หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระปิงคิยเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระปิงคิยเถระ

ชาติภูมิ
ท่านพระปิงคิยเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยา ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

ออกบวชเป็นชฏิลตามพราหมณ์พาวรี
ครั้นพราหมณ์พาวรี มีความเบื่อหน่ายในฆราวาส ได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศล ออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิล ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะ และอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์

ปิงคิยมาณพ ได้ออกบวชติดตามด้วยและอยู่ในมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหาส่งไปให้ทูลถามพระบรมศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ

ทูลถามปัญหาเป็นคนสุดท้าย
ปิงคิยมาณพ ได้ทูลถามปัญหาเป็นคนสุดท้ายว่า ข้าพระพุทธเจ้า เป็นคนแก่แล้ว ไม่มีกำลังวังชา มีผิวพรรณเหี่ยวย่นแล้ว ดวงตาของข้าพระพุทธเจ้า ก็เห็นไม่ชัดนัก หูก็ฟังไม่ชัด ขอข้าพระพุทธเจ้า อย่าเป็นผู้หลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอก ธรรมเป็นเครื่องละชาติชรา ในอัตภาพนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า

พระบรมศาสดา ทรงมีดำรัสตอบว่า ท่านเห็นว่า ชนทั้งหลาย ประมาทแล้ว ย่อมเดือดร้อน เพราะรูปเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละความพอใจในรูปเสีย จะได้ไม่เกิดอีก

ปิงคิยมาณพ : ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ เป็นสิบทิศ ทั้งทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ ที่พระองค์ไม่เคยเห็น ไม่เคยฟัง ไม่เคยทราบ ไม่ได้รู้แล้วแม้แต่น้อยหนึ่ง มิได้มีในโลก ขอพระองค์ตรัสบอกธรรม เป็นเครื่องละชาติชรา ในชาตินี้เสีย

พระบรมศาสดา : เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ อันตัณหาครอบงำ มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น อันชราถึงรอบด้านแล้ว เหตุนั้น ท่านจงอย่าประมาท ละตัณหาเสีย จะได้ไม่เกิดอีก

ได้เพียงดวงตาเห็นธรรม และอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปิงคิยมาณพ ได้เพียงดวงตาเห็นธรรม คือได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะเวลาฟังคำตอบปัญหา มีจิตฟุ้งซ่าน คิดถึงพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นอาจารย์ว่า ลุงของเรา หาได้ฟังธรรมเทศนาที่ไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยโทษที่จิตฟุ้งซ่าน เพราะความรักใคร่ในอาจารย์ จึงไม่อาจทำจิตให้สิ้นจากอาสวะได้

จากนั้น ปิงคิยมาณพ พร้อมด้วยมาณพสิบห้าคน ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

กลับสำนักเพื่อแจ้งการถามตอบปัญหาแก่พราหมณ์พาวรี
ครั้นท่านปิงคิยมาณพ ได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลลาพระศาสดา กลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรี ผู้เป็นอาจารย์แล้ว แสดงธรรมเทศนาแก้ปัญหาสิบหกข้อนั้น ให้ฟัง

บรรลุพระอรหัตตผล
ภายหลัง ได้สดับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นอาจารย์ ได้บรรลุธรรมแต่เพียงชั้นเสขภูมิ (อนาคามิผล).

หมายเหตุ
หลักพิสูจน์ว่า มาณพ ๑๖ คนบรรลุพระอรหัตต์ มาณพ ๑๖ คนได้สำเร็จพระอรหัตผลตามลำดับ เพราะมีหลักพิสูจน์ว่า ตอนที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมเทศนาจบลง ทรงชี้แจงว่า เมื่อกาลเป็นที่จบลง แห่งธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ๆ ของมาณพนั้น ๆ ต่างก็พากันได้บรรลุพระอรหัตต์ทุก ๆ ท่าน เว้นแต่ปิงคิยมาณพผู้เดียวเท่านั้น ได้เพียงธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม

ความเลื่อมใสแห่งบุคคล ๔ จำพวก
พระอรรถกถาจารย์ พรรณาถึงบุคคล ๔ จำพวก อันจะพึงเลื่อมใสได้ด้วยอาการต่างกัน คือ
๑. รูปัปปมาณิกา ถือประมาณในรูป คือ พอใจในการดูการเห็นบุคคลจำพวกนี้ จะชักจูงให้เลื่อมใสได้ โดยการให้ได้เห็นการแสดงท่าทางต่าง ๆ อันเนื่องจากการทำพิธี อย่างมีแห่พระพุทธรูปเป็นต้น

๒. โฆสัปปมาณิกา ถือประมาณในเสียง คือ ชอบฟังเสียง บุคคลจำพวกนี้ จะชักจูงให้เลื่อมใสได้ โดยการให้ได้ฟังเสียงอันไพเราะ เช่นการเทศนาโดยทำนอง มีเทศน์มหาชาติเป็นต้น

๓. ลูขัปปมาณิกา ถือประมาณในของเศร้าหมอง ชอบการประพฤติปอน บุคคลจำพวกนี้จะชักจูงให้เลื่อมใสได้ โดยการให้ได้เห็นการประพฤติปอน มีการครองผ้าเก่าคร่ำคร่าเป็นต้น

๔. ธัมมัปปมาณิกา ถือประมาณในธรรม ชอบใจเฉพาะข้อปฏิบัติ บุคคลจำพวกนี้จะชักจูงให้เลื่อมใสได้ โดยการให้ได้ฟังธรรมอันมุ่งกล่าวเฉพาะข้อปฏิบัติ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก