หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระเมตตคูเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระเมตตคูเถระ

ชาติภูมิ
ท่านพระเมตตคูเถระ เป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปมอบตัวยอมตนเป็นศิษย์พราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิต ของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยา

บวชเป็นชฏิลตามพราหมณ์พาวรี
ครั้นกาลต่อมาพราหมณ์พาวรี ออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน

เมตตคูมาณพ ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย และนับเข้าเป็นมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรี ได้ผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระบรมศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ

เมตตคูมาณพ ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สี่
เมตตคูมาณพ ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สี่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถาม ทราบมาว่า พระองค์ถึงที่สุดจบไตรเพท มีจิตอันได้อบรมดีแล้ว ทุกข์ในโลกหลายประการ ล้วนมีเหตุมาแต่อะไร?

พระศาสดา มีดำรัสตอบว่า ท่านถามเรา ถึงเหตุเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกแก่ท่าน ตามรู้เห็น ทุกข์ในโลกนี้ มีอุปธิ คือกรรม และ กิเลส เป็นเหตุ ล้วนเกิดมาก่อนแต่อุปธิ ผู้ใด เป็นคนเขลา ไม่รู้แล้ว กระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนือง ๆ เหตุนั้น เมื่อรู้เหตุว่า อุปธิเป็นตัวให้เหตุเกิดแล้ว อย่ากระทำให้อุปธินั้นเกิดขึ้น

เมตตคูมาณพ : ข้าพระพุทธเจ้าทูลถามข้อใด ก็ทรงแก้ข้อนั้น ประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระพุทธเจ้า ขอถามข้ออื่นอีก ขอเชิญพระองค์ทรงแก้ อย่างไร ผู้มีปัญญา จึงข้ามพ้นห้วงทะเลใหญ่ คือ ชาติชรา และ โศกพิไรรำพันได้ ขอพระองค์จงทรงแก้ข้อนั้น ประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมนั้น พระองค์ก็ทรงทราบแล้ว?

พระพุทธเจ้า : เราจักแสดงธรรม ที่จะพึงเห็นแจ้งด้วยตนเอง อัตภาพนี้ ไม่ต้องพิศวงตามคำของผู้อื่นว่า คือ อย่างนี้ ๆ ที่บุคคลได้ทราบแล้ว จะเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามความอยาก อันให้ติดอยู่ในโลกเสียได้ แก่ท่าน

เมตตคูมาณพ : ข้าพระพุทธเจ้ายินดีธรรมที่สูงสุดนั้น เป็นอย่างยิ่ง?
พระพุทธเจ้า : ท่านรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ในส่วนเบื้องบน (คือ อนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คือ อดีต) ในส่วนท่ามกลาง (คือ ปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความยึดมั่น ในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณของท่าน จะไม่ตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรม เป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติไม่เลินเล่อ ได้ทราบแล้ว ละความถือมั่น ว่าเป็นของเราเสียได้แล้ว จะละทุกข์ คือ ชาติชรา และโศกพิไรรำพันในโลกนี้ได้

เมตตคูมาณพ : ข้าพระพุทธเจ้า ชอบพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์คงละทุกข์ได้แน่แล้ว แม้ท่านผู้รู้ ที่พระองค์ทรงสั่งสอนอยู่เป็นนิตย์ ไม่หยุดหย่อน คงละทุกข์นั้นได้ด้วยเป็นแน่ เหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงได้มาถวายบังคมพระองค์ ด้วยตั้งใจ จะให้ทรงสั่งสอนข้าพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ไม่หยุดหย่อน เหมือนอย่างนั้นบ้าง?

พระพุทธเจ้า : ท่านรู้ว่าผู้ใดเป็นพราหมณ์ ถึงที่สุดจบไตรเพท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแล ข้ามพ้นเหตุแห่งทุกข์ได้ ดุจห้วงทะเลอันใหญ่นี้ได้แน่แล้ว ครั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นคนไม่มีกิเลสอันตรึงจิต สิ้นความสงสัย ผู้นั้นครั้นรู้แล้ว ถึงที่สุดจบไตรเพทในศาสนานี้ ละธรรมที่เป็นเหตุติดข้องอยู่ในภพน้อยภพใหญ่เสียได้แล้ว เป็นคนมีความอยากสิ้นแล้วไม่มีกิเลสอันจะกระทบจิต หาความอยากทะเยอทะยานมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นแลข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว

บรรลุอรหัตตผล และอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา เมตตคูมาณพ ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว เมตตคูมาณพ พร้อมด้วยมาณพอีกสิบห้าคน ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต ให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก