หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระมหากัปปินเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระมหากัปปินเถระ
 
บุพกรรมในอดีต

ท่านมหากัปปินเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในครอบครัวในกรุงหงสวดี ต่อมา กำลังฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้โอวาทภิกษุ ท่านทำกุศลกรรมให้ยิ่งยวดขึ้นไป จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ถือปฏิสนธิในครอบครัว ในกรุงพาราณสี เป็นหัวหน้าคณะบุรุษ ๑,๐๐๐ คน สร้างบริเวณใหญ่ ประดับด้วยห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง คนทั้งหมดนั้น กระทำกุศลจนตลอดชีวิต ยกกัปปินอุบาสก ให้เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยบุตรภรรยา บังเกิดในเทวโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ตลอดพุทธันดรหนึ่ง

สมัยพุทธกาล
ครั้งนั้น ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด ท่านกัปปินะ ถือปฏิสนธิในราชนิเวศน์ เป็นพระราชโอรสกษัตริย์ ในพระนครกุกกุฏวดี เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ต่อมา มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าอโนชาเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ในสาคลนคร แคว้นมัททรัฐ

แสวงหาข่าวพระรัตนตรัย
พระเจ้ามหากัปปินะนั้น มีม้าพระราชพาหนะห้าตัว คือ ม้าชื่อว่า พละ, พลวหนะ, ปุปผะ, ปุปผวหนะ และ สุปัตตะ เมื่อพระองค์ทรงม้าตัวใดแล้ว ก็พระราชทานม้าสี่ตัวนอกนั้น ให้แก่พวกอำมาตย์ เพื่อไปเที่ยวสืบข่าวเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ต่อมาวันหนึ่งพระองค์ทรงม้า ชื่อว่า สุปัตตะ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และอำมาตย์ราชบริพาร เสด็จไปประพาสพระราชอุทยาน ได้พบพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมาจากนครสาวัตถี ตรัสถามทราบความว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า บังเกิดขึ้นแล้วในโลก

พระองค์ทรงมีความปีติโสมนัส บังเกิดศรัทธาแก่กล้า จนกระทั่งถึงลืมพระองค์ไปชั่วขณะ และได้ทรงพระราชทานรางวัลให้แก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น ประมาณสามแสนกหาปณะ รับสั่งให้ไปรับเอาทรัพย์กับพระอัครมเหสีอีก และพระองค์ได้ทรงพระราชอักษร มอบราชสมบัติให้แก่พระอัครมเหสีฝากไปด้วย

อานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย
แล้วพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และอำมาตย์ราชบริพารประมาณพันหนึ่ง เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในระหว่างทางเสด็จไปพบแม่น้ำ ๓ แห่ง คือ แม่น้ำชื่ออารวปัจฉา แม่น้ำนีลวาหนา และแม่น้ำจันทภาคาตามลำดับ

ในแม่น้ำเหล่านั้น หาเรือแพที่บุคคลจะขี่ข้ามไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเจ้ามหากัปปินะพบแม่น้ำสายที่ ๑ ได้ทรงระลึกถึงพระพุทธคุณ แม่น้ำสายที่ ๒ ระลึกถึงพระธรรมคุณ แม่น้ำสายที่ ๓ ระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยเดชะคุณพระรัตนตรัย แม่น้ำบังเกิดเป็นน้ำแข็ง ม้าเดินไปได้โดยสะดวก

พุทธองค์เสด็จต้อนรับ
ส่วนพระบรมศาสดา ทรงทราบว่าพระเจ้ากัปปินะ ทรงสละราชสมบัติพร้อมด้วยบริวาร เสด็จมา มีพระราชประสงค์จะออกบรรพชาอุปสมบท มุ่งเฉพาะพระองค์ จึงได้เสด็จออกไปรับ สิ้นหนทางประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ประทับอยู่ใต้ร่มไทร ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ทรงเปร่งรัศมีให้ปรากฏ

พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวารเสด็จถึงที่นั่นแล้ว เสด็จลงจากหลังม้าพระที่นั่ง ทรงดำเนินเข้าไปเฝ้าตามแสงรัศมี ถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง

พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา(ทานกถา, สีลกถา, สัคคกถา, กามทีนวกถา, เนกขัมมานิสังสกถา)

บรรลุธรรมและขออุปสมบท
ในที่สุดเทศนา พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวาร ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาต ให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ส่วนนางอโนชาเทวี ผู้เป็นอัครมเหสี ได้ทราบเนื้อความพระราชสาสน์จากพ่อค้า และทรงทราบเรื่องราวแล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงประทานรางวัลให้แก่พวกพ่อค้า อีกประมาณ ๙ แสนกหาปณะ จึงรวมเป็น ๑๒ แสนกหาปณะ แล้วสละราชสมบัติ พร้อมด้วยบริวารเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ดุจนัยหนหลัง

พระองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดเทศนา พระนางอโนชาเทวีพร้อมบริวาร ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ภายหนังได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของนางภิกษุณี ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันกับทั้งบริวาร

บรรลุพระอรหันต์
ส่วนท่านพระมหากัปปินะ พร้อมทั้งบริวาร ได้สดับพระธรรมเทศนา ที่พระองค์ทรงแสดงแก่ราชเทวีนั้น ครั้นส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา พระศาสดาทรงพาภิกษุพันรูปนั้นเสด็จกลับพระเชตวัน

เที่ยวเปล่งอุทานว่า สุขหนอ ๆ
ท่านพระมหากัปปินะ ครั้นได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว มักเที่ยวเปล่งอุทานว่า อโห สุขํ อโห สุขํ แปลว่า สุขหนอ สุขหนอ เสมอ พวกภิกษุได้ยินแล้ว สำคัญว่าท่านเปล่งอุทานเช่นนั้นเพราะยังนึกถึงความสุขในราชสมบัติของตน จึงกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระศาสดา

พระองค์รับสั่งให้เฝ้า ตรัสถามทราบตามความเป็นจริงแล้วจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหากัปปินะบุตรของเรามิได้เปล่งอุทานปรารภกามสุข หรือรัชชสุข เธอเกิดความปีติในธรรม เปล่งอุทานปรารภ อมตมหานิพพาน แล้วตรัสพระคาถา ในพระธรรมบทว่า
บัณฑิตมีใจผ่องแผ้วแล้วมีปีติในธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ยินดีในธรรม ที่พระอริยะประกาศแล้วทุกเมื่อ

ส่วนท่านมหากัปปินะไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล

เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทภิกษุ
คราวแรกท่านไม่กล้าจะทรงสั่งสอนใคร เพราะยังไม่ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ภายหลังท่านได้รับพระบรมพุทธานุญาต ให้เป็นผู้สั่งสอนบริวารของท่านพันรูปให้ได้สำเร็จพระอรหัตผล

ต่อมา พระศาสดาประทับท่ามกลางสงฆ์ ทรงปรารภความสามารถของท่าน ในเรื่องนี้ให้เป็นต้นเหตุ จึงได้ทรงยกย่องท่านในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้โอวาทภิกษุ (ภิกฺขุโอวาทกานํ) เพราะท่านสามารถแสดงธรรมแก่พระภิกษุพันรูป ให้บรรลุพระอรหัตต์ได้หมดทุกรูป ในคราวเดียวกัน.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระมหากัปปินเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทภิกษุ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก