หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระรัฏฐปาลเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระรัฏฐปาลเถระ

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระรัฏฐปาลเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล ในพระนครหังสวดี ก่อนหน้าที่พระพุทธเจ้านั้นทรงอุบัติ พอเจริญวัยแล้ว บิดาล่วงลับดับชีวิตไป ตนเองก็ดำรงเพศเป็นฆราวาสครองเรือน ได้เห็นทรัพย์สมบัติ ที่มีอยู่ในตระกูลวงศ์ อันหาประมาณมิได้ ตามที่คนผู้รักษาเรือนคลังรัตนะมาแสดงให้ทราบแล้ว จึงคิดว่า ปู่ย่า ตายาย เป็นต้นของเรา ไม่อาจเพื่อจะถือเอา กองทรัพย์สมบัติมากมายขนาดนี้ ไปกับตนได้เลย แต่เราควรที่จะถือเอาไปด้วยให้ได้ จึงได้ให้มหาทาน แก่หมู่คนทั้งหลาย มีคนกำพร้าเป็นต้น

ท่านได้บำรุงพระดาบส ผู้ได้อภิญญารูปหนึ่ง บุญนั้น จึงส่งให้ท่านเป็นใหญ่ ในเทวโลก ท่านบำเพ็ญบุญทั้งหลายจนตลอดชีวิตแล้ว จุติจากอัตภาพนั้น ได้ไปเกิดเป็นเทวดา ครองเทวราชสมบัติ ในเทวโลกนั้น ดำรงอยู่จนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระรัฏฐปาล เป็นบุตรของรัฏฐปาลเศรษฐี ผู้เป็นหัวหน้าในหมู่ชน ชาวถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดา เสด็จจาริกไปในแคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ บรรลุถึงถุลลโกฏฐิตนิคม ชาวนิคมได้ทราบว่า พระบรมศาสดาเสด็จมา จึงพากันมาเข้าไปเฝ้า บางพวกถวายบังคม บางพวกเป็นแต่พูดจาปราศรัย บางพวกเป็นแต่ประนมมือ บางพวกร้องประกาศชื่อ และโคตรของตน บางพวกนิ่งอยู่ ทุกหมู่นั้น พากันนั่งอยู่ ณ ที่อันสมควรแห่งหนึ่ง

อดอาหารประท้วงเพื่อต้องการบวช
พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ให้เกิดความเลื่อมใสแล้ว คนเหล่านั้นก็ทูลลากลับไป ส่วนรัฏฐปาละ ครั้นได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส ใคร่จะบวช พอพวกชาวนิคมนั้นกลับไปแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอบรรพชา

ครั้นได้ทราบว่าพระบรมศาสดา ไม่ทรงบวชกุลบุตร ที่มารดาบิดาไม่อนุญาต รัฏฐปาละ ก็พูดอ้อนวอนเป็นหลายครั้ง มารดาบิดาไม่ยอม รัฏฐปาละเสียใจ ลงนอนไม่ลุกขึ้น อดอาหารเสียไม่กิน คิดว่าจักตายในที่นี้ หรือจักบวชเท่านั้น

มารดาบิดา ปลอบให้ลุกขึ้นกินอาหาร รัฏฐปาละก็นิ่งเสีย มารดาบิดา จึงไปหาสหายรัฏฐปาละ ขอให้ช่วยห้ามปราม สหายเหล่านั้น ก็ไปช่วยห้ามปราม เมื่อเห็นว่ารัฏฐปาละไม่ยอม จึงคิดว่า ถ้ารัฏฐปาละ ไม่บวชจักตายแล้ว หาเกิดคุณอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ ถ้ารัฏฐปาละ ได้บวช มารดาบิดาและเราจักได้เห็นรัฏฐปาละ ตามเวลาที่สมควร อนึ่ง เมื่อรัฏฐปาละบวชแล้ว หากเบื่อหน่าย ในการประพฤติเช่นนั้น ก็จักกลับมาที่นี้อีก ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปหามารดาบิดาของรัฏฐปาละ ชี้แจงเหตุผลให้ฟัง

มารดาบิดาของรัฏฐปาละ เห็นด้วยแล้ว ก็ยอมตาม แต่ว่าบวชแล้ว ขอให้กลับมาเยี่ยมบ้าง สหายเหล่านั้น ก็กลับไปบอกความนั้น แก่รัฏฐปาละ ๆ ทราบว่า มารดาบิดาอนุญาตแล้ว ดีใจลุกขึ้นเช็ดตัว แล้วอยู่บริโภคอาหารพอร่างกาย มีกำลังไม่กี่วันแล้ว ไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลว่าบิดามารดาอนุญาตแล้ว พระองค์ก็โปรดให้บวช เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

บรรลุอรหัตตผล
ครั้นพระรัฏฐปาละ บวชแล้วไม่นาน ประมาณกึ่งเดือน พระบรมศาสดา เสด็จจากถุลลโกฏฐิตนิคม ไปประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี ส่วนพระรัฏฐปาละ ตามเสด็จไปด้วย ท่านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนา ได้สำเร็จพระอรหัตผล ถึงที่สุดของพรหมจรรย์แล้ว ถวายบังคมลา ออกจากสาวัตถี เที่ยวจาริกไปถึงถุลลโกฏฐิตนิคม พักอยู่ที่มิคจิรวัน พระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินกุรุ

ในเวลาเช้า ท่านเข้าไปบิณฑบาตในนิคมนั้น จนถึงที่ใกล้เรือนของท่าน นางทาสีเห็นท่านแล้ว ก็จำได้ จึงบอกเนื้อความนั้น ให้แก่มารดาบิดาของท่านทราบ มารดาบิดาของท่าน จึงได้นิมนต์ท่านไปฉันในเรือน ในวันรุ่งขึ้น แล้วอ้อนวอน ให้ท่านกลับมาครอบครองสมบัติอีก ท่านก็ไม่สมประสงค์ เมื่อท่านรัฏฐปาละ ฉันเสร็จแล้วก็กล่าวคาถาอนุโมทนา พอเป็นทางให้เกิดสังเวชในร่างกาย แล้วจึงกลับมิคจิรวัน

ความเสื่อมมี ๔ อย่าง ทำให้คนออกบวช
ส่วนพระเจ้าโกรัพยะ เสด็จไปประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นรัฏฐปาละ ทรงจำได้ เพราะทรงรู้จักแต่เดิมมา เสด็จเข้าไปใกล้ ตรัสปราศรัยและประทับ ณ ราชอาสน์ ตรัสถามว่า รัฏฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อมมี ๔ อย่าง ที่คนบางจำพวก ต้องประสบเข้าแล้ว จึงออกบวช คือ แก่ชรา, เจ็บ, สิ้นโภคทรัพย์, สิ้นญาติ ความเสื่อม ๔อย่างนี้ ไม่มีแก่ท่าน ท่านรู้เห็น หรือได้ฟังอย่างไร จึงได้ออกบวช

ธรรมุทเทศ ๔ ประการ
ท่านทูลว่า มหาบพิตร มีอยู่ ธรรมุทเทศ (ธรรมที่แสดงขึ้นเป็นหัวข้อสี่ข้อ) ที่พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นผู้รู้เห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงแสดงขึ้นแล้วจึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ข้อนั้น คือ
ข้อที่หนึ่ง ว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันชราเป็นตัวนำเข้าไปใกล้ความตาย ไม่ยั่งยืน
ข้อที่สอง ว่า โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่จำเพาะตน
ข้อที่สาม ว่า โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
ข้อที่สี่ ว่า โลกคือหมู่สัตว์พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

ครั้นท่านพระรัฏฐปาละ ทูลเหตุที่ตนออกบวช แก่พระเจ้าโกรัพยะอย่างนี้แล้ว พระมหากษัตริย์ ก็ทรงเลื่อมใส ตรัสอนุโมทนาธรรมีกถา แล้วเสด็จกลับไป ส่วนท่านพระรัฏฐปาละ เมื่อพำนักอาศัยอยู่ในนิคมนั้น พอสมควรแล้ว ก็กลับมาอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา

เอตทัคคะในทางผู้บวชด้วยศรัทธา
อาศัยคุณที่ท่าน เป็นผู้บวชด้วยศรัทธามาแต่เดิม และกว่าจะบวชได้ ก็แสนยากลำบากนัก พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชด้วยศรัทธา (สทฺธาปพฺพชิตานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระรัฐปาลเถระ เอตทัคคะในทางผู้บวชด้วยศรัทธา


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก