หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระมหาปันถกเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระมหาปันถกเถระ
" ครั้งนั้น เราตั้งจิตปรารถนาไว้ว่า
ถ้ายังถอนลูกศรคือตัณหา ออกไม่ได้ เราจะไม่ยอมนั่ง แม้เพียงครู่เดียว
แล้วสิ้นราตรีนั้นเอง พอพระอาทิตย์อุทัย เราก็ถอนลูกศร คือตัณหาได้หมดสิ้น "
บุพกรรมในอดีต
พระมหาปันถกะ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เป็นกุฎุมพีสองพี่น้อง ในวันหนึ่ง ท่านเห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุ ผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏฏะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ก็กระทำบุญกุศลเหมือนอย่างนั้น กระทำปรารถนาแล้ว แม้พระศาสดา ก็ทรงพยากรณ์แล้ว ทั้งสองพี่น้อง เมื่อพระศาสดาดำรงพระชนม์อยู่ กระทำกุศลกรรมแล้ว เมื่อเวลาพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้บูชาด้วยทองคำ ที่พระเจดีย์บรรจุพระสรีระ จุติจากภพนั้นแล้วไปบังเกิดในเทวโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ พระมหาปันถกะ มาบังเกิดเป็นลูกชายของธิดาของธนเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ มีน้องชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งพี่น้องทั้งสองคนนี้เดิมชื่อว่า “ปันถกะ” เหมือนกัน แต่เพราะท่านเป็นคนพี่จึงได้นามว่า “มหาปันถกะ” ส่วนคนน้องได้นามว่า “จุลปันถกะ

อยู่ในวรรณะจัณฑาล เพราะพ่อเป็นวรรณะศูทร แม่เป็นวรรณะแพศย์
ทั้งสองพี่น้อง ถือว่าอยู่ในวรรณะจัณฑาล เพราะพ่อแม่ต่างวรรณะกันโดยพ่อเป็นวรรณะศูทร ส่วนแม่เป็นวรรณะแพศย์ มารดาของท่านนั้น เป็นธิดาของธนเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญเติบโตย่างเข้าสู่วัยสาว เป็นผู้มีความงามเป็นเลิศ บิดามารดาจึงห่วง และหวงเป็นนักหนา ได้ป้องกันรักษา ให้อยู่บนปราสาทชั้นสูงสุด มิให้คบหากับบุคคลภายนอก จึงเป็นเหตุให้นาง มีความใกล้ชิดกับคนรับใช้ ซึ่งเป็นชายหนุ่มในเรือนของตน จนได้เสียเป็นสามีภรรยากัน

ต่อมาทั้งสอง กลัวว่าบิดามารดา และคนอื่นจะล่วงรู้ การกระทำของตน จึงพากันหนีออกจากบ้าน ไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอื่น ที่ไม่มีคนรู้จัก อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จนภรรยาตั้งครรภ์ เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ใกล้คลอด ได้ปรึกษากับสามีว่า ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็คงไม่ทำอันตราย ลูกของตนได้ ดังนั้น ขอให้ท่านช่วยพาดิฉันกลับไป คลอดที่บ้านเดิมด้วยเถิด การคลอดในที่ห่างไกลพ่อแม่นั้น ไม่ค่อยจะปลอดภัย

คลอดบุตรกลางทาง
ฝ่ายสามี เกรงว่าบิดามารดาของภรรยา จะลงโทษจึงไม่กล้าพาไป และได้พยายามพูดบ่ายเบี่ยง ผัดวันประกันพรุ่ง ออกไปเรื่อย ๆ จนภรรยาเห็นท่าไม่ได้การ เมื่อสามีออกไปทำงานข้างนอก จึงหนีออกจากบ้าน เดินทางมุ่งหน้า สู่บ้านเกิดของตนเอง แต่ครรภ์ของนาง ได้รับการกระทบกระเทือน จึงคลอดบุตรในระหว่าทาง

เมื่อสามีตามไปทัน และได้พบว่าภรรยาคลอดบุตร ระหว่างทางเรียบร้อยแล้ว และแม่ลูกทั้งสอง ก็แข็งแรงปลอดภัยดี กิจที่จะไปคลอดลูก ยังบ้านเกิดของตน นั้นก็เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงพากันกลับสู่บ้านของตน และได้ตั้งชื่อกุมารนั้นว่า “ปันถก” เพราะว่าเกิดในระหว่างหนทาง

ครั้นต่อมา นางได้ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สอง และเหตุการณ์ ก็เป็นเหมือนครั้งแรก นางได้คลอดลูกระหว่างทางอีก และตั้งชื่อให้ว่า “ปันถก” เหมือนคนแรก แต่เพิ่มคำว่า มหา ให้คนพี่ เรียกว่า “มหาปันถก” และเพิ่มคำว่า จุล ให้คนน้องเรียกว่า “จุลปันถก

ส่งลูกทั้งสองให้เศรษฐีผู้เป็นตาเลี้ยง
สองสามีภรรยานั้น ได้ช่วยกันเลี้ยงดูลูกทั้งสอง อยู่ครองรักกันมานาน จนกระทั่งลูกเจริญเติบโตขึ้น ได้วิ่งเล่นกับเด็กเพื่อน ๆ กัน ได้ฟังเด็กคนอื่น ๆ เรียกญาติผู้ใหญ่ว่า ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น ส่วนของตน ไม่มีคนเหล่านั้น ให้เรียกเลย จึงซักไซ้ถามจากบิดามารดาอยู่บ่อย ๆ จนทราบว่า ญาติผู้ใหญ่ของตนนั้น อยู่ที่เมืองราชคฤห์ จึงรบเร้าให้บิดามารดาไปพบท่านเหล่านั้น

จนในที่สุดบิดามารดา อดทนต่อการรบเร้าไม่ไหว จึงตัดสินใจพาลูกทั้งสองไปพบ ตา ยาย ที่เมืองราชคฤห์ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองราชคฤห์แล้ว ได้พักอยู่ที่ศาลาหน้าประตูเมือง ไม่กล้าที่จะเข้าไปหาบิดามารดาในทันที เมื่อพบคนรู้จัก จึงสั่งความให้ไปบอกแก่เศรษฐีว่า ขณะนี้ลูกสาวของท่านพาหลานชายสองคนมาเยี่ยม

ฝ่ายเศรษฐี ยังมีความแค้นเคืองอยู่ จึงบอกแก่คนที่มาส่งข่าวว่า สองผัวเมียนั้น อย่ามาให้เห็นหน้าเลย ถ้าอยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ก็จงเอาไปเลี้ยงชีพเถิด แต่ขอให้ส่งหลานชายทั้งสองคนมาให้ก็แล้วกัน

สองสามีภรรยานั้น รับทรัพย์สินเงินทองไปเลี้ยงชีวิตแล้ว ส่งลูกชายทั้งสองคน ให้มาอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตา ฝ่ายเศรษฐี ก็เลี้ยงดูหลาน ๆ ด้วยความรักใคร่ พาไปฟังพระธรรมเทศนา จากพระบรมศาสดาที่วัดเวฬุวันเป็นประจำ

เศรษฐีอนุญาตให้บวชเพราะอาย
แต่ถึงอย่างไร หลานทั้งสอง ก็สร้างความลำบากใจ แก่เศรษฐีผู้เป็นตาอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อมีคนถามว่า หลานชายทั้งสองคนนี้ เป็นบุตรของลูกสาวคนไหนของท่าน ก็รู้สึกละอายที่จะตอบ เป็นบุตรของลูกสาวคนที่หนีตามชายหนุ่มไป

ดังนั้น เมื่อต่อมา มหาปันถกะ หลานคนโต เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กล่าวขออนุญาต เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร คุณตาผู้เศรษฐี จึงรีบอนุญาตด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง พาไปบวชเป็นสามเณร

บรรลุพระอรหัตตผล
ท่านเป็นสามเณรจนอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านพยายามบำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง

รับหน้าที่เป็นภัตตุทเทศก์
พระมหาปันถก เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยกิจการพระศาสนา เป็นกำลังช่วยงานพระบรมศาสดา ตามกำลังความสามารถ พระบรมศาสดา ได้ทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่ “ภัตตุทเทศก์” ผู้แจกจ่ายภัตตาหารและกิจนิมนต์ ตามบ้านทายกทายิกา และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ ได้รับลาภสักการะโดยทั่วถึงกัน

ชักชวนน้องชายจุลปันถกะบวช
ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อยยุติธรรม จนเป็นที่พอใจของบรรดาเพื่อนสหธรรมิก และทายกทายิกาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ท่านได้รับความสุข จากการหลุดพ้นสิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ท่านได้ระลึกถึงน้องชายของท่าน ต้องการที่จะให้น้องชาย ได้รับความสุขเช่นเดียวกับตนบ้าง จึงไปขออนุญาตจากคุณตา แล้วพาจุลปันถกะ ผู้เป็นน้องชายมาบวช เป็นศาสนทายาทอีกคนหนึ่ง

เอตทัคคะในทางผู้เจริญวิปัสสนา
พระมหาปันถกะ เป็นผู้มีความชำนาญในการเจริญวิปัสสนา จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในปัญญาวิวัฏฏะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระมหาปันถกเถระ เอตทัคคะในทางผู้เจริญวิปัสสนา
ประวัติพระจูฬปันถกเถระ พระเถระผู้น้องชาย


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก