หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ นางสามาวดี
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๔. นางสามาวดี เอตทัคคะในฝ่ายผู้อยู่ด้วยเมตตา

นางสามาวดี เป็นธิดาของเศรษฐีนามว่าภัททวดีย์ แห่งเมืองภัททวดีย์ เดิมชื่อว่า “สามา” และบิดาของนางเป็นสหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากันกับโฆสกเศรษฐี แห่งเมืองโกสัมพี

เศรษฐีตกยาก
ครั้นต่อมา เกิดโรคอหิวาต์ ระบาดในเมืองภัททวดีย์ เศรษฐีภัททวดีย์ ต้องพาภรรยาและ ลูกสาวอพยพหนีโรคร้าย ไปยังเมืองโกสัมพี เพื่อขอพักอาศัย กับโฆสกเศรษฐี ผู้เป็นสหาย แต่ บังเอิญโชคร้าย ประสบเคราะห์กรรมซ้ำเข้าอีก คือ เมื่อเดินทาง มาถึงเมืองโกสัมพีแล้ว ด้วยสภาพ ร่างกายที่อดอาหารมาหลายวัน อีกทั้งความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าจากการเดินทางไกล ทำให้ไม่ กล้าไปพบสหาย ด้วยสภาพอย่างนั้น จึงพักอาศัยในศาลาใกล้ ๆ โรงทานของโฆสกเศรษฐีนั้น ตั้ง ใจว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงดีแล้ว จึงจะเข้าไปหาเพื่อน

วันรุ่งขึ้น ให้ลูกสาวเข้าไปรับอาหาร ที่โรงทานของโฆสกเศรษฐี เมื่อได้มาแล้ว ภัททวดีย์ เศรษฐีกับภรรยาบริโภคอาหารเกินพอดี ไฟธาตุไม่สามารถจะย่อยได้ จึงถึงแก่ความตายทั้งสอง คน เหลือแต่นางสามา เป็นกำพร้าพ่อแม่อยู่แต่ผู้เดียว

ได้นามว่าสามาวดี
ต่อมา โฆสกเศรษฐีได้พบนางสามา ได้ทราบประวัติความเป็นมาของนาง โดยตลอดแล้ว เกิดความรักความสงสาร จึงรับนางไว้เลี้ยงดูดุจลูกสาวแท้ ๆ ของตน และยกนางไว้ในฐานะธิดา คนโต อีกทั้งได้มอบหญิงบริวารให้อีก ๕๐๐ คน

ตามปกติ ที่บ้านของโฆสกเศรษฐี เมื่อเวลาแจกทาน จะมีเสียงเซ็งแซ่จากการยื้อแย่ง ของผู้ มาขอรับแจกทาน ท่านเศรษฐีก็ฟังทุกวนจนเคยชิน แต่เมื่อนางสามาเข้ามาอยู่ในบ้านของท่าน เศรษฐีแล้ว เห็นความไม่เรียบร้อยดังกล่าว จึงคิดหาทางแก้ไข นางจึงให้คนทำรั้ว มีประตูทางเข้า และประตูทางออก ให้ทุกคนเรียงแถว ตามลำดับ เข้ารับแจกทาน ทุกอย่างก็เรียบร้อยไม่มีเสียง เซ็งแซ่เหมือนแต่ก่อน โฆสกเศรษฐีพอใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวยกย่องชมเชยในความฉลาดของนาง เป็นอันมาก หลังจากนั้น นางจึงได้ชื่อว่า “สามาวดี” (วดี = รั้ว) และต่อจากนั้น ไม่นาน นางก็ได้ รับการอภิเษกเป็นอัครมเหสี ของพระเจ้าอุเทน แห่งเมืองโกสัมพีนั้น

นางสามาวดีบรรลุโสดาปัตติผล
ในบรรดาหญิงบริวารของนางสามาวดี ๕๐๐ คนนั้น หญิงคนหนึ่ง ชื่อนางขุชชุตตรา รับ หน้าที่จัดซื้อดอกไม้ มาให้นางสามาวดีทุกวัน ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่นางไปซื้อดอกไม้ ตามปกตินั้น ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนา จากพระบรมศาสดา ในบ้านของนายสุมนมาลาการ ผู้ขายดอกไม้ จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อนำดอกไปให้นางสามาวดีแล้ว ได้แสดงธรรมที่ตนฟังมานั้นแก่ นางสามาวดี พร้อมทั้งหญิงบริวาร จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด

ต่อจากนั้น นางสามาวดี พร้อมด้วยบริวาร มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย พากันสนใจในการฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และสมาทานรักษาศีลอุโบสถป็นประจำ

ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าอุเทน ได้พระนางวาสุลทัตตา พระราชธิดาของ พระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี มาอภิเษกเป็นมเหสีองค์ที่สอง และได้นางมาคันทิยา สาว งามแห่งแคว้นกุรุ มาอภิเษกเป็นมเหสีองค์ที่สาม และด้วยความงามเป็นเลิศ ทำให้ พระเจ้าอุเทนทรงสิเนหา นางมาคันทิยายิ่งนัก ได้พระราชทานหญิงบริวาร ๕๐๐ คนไว้คอยรับใช้นาง

นางมาคันทิยาผูกอาฆาตพระศาสดา
ก่อนที่นางมาคันทิยา จะได้รับการอภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนนั้น เดิมทีนางเป็น ธิดาของเศรษฐีในแคว้นกุรุ เนื่องจากนางมีรูปงาม ดุจนางเทพอัปสร จึงมีเศรษฐี คฤหบดี ตลอด จนพระราชา จากเมืองต่าง ๆ ส่งสารมาสู่ขอมากมาย แต่บิดามารดาของนางก็ปฏิเสธทั้งหมด ด้วย คำว่า “พวกท่านไม่คู่ควรแก่ธิดาของเรา” นางจึงครองความเป็นโสดเรื่อยมา

พระบรมศาสดา ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัต ของสองสามีภรรยา จึงเสด็จมายังแคว้น กุรุ ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของนาง ออกไปธุระนอกบ้าน พบพระศาสดาในที่ไม่ไกลจากบ้าน ของตนนัก เห็นพระลักษณะถูกตาต้องใจ และคิดว่า “บุรุษผู้นี้แหละคู่ควรกับลูกสาวของเรา” พราหมณ์จึงเข้าไป กราบทูลพระบรมศาสดาให้คอยอยู่ตรงนี้ก่อน ตนจะกลับไปบอกนาง พราหมณีภรรยา และนำลูกสาวมายกให้ จากนั้นก็รีบกลับไปบ้าน แจ้งแก่ภรรยาว่าพบชายผู้คู่ควร กับลูกสาวแล้ว ขอให้รีบแต่งตัวลูกสาว แล้วพาออกไปโดยด่วน

พราหมณีทำนายลักษณะรอยเท้า
ฝ่ายพระบรมศาสดา มิได้ประทับอยู่ตรงที่เดิม แต่ได้อธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ แล้วเสด็จไปประทับในที่ไม่ไกลจากที่นั้น สองสามีภรรยาพร้อมด้วยลูกสาวมาคันทิยา มาถึงที่ นั้น ไม่เห็นพระพุทธองค์ในที่นั้น ก็มองหาจนพบรอยพระบาท พราหมณ์ผู้สามีจึงกล่าวว่า “นี่ แหละ คือรอยเท้าของชายคนนั้น” เนื่องจากนางพราหมณี ผู้ภรรยามีความเชียวชาญเรื่องมนต์ ทำนายลักษณะฝ่าเท้า จึงบอกแก่สามีว่า
รอยเท้านี้ มิใช่รอยเท้าของคนเสพกามคุณ เพราะธรรมดารอยเท้าของคนที่มีราคะ จะมี รอยเท้ากระหย่ง คือเว้าตรงกลาง คนที่มีโทสะ รอยเท้าจะหนักส้น คนที่มีโมหะ รอยเท้าจะหนัก ที่ส่วนปลาย แต่รอยเท้านี้ เป็นรอยเท้าของคนไม่มีกิเลส ดังนั้น เจ้าของรอยเท้านี้จะไม่มีความยินดี ในกามคุณ

ฝ่ายพราหมณ์ผู้สามี ไม่เชื่อคำนำนายของภรรยา พยายามมองหา จนพบพระบรมศาสดา แล้วกล่าวกับภรรยาว่า “ชายคนนี้แหละ เป็นเจ้าของรอยเท้านั้น เป็นผู้ที่คู่ควรกับลูกสาวของเรา” แล้วเข้าไปกราบทูลว่า:- “ท่านสมณะ ข้าพเจ้าจะยกธิดาให้เป็นคู่ชีวิตแก่ท่าน”

พระผู้มีพระภาค ตรัสห้ามแล้ว ตรัสต่อไปว่า:-
“ดูก่อนท่านพราหมณ์ เมื่อตถาคตตรัสรู้ใหม่ ๆ ธิดามาร ๓ คน ซึ่งมีร่างกายเป็นทิพย์ สวย งามกว่าลูกสาวของท่านหลายเท่านัก มาประเล้าประโลมเรา ที่โคนต้นอชปาลนิโครธ เรายังไม่ สนใจไม่พอใจ เหตุไฉนจะมาพอใจยินดีในลูกสาวของท่าน ที่ร่างกายเต็มไปด้วยมูตร และกรีส (ปัสสาวะและอุจจาระ) ถ้าเท้าของเราเปื้อนฝุ่นธุลีมา และลูกสาวของท่าน เป็นผ้าเช็ดเท้า เรายังไม่ ปรารถนาจะถูกต้องลูกสาวของท่าน แม้ด้วยเท้าเลย”

เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดสองสามีภรรยา จนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี แล้วกราบทูลขออุปสมบทปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสองท่าน

ฝ่ายนางมาคันทิยา ได้ยินพระดำรัสของพระศาสดาโดยตลอด รู้สึกโกรธ ที่พระพุทธองค์ ตำหนิประณาม ว่าร่างกายของนางเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ ไม่ปรารถนาจะสัมผัสถูกต้อง แม้ ด้วยเท้า จึงผูกอาฆาต จองเวรต่อพระศาสดา เมื่อบิดามารดาออกบวชหมดแล้ว นางจึงได้ไปอยู่ อาศัยกับน้องชาย ของบิดาผู้เป็นอา ต่อมาอาของนางคิดว่าหลานสาว ผู้มีความงามเป็นเลิศอย่างนี้ ย่อมคู่ควรแก่พระราชาเท่านั้น จึงนำไปถวายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน

จ้างนักเลงด่าพระพุทธองค์
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จมายังเมืองโกสัมพี มีพระอานนท์เถระตามเสด็จมาด้วย พระนางมาคันทิยา ได้โอกาส จึงว่าจ้างทาส กรรรมกร และนักเลง พวกมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่เลื่อมใส ในพระรัตนตรัย ให้ติดตามด่าพระพุทธองค์ ไปในทุกหนทุกแห่ง ทั่วทั้งเมือง ด้วยคำด่า ๑๐ ประการ คือ เจ้าเป็นโจร เป็นคนพาล เป็นคนบ้า เป็นอูฐ เป็นลา เป็นวัว เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์ ดิรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้ามีแต่ทุคติอย่างเดียว

พระอานนท์เถระได้ฟังแล้ว สุดที่จะทนไหว จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองอื่น พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า:- “อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าทำอย่างนั้น เราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้น อธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ ใด ก็ควรให้อธิกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป”

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า:- “ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วย่อมไม่เกิน ๗ วัน ก็ จะสงบระงับไปเอง”

นางสามาวดีถูกใส่ความเรื่องไก่
พระนางมาคันทิยา เมื่อไม่สามารถจะทำให้พระพุทธองค์อับอาย จนหนีไปยังเมืองอื่นได้ ก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดอุบายใส่ความแก่พระนางสามาวดีและบริวาร ผู้มีศรัทธาในพระพุทธ องค์ โดยส่งข่าวไปบอกแก่อาของตน ขอให้ส่งไก่เป็น ที่ยังมีชีวิตมาให้ ๘ ตัว และไก่ตายอีก ๘ ตัว เมื่อได้ไก่มาตามต้องการแล้ว จึงเข้ากราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า:-
“ข้าแต่สมมติเทพ ท่านปุโรหิตส่งไก่มาเป็นบรรณาการ แด่พระองค์ เพคะ”
“ผู้ใด มีความชำนาญ ในการแกงอ่อมไก่บ้าง ?” พระราชาตรัสถาม
“พระนางสามาวดีกับหญิงบริวาร เพคะ” พระนางมาคันทิยา กราบทูล

จึงรับสั่งให้ส่งไก่ไปให้พระนางสามาวดี เพื่อจัดการแกงมาถวาย พระนางมาคันทิยา ส่ง ไก่เป็นไปให้ ส่วนพระนางสามาวดีเห็นว่า ไก่ยังมีชีวิตอยู่จึงไม่ทำถวาย เพราะว่าตนสมาทานศีล ๘ ย่อม ไม่ฆ่าสัตว์ จึงส่งไก่กลับคืนไปพระนางมาคันทิยา ได้กราบทูล แนะนำต่อพระสวามีอีกว่า:- “ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงรับสั่ง ให้ส่งไก่ไปใหม่ พร้อมทั้งบอกว่าให้แกงไปถวายแก่ พระสมณโคดม”

พระราชา ทรงกระทำตามที่พระนางแนะนำ แต่พระนางมาคันทิยาได้เปลี่ยนเอาไก่ที่ตาย แล้วส่งไปให้ พระนางสามาวดีเห็นว่าเป็นไก่ที่ตายแล้ว และเป็นการแกงเพื่อนำไปถวาย พระสมณโคดม จึงช่วยกันรีบจัดการแกงไปถวายด้วยความปีติและศรัทธา

พระนางมาคันทิยา รู้สึกดีใจที่เหตุการณ์เป็นไปตามแผน จึงกราบทูลยุยงว่า การกระทำ ของพระนางสามาวดี ไม่น่าไว้วางใจดูประหนึ่งว่า เอาใจออกห่างพระองค์ ปันใจให้พระสมณโคดม เวลาใช้ให้แกงมาถวายพระองค์ก็ไม่ทำ แต่พอบอกให้แกงไปถวายพระสมณโคดม กลับทำให้ อย่างรีบด่วน

พระเจ้าอุเทน ได้สดับคำของพระนางมาคันทิยา แล้วทรงอดกลั้นนิ่งเฉยไว้อยู่ จนกระทั่ง พระนางมาคันทิยา ต้องคิดหาอุบายร้ายด้วยวิธีอื่นต่อไป

ถูกใส่ความเรื่องงู
ตามปกติ พระเจ้าอุเทน จะเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระมเหสีทั้ง ๓ คือ พระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และ พระนางมาคันทิยา ตามวาระแห่งละ ๗ วัน ครั้นอีก ๒-๓ วัน จะถึงวาระเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยา ได้วาง แผนส่งข่าวไปถึงอา ให้ส่งงูพิษ ที่ถอนเขี้ยวพิษออกแล้ว มาให้นางโดยด่วน เมื่อได้มาแล้ว จึงใส่งู เข้าไปในช่องพิณ ซึ่งพระเจ้าอุเทนทรงเล่น และนำติดพระองค์เป็นประจำ แล้วนำช่อดอกไม้ปิดช่อง พิณไว้

ก่อนที่พระเจ้าอุเทน จะเสด็จไปยังปราสาทของพระนางสามาวดีนั้น พระนางมาคันทิยา ได้ ทำทีเป็นกราบทูลทัดทานว่า “ขอพระองค์ อย่าเสด็จไปเลย เพราะว่าเมื่อคืนนี้ หม่อมฉันฝันไม่เป็น มงคล เกรงว่าพระองค์จะได้รับอันตราย” เมื่อพระราชาไม่เชื่อคำทัดทาน จึงขอติดตามเสด็จไป ด้วย ขณะที่พระนางสามาวดีและหญิงบริวาร ปรนนิบัติพระเจ้าอุเทนอยู่ และทรงวางพิณไว้บน พระแท่นบรรทมนั้น พระนางมาคันทิยา ก็ทำเป็นเดินไปเดินมาใกล้ ๆ บริเวณนั้น เมื่อไม่มีใคร สังเกตเห็น จึงดึงช่อดอกไม้ที่ปิดช่องพิณออก และงูที่อดอาหารมาหลายวัน ได้เลื้อยออกมาพ่นพิษ แผ่พังพาน พระราชาทอดพระเนตรเห็นงู ก็ตกพระทัยกลัวมรณภัยจะมาถึง จึงด่าตวาดพระนางสา มาวดีที่คิดปลงพระชนม์ และตำหนิพระองค์เอง ที่ไม่เชื่อคำทัดท่านของพระนางมาคันทิยา ด้วย เพลิงแห่งความโกรธ จึงตัดสินพระทัยประหารชีวิตพระนางสามาวดี และหญิงบริวารด้วยพระองค์เอง

อานุภาพแห่งเมตตาธรรม
พระเจ้าอุเทน ทรงยกคันธนูประจำพระองค์ ขึ้นสายแล้วพาดลูกศรอาบยาพิษ โก่งคันธนูเล็ง เป้าไปที่พระอุระของพระนางสามาวดี ซึ่งประทับอยู่ข้างหน้า แห่งหญิงบริวาร ก่อนที่ลูกศรจะ แล่นออกจากคันธนูนั้น พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงบริวารว่า:-
“แม่หญิงสหายทั้งหลาย ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เธอทั้งหลาย จงเจริญเมตตาจิตให้สม่ำเสมอ ส่งไปให้แก่พระราชา แก่พระเทวีมาคันทิยา และแก่ตนเอง อย่าถือโทษโกรธต่อใคร ๆ เลย”

ครั้นให้โอวาทจบลง หญิงเหล่านั้นก็ปฏิบัติตาม เมื่อพระราชาปล่อยลูกศรออกไป แทน ที่ลูกศรจะพุ่งเข้าสู่พระอุระพระนางสามาวดี แต่หวนกลับพุ่งเข้าหาพระอุระของพระองค์เสียอง จึงสะดุ้งตกพระทัยพลางดำริว่า:-
“ธรรมดาลูกศรนี้ ย่อมแทงทะลุแม้กระทั่งแผ่นหิน บัดนี้ สิ่งที่เป็นวัตถุที่จะกระทบใน อากาศก็ไม่มี เหตุใดลูกศรจึงหวนกลับเข้าหาเรา ลูกศรนี้แม้จะไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ก็ยังรู้จักคุณของ พระนางสามาวดี เราเสียอีกแม้เป็นมนุษย์กลับไม่รู้คุณของพระนาง”

ทันใดนั้น ท้าวเธอทิ้งคันธนูแล้วประนมหัตถ์ ประคองอัญชลี กราบที่พระบาทของพระ นางสามาวดี อ้อนวอนให้พระนางยกโทษให้ และขอถึงพระนางเป็นที่พึ่งตลอดไป พระนางสามาวดีกราบทูลให้พระราชา ทรงถึงพระบรมศาสดาเป็นสรณะที่พึ่ง เหมือนอย่างที่นาง กระทำอยู่ ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าอุเทนทรงมีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ทรงรักษาศีลฟังธรรม ร่วมกับพระนางสามาวดีตามกาลเวลา และโอกาสอันสมควร

พระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็นพร้อมหญิงสหาย
ความจริงแล้ว พระนางมาคันทิยา มีความโกรธแค้นต่อพระบรมศาสดา ที่ทรงประณาม ว่า “นางมีร่างกายเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ ไม่ปรารถนาจะสัมผัสแม้ด้วยเท้า” และนางก็ได้ ชำระความแค้น ด้วยการว่าจ้างนักเลง ให้ตามด่าพระพุทธองค์ไปส่วนหนึ่งแล้ว ในส่วนของพระ นางสามาวดีนั้น ที่นางต้องโกรธแค้นด้วย ก็เพราะสาเหตุหนึ่งเป็นพระมเหสีคู่แข่ง แต่ที่สำคัญก็ คือพระนางมีศรัทธาในพระสมณโคดม

เมื่อแผนการทำลายพระนางสามาวดี ที่ทำไปหลายครั้งแล้วนั้น ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ครั้งหลังสุดยังทำให้พระเจ้าอุเทน พระสวามีไปมีศรัทธาเลื่อมใสในพระสมณโคดมอีกด้วย ยิ่งทำให้พระนางมาคันทิยาเพิ่มความโกรธแค้นยิ่งขึ้นแล้วแผนการอันโหดเหี้ยมของพระนางก็เกิดขึ้น

วันหนึ่งขณะที่พระเจ้าอุเทน เสด็จประพาสราชอุทยาน พระนางมาคันทิยาสั่งคนรับใช้ ให้ เอาผ้าชุบน้ำมัน แล้วนำไปพันที่เสาทุกต้น ในปราสาทของพระนางสามาวดี พูดเกลี้ยกล่อมให้ พระนางและบริวาร เข้าไปรวมอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วจึงลั่นกลอนข้างนอกแล้วจุดไฟเผาพร้อมทั้ง ปราสาท

พระนางสามาวดี ขณะเมื่อไฟกำลังลุกลาม เข้ามาใกล้ตัวอยู่นั้น มีสติมั่นคงไม่หวั่นไหว ให้โอวาทแก่หญิงบริวารทั้ง ๕๐๐ ให้เจริญเมตตาไปยังบุคคลทั่ว ๆ ไปแม้ในพระนางคันทิยา ให้ ทุกคนมีสติ ไม่ประมาท ให้มีจิตตั้งมั่น ในเวทนาปริคคหกัมมัฏฐาน อย่างมั่นคง บางพวกบรรลุ อนาคามิผล ก่อนที่จะถูกไฟเผาผลาญกระทำกาละถึงแก่กรรม ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วย กันทั้งหมด

ชดใช้กรรมเก่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมหัตครองราชย์สมบัติในกรุงพาราณสี ได้ถวายภัตตาหาร แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์เป็นประจำ และนางสามาวดีกับหญิงสหาย ๕๐๐ คน ก็เกิดอยู่ใน พระราชนิเวศน์นั้นด้วย ได้ช่วยทำกิจบำรุงเลี้ยงพระปัจเจกพุทธะทั้ง ๘ นั้น ต่อมาพระปัจเจก พุทธะองค์หนึ่ง ได้ปลีกตัวไปเข้าฌานสมาบัติในดงหญ้าริมแม่น้ำ ส่วนพระราชาได้พาหญิงเหล่า นั้น ไปเล่นน้ำกันทั้งวัน พวกผู้หญิงพออาบน้ำนาน ๆ ก็หนาว จึงพากันขึ้นมา ก่อไฟที่กองหญ้าผิง พอไฟไหม้กองหญ้าหมด ก็เห็นพระปัจเจกพุทธะถูกไฟไหม้ ต่างพากันตกใจ เพราะเป็นพระ ปัจเจกพุทธะของพระราชา ด้วยเกรงว่าจะถูกลงโทษจึงช่วยกันทำลายหลักฐาน ด้วยการช่วยกันหา ฟืนมาสุมจนท่วมองค์พระปัจเจกพุทธะ จนแน่ใจว่าหมดฟืนนี้ พระปัจเจกพุทธะ ก็คงจะถูกเผาไม่ เหลือซาก แล้วก็พากันกลับพระราชนิเวศน์

ความจริง บุคคลแม้จะนำฟืนตั้ง ๑,๐๐๐ เล่มเกวียน มาสุมก็ไม่อาจทำให้พระปัจเจกพุทธะ เกิดความรู้สึก แม้สักว่าอุ่น ๆ ได้ ดังนั้น ในวันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธะออกจากสมาบัติแล้วก็เสด็จ ไปตามปกติ ส่วนหญิงเหล่านั้น เมื่อตายแล้วถูกไหม้ในนรกหลายพันปี พ้นจากนรกแล้วถูกเผา อย่างนี้อีก ๑๐๐ ชาติ นี้เป็นผลกรรมของพระนางสามาวดีกับหญิงสหาย

กรรมใหม่ให้ผลทันตา
พระเจ้าอุเทน ทรงรู้สึกสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ที่พระนางสามาวดี ประสบเคราะห์กรรม เช่นนี้ ทรงมีพระดำริว่า ถ้าจะคุกคามถามพระนางมาคันทิยา ก็คงจะไม่ยอมรับ จึงออกอุบายตรัส ปราศรัยกับอำมาตย์ทั้งหลายว่า:-
“ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้เราจะลุกจะนั่งจะไปในที่ใด ๆ ก็หวาดระแวงสงสัยกลัวภัยอยู่ รอบข้าง ด้วยพระนางสามาวดี คิดประทุษร้ายต่อเราเป็นนิตย์ บัดนี้พระนางตายแล้ว เรารู้สึกสบาย ใจ ไม่ต้องหวาดระแวงอีกแล้ว และการกระทำอันนี้ ก็คงเป็นการกระทำของคนที่รัก และห่วงใยใน ตัวเรา ปรารถนาดีต่อเราอย่างแน่นอน”

“พระนางมาคันทิยา ประทับอยู่ในที่นั้นด้วย เมื่อได้ยินพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า:- “ข้าแต่สมมติเทพ ใครอื่นจะกล้ากระทำ การงานนี้ หม่อมฉันได้สั่งให้อาของหม่อมฉัน ลงมือกระทำ เพคะ”

พระราชาจึงตรัสว่า “ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้มีความรักในเรา เสมอกับเจ้านี้ไม่มีอีกแล้ว เราจะ ให้พรแก่เธอ ขอให้เธอจงเรียกญาติของเธอมารับพรจากเราเถิด”

พระราชา พระราชทานสิ่งของรางวัลอันมีค่า แก่บรรดาญาติ ๆ ของพระนางมาคันทิยาผู้ มาถึงก่อน แม้คนอื่นพอทราบข่าว ก็ติดสินบนขอเป็นญาติกับพระนางคันทิยา มาขอรับรางวัลด้วย พระราชารับสั่งให้จับบุคคลเหล่านั้นทั้งหมด ให้ขุดหลุมฝังแค่สะดือ ใช้ฟางข้าว คลุมปิดข้างบน จุดไฟเผาทั้งเป็นแล้ว ใช้ไถเหล็ก ไถซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ส่วนพระนางมาคันทิยา ผู้เป็นต้นเหตุ พระ องค์รับสั่งให้เฉือนเนื้อของพระนาง นำไปทอดน้ำมันเดือด แล้วนำมาให้พระนางกิน ทรงกระทำ อย่างนี้ จนกระทั่งพระนางสิ้นพระชนม์ ไปบังเกิดในทุคติ ซึ่งกล่าวได้ว่าพระนาง ได้รับผลแห่ง กรรมในอัตภาพนี้เหมาะสมแล้ว

ส่วนพระนางสามาวดี ผู้มีปกติอยู่ประกอบด้วยเมตตา (เมตตาวิหาร) ได้รับยกย่องจาก พระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้อยู่ด้วยเมตตา

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก