หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระวักกลิเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระวักกลิเถระ
" ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จักแผ่ปีติและสุขให้ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย
แล้วปีติและสุขนั้นจักข่มความหิวให้ระงับลงได้
ข้าพระองค์ ก็จักสามารถอยู่ในป่าใหญ่ที่แห้งแล้งเช่นนี้ได้ "

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระวักกลิเถระ ครั้งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ไปวิหารยืนฟังธรรมท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นเช่นนี้ ในอนาคต

จึงนิมนต์พระศาสดา ถวายทานเป็นเวลา ๗ วัน ถวายบังคมพระทศพลแล้ว กระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ด้วยกุศลกรรมอันนี้ ขอข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนภิกษุ ที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะของเหล่าภิกษุ ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา

พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ แล้วเสด็จกลับไป ฝ่ายท่านกระทำกุศลตลอดชีพแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระวักกลิเถระ มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่าวักกลิมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยา ตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท

บวชเพราะอยากเห็นพระพุทธองค์ตลอดเวลา
ครั้นเที่ยวไปในนครสาวัตถี วักกลิมาณพ ได้เห็นพระองค์ ก็บังเกิดความเลื่อมใส ในพระรูปพระโฉมของพระองค์ ไม่อิ่ม ไม่เบื่อหน่ายในการดู อยากจะดูทุกเมื่อ จึงคิดว่า ถ้าเราได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา จักได้เห็นพระองค์อยู่เป็นนิตย์

ครั้นคิดอย่างนั้น จึงได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นบวชแล้ว แทนที่จะท่องบ่นสาธยายธรรม และบำเพ็ญเพียรในกรรมฐาน แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ มัวเมาแต่เที่ยวดู พระรูปโฉมของพระบรมศาสดาอยู่เท่านั้น พระองค์ก็มิได้ตรัสว่าอะไร ๆ กะท่าน ท่านก็เที่ยวตามชมเชยอยู่เช่นนั้น

ถูกพระพุทธองค์ขับจากสำนัก
ครั้นต่อมาพระบรมศาสดาตรัสสอนว่า ดูก่อนวักกลิ เธอต้องการดูกาย ที่เปื่อยเน่านี้ เพื่อประโยชน์อะไร ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม

แม้พระองค์ทรงตรัสสอนอย่างนี้แล้ว ท่านพระวักกลิก็ยังไม่ละ ซึ่งอันดูพระองค์ หลีกหนีไปในที่อื่นเสีย พระบรมศาสดาจึงทรงดำริว่า ภิกษุนี้ ถ้าไม่ได้ความสลดใจเสียบ้างแล้ว ก็จะไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร ครั้นทรงดำริในพระทัยอย่างนี้แล้ว เมื่อจวนจะถึงวันเข้าพรรษา พระองค์จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์มหานคร ในวันเข้าพรรษา

พระองค์จึงมีพระพุทธฎีกา ประณามขับไล่พระวักกลิเสียจากสำนักของพระองค์ว่า “อเปหิ วกฺกลิ” ดูก่อนวักกลิภิกษุ เธอจงหลีกไปให้พ้น จากสำนักของเราเถิด

น้อยใจจึงคิดฆ่าตัวตาย
ท่านพระวักกลิเกิดความน้อยใจว่า พระบรมศาสดา จะไม่ทักทายปราศรัยกะเราอีกแล้ว เราก็ไม่อาจจะอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ ตลอดไตรมาส มีความเสียใจ ที่จะไม่ได้เห็นพระองค์ จึงหลีกออกจากพุทธสำนัก แล้วคิดว่า เรามีชีวิตอยู่ จะมีประโยชน์อะไร เราจะกระโดดภูเขาตายเสีย ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงขึ้นไปสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ

พระบรมศาสดา ทรงทราบซึ่งความลำบากของท่าน จึงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ในที่เฉพาะหน้า เพื่อจะให้พระวักกลิเถระ เกิดปีติโสมนัสแรงขึ้น เหมือนหลั่งกระแสน้ำ ลงในสระที่แห้ง จึงตรัสพระคาถาในพระธรรมบทว่า ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะพึงบรรลุบท อันสงบที่ระงับสังขาร เป็นความสุข

บรรลุพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา
ท่านเกิดปีติและปราโมทย์อย่างแรงกล้า มาเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศ นึกถึงพระโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ข่มปีติ บนอากาศเสียได้แล้ว ได้บรรลุพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ลงมาถวายบังคมพระบรมศาสดาที่เฉพาะพระพักตร์

เอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุตติ
ต่อมาภายหลัง พระบรมศาสดาประทับทั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ทรงสถาปนาท่านพระวักกลิไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา (สทฺธาธิมุตตานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระวักกลิเถระ เอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุตติ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก