หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระสุภูติเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระสุภูติเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระสุภูติเถระ ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ ยังไม่อุบัติขึ้น ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงหงสวดี ญาติทั้งหลาย ขนานนามท่านว่า นันทมาณพ ท่านเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพท ไม่เห็นสาระในไตรเพทนั้น พร้อมด้วยบริวารของตน ประมาณ ๔๔,๐๐๐ คน ออกบวชเป็นฤาษี อยู่ ณ เชิงบรรพต ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้น แล้วช่วยให้ศิษย์ทั้งหลาย ให้ได้ญาณเหมือนกันนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในโลก ท่านนันทดาบส ได้มีโอกาสถวายปุปผาสนะ (อาสนะดอกไม้) แด่พระศาสดา มีความเลื่อมใสในพระเถระ ผู้กระทำอนุโมทนาบุปผาสนะ จึงตั้งความปรารถนา ต่อเบื้องพระพักตร์พระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยกรรมคือกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่ได้ทำมา ๗ วันนี้ ข้าพระองค์ มิได้ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ข้าพระองค์ พึงเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ เหมือนอย่างพระเถระนี้ ในศาสนาพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในอนาคต พระศาสดาทรงเห็นความไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ แล้วเสด็จกลับไป

ฝ่ายนันทดาบส ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ตามสมควรแก่กาล ไม่เสื่อมจากฌาน ไปบังเกิดในพรหมโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านมาเกิดในวรรณะแพศย์ เป็นบุตรของสุมนเศรษฐี ผู้เป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในนครสาวัตถี ท่านเป็นผู้มีลักษณะดี ผิวพรรณผ่องใส สะอาด สวยงาม จึงได้นามว่า “สุภูติ” ซึ่งถือว่าเป็นมงคลนาม มีความหมายว่า “ผู้เกิดดีแล้ว

สาเหตุที่ออกบวช
เหตุการณ์ที่ชักนำให้ท่าน ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เนื่องมาจากอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นลุง ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขณะประทับอยู่ ณ ป่าสีตวัน เมืองราชคฤห์ และได้ฟังพระธรรมเทศนา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค เพื่อเสด็จกรุงสาวัตถี

เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงรับอาราธนาแล้ว รีบเดินทางกลับมาสู่กรุงสาวัตถี ได้จัดซื้อที่ดิน อันเป็นราชอุทยานของเจ้าชายเชตราชกุมาร ด้วยวิธีนำเงินมาวางเรียง ให้เต็มพื้นที่ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี ต้องใช้เงินถึง ๒๗ โกฏิ จึงได้พื้นที่พอแก่ความต้องการ จำนวน ๑๘ กรีส (๑ กรีส = ๑๒๕ ศอก) และใช้เงินอีก ๒๗ โกฏิ สร้างพระคันธกุฎีที่ประทับ สำหรับพระผู้มีพระภาค และเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์สาวก แต่ยังขาดพื้นที่ สร้างซุ้มประตูพระอาราม เจ้าชายเชตราชกุมาร จึงขอมอบพื้นที่และจัดสร้างให้ โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ ไว้ที่ซุ้มประตูพระอารามนั้น “เชตวัน” ดังนั้น พระอารามนี้จึงได้นามว่า “พระเชตวันมหาวิหาร

ในวันที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จัดการฉลองพระวิหารเชตะวันนั้น ได้กราบอาราธนาพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มาเสวยและฉันภัตตาหาร สุภูติกุฎุมพี ผู้เป็นหลาน ได้ติดตามไปร่วมพิธีช่วยงานนี้ด้วย ครั้นได้เห็นพระฉัพพรรณรังสี ที่เปล่งออกจากพระวรกาย ของพระบรมศาสดา สวยงามเรืองรองไปทั่วบริเวณ ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส

ขออุปสมบทในพระธรรมวินัย
เมื่อการถวายภัตตาหาร แด่พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธองค์เป็นประมุข เสด็จเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมกถาอนุโมทนาทาน สุภูติกุฎุมพี ได้ฟังแล้วยิ่งเกิดศรัทธามากขึ้น จึงกราบทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย

ครั้นได้อุปสมบทสมความปรารถนาแล้ว ได้ศึกษาพระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกจนเชี่ยวชาญ จากนั้น ได้เรียนพระกรรมฐานจากพระบรมศาสดา แล้วหลีกออกไปบำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสสนากรรมฐานอยู่ในป่า ไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล สิ้นกิเลสาสวะ เป็นพระอริยบุคคล ชั้นสูงสุดในพระศาสนา

เป็นผู้มีปกติเข้าฌานที่ประกอบด้วยเมตตา
พระสุภูติเถระ โดยปกติแล้ว มักจะเข้าฌานสมาบัติ เพื่อแสดงหาความสุข อันเกิดจากการสิ้นกิเลส ท่านประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ:-
๑. อรณวิหารธรรม คือ เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา หรือเป็นอยู่อย่างไม่มีข้าศึก(อรณวิหารีนํ)
๒. ทักขิเณยยบุคคล คือ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน (ทกฺขิเณยฺยานํ)

แม้แต่พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อได้ทรงทราบว่า ท่านเป็นผู้มีปกติเข้าฌานที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นประจำ ไม่เว้นแม้แต่ในขณะบิณฑบาต ก็ยังแผ่เมตตาให้แก่ผู้ถวายอาหารบิณฑบาต อาราธนาให้ท่านจำพรรษา ที่แคว้นมคธ และท่านก็รับอาราธนาตามนั้น

พระเถระจำพรรษากลางแจ้ง
เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีพระราชกิจมาก จึงลืมรับสั่งให้จัดเสนาสนะสถานที่พักถวายท่าน ดังนั้น เมื่อท่านมาถึงแล้ว จึงไม่มีที่พัก ท่านจึงต้องพักกลางแจ้ง ด้วยอำนาจแห่งคุณของท่าน จึงทำให้ดินฟ้าอากาศปรวนแปร ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ชาวไร่ชาวนาปลูกพืชผลไม่ได้ผลผลิต ต้องเดือดร้อนไปทั่ว

ความทราบถึงพระเจ้าพิมพิสาร ทรงใคร่ครวญทบทวนแล้ว ทราบชัดว่าเพราะพระเถระจำพรรษากลางแจ้ง จึงเป็นเหตุให้ฝนแล้วไปทั่ว ดังนั้น จึงทรงรีบแก้ไขด้วยการรับสั่งให้สร้างกุฎีถวายท่านโดยด่วน เมื่อกุฎีสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านให้เข้าพักอาศัยอยู่จำพรรษาในกุฎีนั้น จากนั้นก็ตกลงมาชาวประชาก็พากันดีใจ ปลูกพืช ผัก ผลไม้ ก็ได้ผลผลิตดีตามต้องการ ความทุกข์ความเดือดร้อนก็หายไป

เอตทัคคะในทางอรณวิหารและทักขิเณยยบุคคล
ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงยกย่องท่าน ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ๒ ทาง คือ ในทางเจริญฌานประกอบด้วยเมตตา (อรณวิหารี) และในทางเป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน (ทกฺขิเณยฺยานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระสุภูติเถระ เอตทัคคะในทางอรณวิหารและทักขิเณยยบุคคล


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก