หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระวัปปะ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระวัปปะ
" พระอริยะย่อมเห็นทั้งบัณฑิตผู้เห็นอยู่ด้วย
ย่อมเห็นทั้งอันธพาลผู้ไม่เห็นอยู่ด้วย
ส่วนปุถุชนย่อมมองไม่เห็นทั้งอันธพาลและบัณฑิตนั้น "

พระวัปปะ หรือ พระวัปปะเถระ เป็นพระภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ และพระอสีติมหาสาวก

พระวัปปะ เมื่อได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว มีบทบาทสำคัญในการช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล ท่านดำรงอายุพอสมควรแก่กาล ก็ดับขันธปรินิพพาน

ชาติภูมิ
ท่านพระวัปปะ เป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองกบิลพัศดุ์ เมื่อคราวพระมหาบุรุษประสูติใหม่ พราหมณ์ผู้บิดาของท่านได้รับเชิญเลี้ยงโภชนาหาร ในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะ ได้เห็นพระมหาบุรุษ มีพระลักษณะถูกต้อง ตามตำราลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ จึงมีความเคารพนับถือในพระองค์เป็นอันมาก แต่ความหมดหวัง ในการที่จะได้เห็น พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตนใกล้จะสิ้นชีวิต จึงได้สั่งสอนบุตรของตนไว้ว่า เมื่อพระมหาบุรุษ เสด็จออกทรงผนวชแล้ว ให้ติดตามเสด็จเมื่อนั้น ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชแล้ว และกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ท่านพระวัปปะ พร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญพราหมณ์เป็นหัวหน้า จึงพากันออกบวชเป็นฤาษี ตามเสด็จพระมหาบุรุษ คอยอยู่เฝ้าปฏิบัติทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่า พระองค์ได้บรรลุธรรมอันใดแล้ว ก็จักได้สั่งสอนให้ตนได้บรรลุธรรมนั้นบ้าง เมื่อเห็นพระองค์ทรงละทุกกรกิริยา ที่ทรงประพฤติมาแล้วเป็นเวลา ๖ ปี จึงมีความเห็นร่วมกันว่า พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ในกามคุณเสียแล้ว และคงจะไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษ อันใดอันหนึ่งแน่นอน จึงมีความเบื่อหน่าย คลายความเคารพนับถือ พากันหลีกไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสีฯ

บรรลุธรรม
เมื่อพระมหาบุรุษ ทรงบำเพ็ญเพียรทางใจได้ตรัสรู้แล้ว จึงเสด็จไปโปรดแสดงพระธรรมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา ในเมื่อจบเทศนานั้น ท่านหาได้สำเร็จมรรคผลอะไรไม่ วันรุ่งขึ้น ได้ฟัง ปกิรณกเทศนา จึงได้ดวงตาเห็นธรรม (ในอรรถกถาตติยสามนต์แก้ว่า การได้ดวงตาเห็นธรรมของท่านทั้งสี่นี้ สืบต่อไป ไม่ได้พร้อมกัน ได้คนละวัน คือ วันปาฏิบท วันค่ำหนึ่ง ท่านพระวัปปะ ได้ดวงตาเห็นธรรม วันที่สองท่านภัททิยะ วันที่สามท่านมหานามะ วันที่สี่ท่านพระอัสสชิ วันที่ห้า แสดงอนัตตลักขณสูตรฯ) คือ ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็น พระโสดาบัน จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ในพระธรรมวินัยฯ

สำเร็จอรหันต์
พระองค์ทรงอนุญาตให้ท่านเป็นพระภิกษุ ด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ได้ฟังเทศนา อนัตตลักขณสูตร ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็น พระอรหันต์ ผู้ชื่อว่า อเสขบุคคล (พระอเสขบุคคล คือ ผู้ที่ไม่ต้องศึกษาอะไรอื่นอีกต่อไป) ท่านได้ช่วยเป็นกำลังพระบรมศาสดา ประกาศพระศาสนาคราวแรกองค์หนึ่ง เมื่อท่านดำรงอายุสังขาร อยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ..

เนื้อหาเพิ่มเติม
จาก หอมรดกไทย www.heritage.thaigov.net

ใจความในวัปปเถระวัตถุนี้ พระสังคีติกาจารย์ กำหนดด้วยบทพระคาถามีเนื้อความว่า ในกาลเมื่อพระศาสนา ของพระปทุมุตตระพุทธเจ้านั้น พระวัปปเถระ ได้เกิดในเรือนของตระกูลในนครหงสวดี เมื่อเจริญวัย จำความได้แล้ว ก็ได้สดับคำสรรเสริญจากบริษัททั้งหลายว่า พระมหาเถระทั้งหลายชื่อนั้นชื่อนั้น ท่านได้รับอมฤตธรรม ของพระบรมศาสดาก่อนกว่าบริษัททั้งปวง กุลบุตรนั้น จึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งปณิธานความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สืบไปในอนาคตกาล เมื่อบุคคลทั้งหลาย บรรดาที่จะได้เป็นผู้รับอมฤตธรรมเทศนา ของพระบรมศาสดา ณ กาลบัดนี้ ขอให้ข้าพระองค์ พึงได้เป็นผู้รับพระอมฤตธรรมเทศนา ก่อนกว่าบริษัทคนทั้งปวง คนใดคนหนึ่งเถิด ครั้นตั้งปณิธานดังนี้แล้ว จึงยังบุคคลให้รู้แจ้ง ซึ่งตนว่าเป็นบุคคลตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมณ์ ในสำนักของพระบรมศาสดา

กุลบุตรผู้นั้น ครั้นอุตสาห์บำเพ็ญกุศลอยู่ จนกำหนดชนมายุแล้ว เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลก และมนุษย์โลกสิ้นกาลช้านาน

ครั้นมาในพระพุทธศาสนา ของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ก็ได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ อยู่ในกรุงกบิลพัสด์ มีชื่อว่า วัปปมานพ เมื่อคำพยากรณ์ที่พระกาฬเทวินดาบสทำนาย พระมหาสัตว์เจ้าว่า พระสิทธัตถราชกุมารนี้ จะได้ตรัสเป็นองค์พระสัพพัญญูพุทธเจ้า เที่ยงแท้ดังนี้แล จึงละเสียซึ่งฆราวาส ออกบรรพชาเป็นดาบส กับด้วยบุตรพราหมณ์ทั้งหลาย มีโกณฑัญญพราหมณ์เป็นประธาน ไปยับยั้ง คอยท่าพระมหาสัตว์อยู่ ในอุรุเวลประเทศ ด้วยมาดำริว่า ในกาลเมื่อพระมหาสัตว์ ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว เราจะได้รับพระราชทานฟังพระธรรมเทศนา ในสำนักของพระพุทธองค์แล้ว เราก็จะได้บรรลุพระอมฤตนิพพาน

เมื่อมาสันนิษฐานดังนี้แล้ว ก็เข้าไปบำรุงบำเรอพระมหาสัตว์เรา ที่ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ กระทำทุกกรกิริยาอยู่สิ้น ๖ พระวัสสานั้นแล้ว ก็พากันเหนื่อยหน่าย เลี่ยงหนีพระมหาสัตว์เจ้า ไปยังป่าอิสิปตนมิคทายวัน เพราะเหตุด้วยพระมหาสัตว์เจ้านั้น เสวยอาหารอันหยาบ กาลเมื่อพระมหาสัตว์ได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณแล้ว และเสด็จยับยั้งอยู่เจ็ดวันเจ็ดวาระแล้ว และเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมิคทายวัน โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนา พระธรรมจักกัปปวัตนสูตร ในวันปฏิบทแรมหนึ่งค่ำ วัปปกุลบุตร ก็ได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผลญาณ ครั้น ณ วันแรมห้าค่ำ วัปปกุลบุตร ก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยพระปฏิสัมภิทาญาณ กับด้วยพราหมณ์ทั้งหลาย จำนวนมากมีพระอัญญาโกณฑัญญะเถระ เป็นประธาน

เหตุการณ์ดังนั้น พระวัปปเถระ จึงได้กล่าวประกาศแสดงความประพฤติ ในกาลก่อนของท่านไว้โดยนัยพิสดาร ในคัมภีร์พระอปทาน และเมื่ท่าน มีชนมายุสังขารบริบูรณ์แล้ว ก็ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสส ปรินิพพานธาตุ สิ้นชาติ สิ้นภพ สิ้นตัณหา อุปาทาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ หอมรดกไทย
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก