หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระโมฆราชเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระโมฆราชเถระ

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระโมฆราชเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัวหนึ่ง ในกรุงหัสวดี ต่อมากำลังฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดา ทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่ง เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้ทรงจีวรปอน ก็ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านทำกุศลตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

ในสมัยก่อน แต่พระกัสสปพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ท่านถือปฏิสนธิในเรือนอำมาตย์ ในนครกัฏฐวาหนะ ต่อมาเจริญวัย เฝ้าบำรุงพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ก็ได้ตำแหน่งอำมาตย์ เมื่อพระกัสสปพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้ว พระเจ้ากัฏฐวาหนะทรงสดับว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก จึงส่งท่านซึ่งเป็นอำมาตย์นั้น ไปนิมนต์พระศาสดา มายังแว่นแคว้นของพระองค์ แต่ท่านไปฟังธรรมกถาของพระศาสดาแล้วก็บวช ได้กระทำสมณธรรมอยู่ ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ท่านมีศีลบริบูรณ์ เมื่อมรณภาพ แล้วเวียนว่ายอยู่ในเทวโลก และพรหมโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระโมฆราชเถระ มาบังเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามประเพณีพราหมณ์

ออกบวชเป็นชฏิลตามพราหมณ์พาวรี
ครั้นพราหมณ์พาวรีมี ความเบื่อหน่ายในฆราวาส ได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศล ออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์

โมฆราชมาณพ พร้อมกับมาณพสิบห้าคน ออกออกบวชติดตามไปอยู่ด้วย และอยู่ในมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหา ให้ไปกราบทูลถามพระบรมศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ

ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบห้า
โมฆราชมาณพ ต้องการจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่สอง เพราะถือว่าตนเอง เป็นคนมีปัญญาดีกว่ามาณพทั้งสิบหกคน คิดจะทูลถามปัญหาก่อน แต่เห็นว่าอชิตมาณพ เป็นผู้ใหญ่กว่า และเป็นหัวหน้า จึงยอมให้ทูลถามปัญหาก่อน

พระบรมศาสดา จึงตรัสห้ามว่า โมฆราช ท่านรอให้มาณพอื่น ได้ทูลถามปัญหาก่อนเถิด โมฆราชก็หยุดอยู่ แต่หลังจากที่มาณพคนอื่น ๆ ได้ทูลถามปัญหาเป็นลำดับ ๆ กันถึงแปดคนแล้ว โมฆราชมาณพ ปรารภจะทูลถามปัญหาเป็นคนที่เก้าอีก พระบรมศาสดาก็ทรงห้ามไว้ โมฆราชก็เลยต้องนิ่งอยู่ รอให้มาณพอื่นทูลถามถึงสิบสี่คนแล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบห้าว่า
" ข้าพระพุทธเจ้า ได้ทูลถามปัญหาถึงสองครั้งแล้ว พระองค์ไม่ทรงแก้ประทาน แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินว่า ถ้าทูลถามถึงสามครั้งแล้ว พระองค์จะทรงแก้ จึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบห้าว่า โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลก กับเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหาถึงพระองค์ ผู้ทรงพระปรีชา เห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้า พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงไม่แลเห็น คือจะตามไม่ทัน "

พระบรมศาสดา ทรงตอบว่า ท่านจงเป็นคนมีสติ พิจารณาเห็นโลก โดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่า ตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะพ้นจากมัจจุราชได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจะไม่แลเห็น

บรรลุอรหัตตผล และอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ในที่สุดแห่งการปุจฉา-วิสัชนาปัญหา โมฆราชมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อพระบรมศาสดา ทรงตอบปัญหาที่ปิงคิยมาณพ ถามจบลงแล้ว โมฆราชมาณพ พร้อมด้วยมาณพสิบห้าคนทูล ขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

เอตทัคคะในทางผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง
ท่านพระโมฆราช เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ท่านยินดีในผ้าบังสุกุลจีวรที่ประกอบด้วยความเศร้าหมอง ๓ อย่าง คือ เศร้าหมองด้วยผ้า เศร้าหมองด้วยด้าย เศร้าหมองด้วยเครื่องย้อม ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง (ลูขจีวรธรานํ)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระโมฆราชเถระ เอตทัคคะในทางผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก