หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระนาลกเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระนาลกเถระ
 
หลานของพระกาลเทวิลดาบส
ดังได้สดับมา พระนาลกเถระ ท่านบำเพ็ญนาลกปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรานี่ ท่านเป็นหลานของพระกาลเทวิลดาบส ในวันที่พระโพธิสัตว์เสด็จประสูติจากพระครรภ์ ของพระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระพุทธมารดานั้น บรรดาเทพยดา ก็มีความยินดีปรีดา พากันเล่นการมหรสพเอิกเกริก พระกาลเทวิลดาบส ท่านไปอยู่ในที่สบายกลางวันในดาวดึงส์ ได้ยินเสียงอื้ออึง จึงไต่ถามได้ความว่า พระมหาบุรุษประสูติจากมาตุคัพโภทร พระมหาฤษีจึงมายังพระราชฐาน ถวายพระพรพระเจ้าสุทโธทนะ ถามถึงพระบรมปิโยรส พระเจ้าสุทโธทนะ ก็ให้อัญเชิญพระมหาบุรุษราชนั้นมา เพื่อจะให้นมัสการพระกาลเทวิล

ขณะนั้นควรแก่จะอัศจรรย์ พระบวรยุคลบาทของพระมหาบุรุษราช ก็ขึ้นไปประดิษฐานอยู่เบื้องบน ชฎาของพระมหาฤาษี ๆ ก็ถวายนมัสการ พระบวรบาทของพระมหาบุรุษราช แล้วจึงพิจารณาดูด้วยอนาคตังสญาณ ก็เห็นแจ้งชัดว่า พระมหาบุรุษราช จะได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นเที่ยงแท้ จึงพิจารณาต่อไปด้วยญาณจักษุ อันมีอานุภาพประดุจทิพจักษุ ก็รู้แจ้งว่าตนนั้น มีอายุน้อยจะสิ้นเสียก่อน จะหาทันได้เห็นพระพุทธองค์ไม่ นาลกผู้เป็นหลานของตน จะได้เห็นพระพุทธองค์

เมื่อรู้ดังนั้นแล้ว พระมหาฤาษี จึงไปสู่เรือนของน้องสาว ให้หานาลกผู้เป็นหลานมาแล้ว ว่าแก่นาลกว่า บัดนี้ พระโอรสพระเจ้าสุทโธทนะ ประสูติแล้ว พระองค์เป็นหน่อพุทธางกูร เมื่อพระองค์เจริญวัยได้ ๓๕ พระวัสสา จะได้ตรัสรู้บวรสมันตญาณ เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เจ้าจงบวชในวันนี้เถิด

บวชอุิทิศตนแด่มหาบุรุษ
นาลกนี้ เกิดในตระกูลอันมีทรัพย์บริบูรณ์ เมื่อลุงจะให้บรรพชา ก็รับถ้อยคำถือมั่น จะได้มีอาลัยด้วยทรัพย์มิได้ ปลงผมและหนวด ห่มผ้ากาสาวพัตร ยกอัญชลีประนมมือ อธิษฐานว่า บรรพชาของข้าพระองค์นี้ เฉพาะพระมหาบุรุษ ผู้เป็นเอกอัครบุคคล อันประเสริฐในอิธโลก อธิษฐานแล้ว ก็ถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ หันหน้าสู่พระบรมโพธิสัตว์ เข้าสู่ป่าหิมพานต์บำเพ็ญสมณธรรม

เมื่อพระมหาบุรุษ ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณมาสู่พุทธภูมิ พร้อมด้วยอัจฉจิยอัทรภูตธรรม ตามพระสัพพัญญูพุทธวิสัย เหมือนด้วยพระพุทธเจ้าแต่กาลก่อนนั้น พระนาลก ได้เข้าไปสู่สำนักของพระพุทธองค์ ถวายนมัสการแล้ว จึงทูลถามข้อโมเนยปฎิบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสเทศนาโมเนยปฎิบัติ แก่พระนาลกนั้น ด้วยบาทพระคาถาว่า

" ภิกษุผู้เห็นภัยในวัฎฎสงสาร ตถาคตจะแสดงโมเนยปฎิบัติแก่เธอ เธอจงมนสิการเถิด โมเนยปฎิบัตินี้ ยากที่บุคคลจะกระทำได้ ยากที่จะปฎิบัติให้ตลอดได้ เธอจงทรงไว้ให้มั่นคงเถิด ภิกษุผู้ประพฤติโมเนยปฎิบัตินั้น พึงกระทำจิตให้เสมอ ในสัตว์ ในบุคคลทั้งปวง อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง ในโคจรคามที่เธอเที่ยวไปบิณฑบาตนั้น ใครจะด่าว่าตัดพ้อ เปรียบเทียบเสียบแทงเธอ ก็อย่าขึงโกรธ อย่าพึงโทมนัสขัดแค้น อย่าเดียดฉัน ใครไหว้นบเคารพ ยำเกรงเธอ เธออย่ารักอย่าใคร่ เธอจงกระทำไว้ในใจเสมอ เธอพึงรักษาใจ ให้ปราศจากโทษ อย่าได้มีมานะ จะเที่ยวไปในที่ใด จงกระทำใจ ให้ปราศจากมานะ อย่ายกย่องพองตน กิริยาที่เย่อหยิ่ง ยกย่องพองตนนั้น จงขจัดเสียจากขันธสันดาน "

พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระสัทธรรมเทศนาโมเนยปฎิบัติ ให้สำเร็จด้วยยอดคือ พระอรหัต

บรรลุอรหัตตผล
เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนา นาลกปฎิบัตินั้น พระนาลกเถระ ก็ชื่นชมโสมนัส ถวายอภิวาทนมัสการ พระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าไปสู่ป่า ปฎิบัติมักน้อยเป็นอุกกฤษฎ์ โดยกำหนดที่สุด แต่คิดว่า เราจะหยุดยั้ง จะสละ ละวางความเพียรเสียก่อน จะไปเฝ้าพระพุทธองค์ ให้ได้เห็นพระพุทธองค์สักครั้งหนึ่งก่อน จึงจะกลับมากระทำเพียรต่อไป จะไปฟังพระสัทธรรมเทศนาสักครั้งหนึ่งก่อน จึงจะกลับมากระทำเพียรต่อไป จะกลับไปถามโมเนยปฎิบัติสักครั้งหนึ่งก่อน จึงกลับมากระทำเพียรต่อไป จะได้คิดโลเลอย่างนี้แต่สักครั้งหนึ่งก็หามิได้ มักน้อยในการฟัง มักน้อยในการถาม มีความมักน้อยทั้งสาม ท่านเข้าไปสู่เชิงภูเขา กระทำเพียรครั้งนี้ ที่อยู่และที่บิณฑบาตเปลี่ยนไปทุกวัน ปฎิบัติสมควรแก่โมเนยปฎิบัติ ก็ตั้งอยู่ในพระอรหัต

บำเพ็ญโมเนยปฎิบัติ อย่างอุกกฤษฎ์
พระสาวกผู้ปฎิบัติเช่นนี้ การปฎิบัติเป็นอุกกฤษฎ์ ก็คงมีชีวิตอยู่เจ็ดเดือน ถ้าปฎิบัติเป็นมัชฌิม ก็คงมีชีวิตอยู่เจ็ดปี ถ้าปฎิบัติเป็นมุทุ ก็คงมีชีวิตอยู่สิบหกปี พระสาวกผู้บำเพ็ญโมเนยปฎิบัติ มีไม่มาก พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็มีพระสาวกบำเพ็ญโมเนยปฎิบัติองค์หนึ่ง พระนาลกเถระบำเพ็ญโมเนยปฎิบัติ เป็นอุตกฤษฎ์ ท่านจนมีพระชนมชีพอยู่เจ็ดเดือน แล้วท่านก็ยืนอยู่แทบภูเขาทอง ยกอัญชลีกรประนมเฉพาะต่อพระพุทธองค์แล้ว แล้วท่านก็ยืนประนมมือเข้าสู่พระปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ มีกรรมชรูป และวิบากขันธ์ อันดับสูญมิได้เหลือเศษ

เข้าสู่พระนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่า พระนาลกเถระนิพพานแล้ว ก็เสด็จไปกับพระภิกษุสงฆ์ไปสู่ประเทศ ที่พระนาลกเถระเข้าสู่พระนิพพาน กระทำสรีรกิจปลงศพพระเถระแล้ว ก็เก็บพระธาตุของพระเถระ ประดิษฐานไว้ ในพระเจดีย์ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ก่อในประเทศนั้น

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จากหอมรดกไทย www.heritage.thaigov.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก