หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระสภิยเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระสภิยเถระ
" การงานที่ทำเหลาะแหละ วัตรปฏิบัติที่ไม่น่าเลื่อมใส
และพรหมจรรย์ที่ระลึกถึงด้วยความน่ารังเกียจ ทั้ง ๓ นี้ไม่มีผลมาก
ผู้ใด ไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดินห่างไกลกัน "

ชาติภูมิ
ท่านพระสภิยเถระ มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เป็นบุตรของใคร ไม่ปรากฏในตำนาน ปรากฏแต่ว่าท่านเป็นปริพาชก ชื่อว่า สภิยะ

เทวดาผูกปัญหาให้แก้
สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถาน ในกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น เทวดาที่เคยเป็นญาติ สายโลหิตกันมาแต่ชาติก่อน ได้ผูกปัญหา ให้แก่สภิยปริพาชก แล้วสั่งความว่า ดูก่อนสภิยะ สมณพราหมณ์ผู้ใด แก้ปัญหาที่ท่านถามนี้ได้แล้ว ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักของสมณพราหมณ์ผู้นั้น

สภิยปริพาชก เรียนเอาปัญหาในสำนักของเทวดานั้น จำได้แล้ว เที่ยวถามสมณพราหมณ์ ผู้เป็นคณาจารย์ใหญ่ มียศปรากฏ ชื่อเสียงในครั้งนั้น มีครูทั้งหก คือ ปูรณกัสสปะ, มักขลิโคศาล, อชิตเกสกัมพล, ปกุทธกัจจายนะ, สัญชัยเวฬัฏฐบุตร และนิคันถนาฏบุตร เป็นต้น

ครูเหล่านั้น ก็พากันแก้ไม่ได้ แม้สักคนเดียว ซ้ำยังกลับพูดเยาะเย้ยสภิยปริพาชก มีประการต่าง ๆ เสียอีก

ตัดสินใจถามปัญหากับพระพุทธองค์
ครั้งนั้น สภิยปริพาชก เมื่อถูกครูทั้งหลาย เยาะเย้ยแล้ว ก็เกิดความท้อใจ คิดจะกลับไปเป็นคนเลว บริโภคกามคุณ ครั้นมาหวนคิดถึงพระสมณโคดมขึ้นได้ จึงตกลงใจนะไปเฝ้า แต่ยังมีความสงสัยในใจว่า พวกสมณพราหมณ์ มีครูทั้งหกเป็นต้น ก็เป็นคนผู้เฒ่าผู้แก่ บวชมาเป็นเวลานาน เป็นคณาจารย์สั่งสอน แก่หมู่ศิษย์มาก ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ แล้วไฉนพระสมณโคดม ยังเป็นเด็กอยู่ ทั้งบวชใหม่ด้วย จะแก้ปัญหานี้ได้เทียวหรือ

และได้บรรเทาความสงสัย ด้วยตนเองว่า ถึงแม้พระสมณโคดม จะยังเด็กเล็กอยู่ก็จริง แต่พระองค์เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มาอานุภาพใหญ่ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ที่เวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหา

อยู่ติตถิรปริวาส ก่อนบวชในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ได้ทูลถามปัญหาหลายหมวด หลายตอน ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา สภิยปริพาชก เกิดความเลื่อมใส แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ในพระธรรมวินัย

พระองค์ รับสั่งให้อยู่ติตถิรปริวาส (วิธีอยู่กรรม สำหรับเดียรถีย์ ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา) ครบกำหนด ๔ เดือนแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ในพระพุทธศาสนา หลีกอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคล นับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก