หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระราธเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระราธเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
พระราธเถระ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนตระกูลหนึ่ง ในเมืองหังสวดี ภายหลัง กำลังฟังพระธรรมเทศนา ของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้มีปฏิภาณ จึงทำกุศลยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านปรนนิบัติพระตถาคตจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระราธเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในนครราชคฤห์ เดิมก็ชื่อ ราธะ สกุลของท่านเป็นสกุลที่มั่งคั่งสกุลหนึ่ง

เมื่อราธพราหมณ์ แก่เฒ่าชรา บุตรภรรยาไม่เลี้ยงดู เป็นคนยากจนเข็ญใจ จึงไปอาศัยเลี้ยงชีพอยู่ กับพระภิกษุในพระเวฬุวันวิหาร ต่อมา ราธพราหมณ์มีความประสงค์อยากจะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ เมื่อไม่ได้บวชสมประสงค์ จึงมีร่างกายซูบผอม มีผิวพรรณหม่นหมองไม่ผ่องใส

พระสารีบุตรระลึกถึงคุณจึงบวชให้
พระบรมศาสดา ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ จึงตรัสถาม ทราบความแล้ว รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ใครระลึกถึงอุปการคุณ ของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าระลึกได้ อยู่ในวันหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้า เที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์ได้ถวายอาหาร แก่ข้าพระพุทธเจ้าทัพพีหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่าดีละ ๆ สารีบุตร สัตบุรุษ เป็นคนกตัญญูกตเวที ถ้าอย่างนั้น สารีบุตรให้พราหมณ์นั้นบวชเถิด

บวชด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา เป็นองค์แรก
ครั้นทรงอนุญาตให้พระสารีบุตร บวชราธพราหมณ์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้เลิก การอุปสมบทด้วยวิธีรับไตรสรณคมน์ ที่ได้ทรงอนุญาตไว้แล้วแต่เดิม ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรด้วย ญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านพระราธะเป็นองค์แรก ในการอุปสมบทด้วยวิธีนี้

เมื่ออุปสมบทแล้ว วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลว่า ขอพระองค์จงแสดงธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยย่อ ๆ ที่ข้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังแล้ว จักหลีกออกจากหมู่ อยู่แต่ผู้เดียว เป็นคนไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปในภาวนา

พระบรมศาสดาตรัสสอนว่า “ราธะ สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจ ในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่า ชื่อว่ามาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไป เสื่อมไป เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป เป็นธรรมดา ชื่อว่ามาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเสีย”

พระราธะรับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้วเที่ยวจาริกไปกับพระสารีบุตร ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตต์

พระบรมศาสดาตรัสยกย่องว่าเป็นผู้ว่าง่าย ครั้นพระราธะ ได้บรรลุพระอรหัตต์แล้ว ท่านพระสารีบุตรมาเฝ้าพระบรมศาสดา ๆ ทรงปราศรัยตรัสถามว่า สัทธิวิหาริกของท่านนี้ เป็นอย่างไร พระสารีบุตรกราบทูลว่า เป็นคนว่านอนสอนง่าย เมื่อแนะนำสั่งสอนว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนั้นไม่ควรทำ ท่านจงทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนั้น ดังนี้ ไม่เคยโกรธเลย

พระบรมศาสดา ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลาย ถือเอาเป็นตัวอย่างว่า ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ว่าง่ายอย่างราธะเถิด เมื่ออาจารย์ ชี้โทษสั่งสอน อย่าถือโกรธ ควรคบแต่บัณฑิต ที่ตนเห็นว่าเป็นคนแสดงโทษกล่าวชม ให้เป็นดุจคนชี้บอกขุมทรัพย์ให้ เพราะคบบัณฑิตเช่นนั้น มีคุณประเสริฐ ไม่มีโทษเลย และได้ตรัสในคาถาพระธรรมทว่า
พึงเห็นบัณฑิตผู้กล่าวสอน ชี้โทษ พูดข่มไว้ มีปัญญากว้างขวาง เหมือนชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบบัณฑิตเช่นนั้น เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ก็มีแต่ดี ไม่เสียหายเลย

เอตทัคคะในทางผู้ว่าง่าย และมีปฏิภาณ
ต่อมา พระศาสดากำลังทรงสถาปนาพระเถระทั้งหลาย ไว้ในตำแหน่งทั้งหลาย ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาท่านพระราธเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าสาวก ผู้มีปฏิภาณ (ปฏิภาณเณยฺยกานํ) เพราะท่านมีปฏิภาณ สามารถแสดงพระธรรมเทศนาของพระศาสดาซ้ำได้ทันที.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระราธเถระ เอตทัคคะในทางผู้ว่าง่าย และมีปฏิภาณ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก