะของผู้มีวัยงาม คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-หญิง ถึง ๒๐ คน ลูก เหล่านั้น แต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางก็มีหลานนับได้ ๔๐๐ คน หลานเหล่านั้น แต่งงานมี ลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ ๘๐๐๐ คน ดังนั้น คนจำนวน ๘๔๒๐ คน มีต้น กำเนิดมาจากนางวิสาขา นางมีอายุยืนได้เห็นหลาน ได้เห็นเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง ๑๒๐ ปี

แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน เหลน นางจะมีลักษณะวัย ใกล้เคียงกับคนเหล่านั้น คนพวกอื่น จะไม่สามารถทราบได้ว่านางวิสาขา คือคนไหน แต่จะสังเกตได้ เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาว จะลุกได้ทันที แต่สำหรับคนแก่ จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยก ก้นขึ้นก่อน นั่นแหละจึงจะทราบว่านางวิสาขา คือคนไหน

๒. นางมีกำลังมาก เท่ากับช้าง ๕ เชือกรวมกัน ครั้งหนึ่งพระราชา มีพระประสงค์จะ ทดลองกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างพลาย ตัวที่มีกำลังมาก เพื่อให้วิ่งชนนางวิสาขา นาง เห็นช้างวิ่งตรงเข้ามา จึงคิดว่า “ถ้ารับช้างนี้ด้วยมือข้างเดียว แล้วผลักไป ช้างก็จะเป็นอันตรายถึง ชีวิต เราก็จะเป็นบาป ควรจะรักษาชีวิตช้างไว้จะดีกว่า” นางจึงใช้นิ้วมือเพียงสองนิ้ว จับช้างที่ งวงแล้วเหวี่ยงไป ปรากฏว่าช้างถึงกับล้มกลิ้ง แต่ไม่เป็นอันตราย

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ชนทั้งหลายเมื่อจัดงานมงคลในบ้านเรือนของตน จึงพากันเชิญ นางวิสาขา ให้ไปเป็นประธานในงาน มอบให้นางเป็นผู้นำในพิธีต่าง ๆ แม้แต่อาหาร ก็ให้นางทาน ก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล จนนางวิสาขาไม่มีเวลา ดูแลปฏิบัติพระภิกษุที่มาฉันในบ้านของตน ต้องมอบให้ลูก ๆ หลาน ๆ ดำเนินการให้

นางวิสาขาร้องไห้อาลัยหลาน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารบุพพาราม ซึ่งนางวิสาขาเป็นผู้สร้าง ถวายใกล้กรุงสาวัตถี ขณะนั้นหลานสาวชื่อว่าสุทัตตี ผู้เป็นที่รักเป็นที่พอใจอย่างยิ่งของนาง ได้ถึง แก่กรรมลง ทำให้นางเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้รำพันถึงหลานรัก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทั้ง ๆ ที่กำลังร้องไห้อยู่ด้วย พระพุทธองค์ตรัสถามเหตุแห่งความเศร้า ทรงทราบโดยตลอดแล้ว จึงตรัส ถามว่า
“ดูก่อนวิสาขา ในพระนครสาวัตถีนี้ เธอต้องการบุตรหลานสักกี่คน ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการบุตรหลานในพระนครนี้ทั้งหมด พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนวิสาขา ก็ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละเท่าไร ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละ ๑ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ถึงวัน ละ ๑๐ คนบ้าง พระเจ้าข้า”

“ดูก่อนวิสาขา ถ้าคนเหล่านั้น เป็นบุตรหลานของเธอจริง เธอก็คงมีหน้าเปียกชุ่มด้วยน้ำ ตา โดยไม่มีวันแห้งเหือด วิสาขา คนในโลกนี้ ผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๑๐๐ ผู้ ใดมีสิ่งเป็นที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๕๐ เช่นกัน

“ดูก่อนวิสาขา เราขอบอกเธอว่า ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ที่คนทั้ง หลาย ประสบกันอยู่ในโลกนี้ ก็เพราะอาศัยสัตว์ หรือสังขารอันเป็นที่รัก ถ้าไม่มีสัตว์ หรือสัตว์อัน เป็นที่รักแล้ว ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพันเหล่านั้น ก็ไม่มี ผู้นั้นก็จะมีแต่ความสุข ดังนั้น ผู้ปรารถนาความสุขให้กับตนเอง ก็ไม่ควรทำสัตว์ หรือสังขารให้เป็นที่รัก”

นางวิสาขา เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสตรัสสอนจบลงแล้ว ก็คลายจากความเศร้าโศก แต่ เพราะความที่นางมีลูกหลานหลายคน ซึ่งต่อจากนั้น อีกไม่นานนักหลานสาวอีกคนหนึ่ง ที่นางได้ มอบหมายหน้าที่การปฏิบัติดูแลพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งนิมนต์มาฉันที่บ้านเป็นประจำ ก็ได้ถึงแก่ความ ตายลงอีก นางวิสาขาก็ต้องเสียน้ำตาร่ำไห้ ด้วยความรักความอาลัย ต่อหลานสาวเป็นครั้งที่สอง และพระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาโปรดนาง ให้คลายความเศร้าโศกลงดุจเดียวกับครั้งก่อน

นางวิสาขาสร้างวัด
โดยปกติ นางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า-เย็น และเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ถ้า ไปเวลาเช้า ก็จะมีของเคี้ยวของฉัน เป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะ ไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันดี ทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย แม้นางเอง ก็ไม่กล้าที่จะไปวัดด้วยมือเปล่า ๆ เพราะละอาย ที่พระภิกษุหนุ่ม สามเณรีน้อย ต่างก็จะมองดูที่มือว่า นางถืออะไรมา และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะ เดินเยี่ยมเยือน ถามไถ่ความสุข ความทุกข์ และความประสงค์ของพระภิกษุสามเณร และเยี่ยม ภิกษุไข้จนทั่วถึงทุก ๆ องค์ก่อนแล้วจึงกลับบ้าน

วันหนึ่ง เมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้ ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรม และเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้าน นางได้บอกให้หญิงรับใช้ ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับ ไปนำมา แต่สั่งว่าถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ ก็ไม่ต้องเอาคืนมา ให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะ นางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับ ที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะ เก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกา ลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิด ได้อีกว่า “เครื่องประดับนี้ ไม่มีประโยชน์แก่พระเถระ”

ดังนั้น นางจึงขอรับคืนมา แล้วนำออกขายในราคา ๙ โกฏิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใด มีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้ นางจึงซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์ เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดิน และวัสดุก่อสร้าง ดำเนินการสร้างวัดถวาย เป็นพระอาราม ประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุ สงฆ์สามเณร พระบรมศาสดา รับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาใน การก่อสร้างถึง ๙ เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นามว่า “พระวิหารบุพพาราม

เพราะพระเปลือยกายจึงถวายผ้าอาบน้ำฝน
โดยปกตินางวิสาขา จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มาเสวยและ ฉันภัตตาหาร ที่บ้านของนางเป็นประจำ เมื่อการจัดเตรียมภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยพร้อมแล้ว ก็จะ ให้สาวใช้ไปกราบทูล อาราธนาพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ให้เสด็จไปยังบ้านของนาง

วันหนึ่ง สาวใช้ได้มาตามปกติเหมือนทุกวัน แต่วันนั้นมีฝนตกลงมา พระสงฆ์ทั้งหลาย จึง พากันเปลือยกายอาบน้ำฝน เมื่อสาวใช้มาเห็นเข้าก็ตกใจ เพราะความที่ตนมีปัญญาน้อยคิดว่าเป็น นักบวชชีเปลือย จึงรีบกลับไปแจ้งแก่นางวิสาขาว่า “ข้าแต่แม่เจ้า วันนี้ ที่วัดไม่มีพระอยู่เลย เห็นมีแต่ชีเปลือยแก้ผ้าอาบน้ำ กันอยู่”

นางวิสาขา ได้ฟังคำบอกเล่าของสาวใช้แล้ว ด้วยความที่นางเป็นพระอริยบุคคล ชั้น โสดาบัน เป็นมหาอุบาสิกา เป็นผู้มีปัญญาศรัทธาเลื่อมใส มีความใกล้ชิดกับพระภิกษุสงฆ์ จึง ทราบ เหตุการณ์โดยตลอดว่า พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าสำหรับใช้สอย เพียง ๓ ผืน คือ ผ้าจีวรสำหรับห่ม ผ้าสังฆาฎิสำหรับห่มซ้อน และผ้าสบงสำหรับนุ่ง ดังนั้นเมื่อ เวลาพระภิกษุจะอาบน้ำ จึงไม่มีผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำ ก็จำเป็นต้องเปลือยกายอาบน้ำ

อาศัยเหตุนี้ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับ ที่บ้านและเสร็จภัตกิจแล้ว นางวิสาขา จึง ได้เข้าไปกราบทูลขอพร เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ประทานอนุญาต ตามที่ขอนั้น และนางวิสาขาก็เป็นบุคคลแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์

พระภิกษุคิดว่านางเป็นบ้า
นางวิสาขา ได้ชื่อว่า เป็นมหาอุบาสิกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกา ทะนุบำรุงพระ พุทธศาสนา ด้วยวัตถุจตุปัจจัยไทยทานต่าง ๆ ทั้งที่ถวายเป็นของสงฆ์ส่วนรวม และถวายเป็นของ ส่วนบุคคล คือแก่พระภิกษุแต่ละองค์ ๆ การทำบุญของนาง นับว่าครบถ้วนทุกประการ ตามหลัก บุญกิริยาวัตถุ ดังคำที่นางเปล่งอุทานในวันฉลองวิหาร คือ วัดบุพพาราม ที่นางสร้างถวายนั้นด้วย คำว่า
“ความปรารภนาใด ๆ ที่เราตั้งไว้ในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ทั้งหมดของเราได้ สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการแล้ว

ความปรารถนาเหล่านั้น คือ ๑. ความปรารถนาที่จะสร้างปราสาทฉาบด้วยปูน ถวายเป็นวิหารทาน
๒. ความปรารถนาที่จะถวายเตียง ตั่ง ฟูก หมอน และเสนาสนภัณฑ์
๓. ความปรารถนาที่จะถวายสลากภัตเป็นโภชนาทาน
๔. ความปรารถนาที่จะถวายผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เป็น จีวรทาน
๕. ความปรารถนาที่จะถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน

ความปรารถนาเหล่านั้น ของนางวิสาขาสำเร็จครบถ้วนทุกประการ สร้างความเอิบอิ่มใจ แก่นางยิ่งนัก นางจึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิหารทาน พร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าว

พระภิกษุทั้งหลายได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขาแล้ว ต่างก็รู้สึกประหลาดใจ ไม่ ทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับนาง จึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่ได้พบเห็นและรู้จักนางวิสาขา ก็เป็นเวลานาน พวกข้าพระ องค์ทั้งหลาย ไม่เคยเห็นนางขับร้องเพลง และแสดงอาการอย่างนี้มาก่อนเลย แต่วันนี้ นางอยู่ใน ท่ามกลางการแวดล้อม ของบรรดาบุตรธิดาและหลาน ๆ ได้เดินเวียนรอบปราสาท และบ่นพึมพำ คล้ายกับร้องเพลง เข้าใจว่าดีของนางคงจะกำเริบ หรือไม่นางก็คงจะเสียจริตไปแล้ว หรืออย่างไร พระเจ้าข้า ?”

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเรา มิได้ขับร้องเพลง หรือเสียจริตอย่างที่พวกเธอเข้าใจหรอก แต่ที่ ธิดาของเราเป็นอย่างนั้น ก็เพราะความปีติยินดี ที่ความปรารถนาของตนที่ตั้งไว้นั้น สำเร็จลุล่วง สมบูรณ์ทุกประการ นางจึงเดินเปล่งอุทานออกมา ด้วยความอิ่มเอมใจ”

ด้วยเหตุที่นางวิสาขา ได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ และได้ถวายวัตถุจตุปัจจัยในพระ พุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงประกาศยกย่องนางใน ตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็นทายิกา

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก