หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระโกณฑธานเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระโกณฑธานเถระ
" ภิกษุที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ข้ามโอฆะ (ห้วงน้ำคือกิเลส) ได้นั้น
ต้องล่วงพ้นกิเลสเครื่องทำให้ข้องติด ๕ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ "

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระโกณฑธานะ ในกาลของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านเกิดในเรือนสกุล ในพระนครหังสวดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังธรรมอยู่ เห็นภิกษุรูปหนึ่ง อันพระศาสดาทรงแต่งตั้งไว้ ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศแห่งภิกษุ ผู้จับสลากได้ก่อน

ปรารถนาตำแหน่งนั้น กระทำบุญสมควรแกฐานันดรนั้น ท่องเที่ยวไปแล้ว ครั้นวันหนึ่ง ได้น้อมถวายเครือกล้วยใหญ่สีเหลือง เหมือนจุณแห่งมโนศิลา แดพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ประทับนั่ง พระผู้มีพระภาคทรงรับเครือกล้วยนั้นเสวย

ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านเสวยราชสมบัติ ในหมู่เทพ ๑๑ ครั้ง ได้เป็นพระจักรพรรดิ ๒๔ ครั้ง กระทำบุญบ่อยๆ อย่างนี้ แล้วท่องเที่ยวอยู่ในภพภูมิ ของเทวดและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นภุมมเทวดา ในกาลของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสปะ ได้ก่อการทำอกุศลกรรมร้ายแรง โดยสร้างความแตกแยก ให้เกิดขึ้นแก่พระภิกษุสองรูป ด้วยการแปลงรูปเป็นหญิง ทำทีว่ามีสัมพันธ์ทางเพศกับภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อให้ภิกษุอีกรูปหนึ่งเข้าใจผิด ท่านต้องหมกไหม้อยู่ในอบายภูมิ ถึงพุทธันดรหนึ่ง

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระโกณฑธานะ (ท่านธานะผู้ลามก ผู้ชั่วช้า ธาโน โกณฺโฑ ชาโต) มาบังเกิดเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่า ธานมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาศิลปวิทยา ของพราหมณ์จบไตรเพท

มีหญิงสาวเที่ยวติดตามทุกย่างก้าว
ภายหลัง ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่วันที่ได้อุปสมบท ปรากฏมีรูปหญิงรูปหนึ่ง เที่ยวติดตาม ไปข้างหลังของท่าน แต่ท่านไม่เห็นรูปนั้น มีแต่คนอื่นเห็น เพราะอกุศลกรรมเก่า ที่เคยทำไว้เมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า

ครั้นท่านเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน พวกมนุษย์ได้ถวายภิกษาแก่ท่านสองส่วน แล้วพูดว่า นี้ส่วนของท่าน นี้ส่วนของหญิงสหายของท่าน ตั้งแต่นั้นมา พวกมนุษย์ จึงพากันเรียกท่านว่า โกณฑธานะ

เหล่าภิกษุต่างตั้งแง่รังเกียจ
ส่วนพวกภิกษุ ผู้ไม่ได้รู้ความจริง เห็นเช่นนั้น เกิดความรังเกียจ กลัวว่าจะเกิดโทษแก่พวกตนด้วย จึงบอกให้อนาถบิณฑิกเศรษฐี ขับไล่ออกเสียจากวิหาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ไม่ขับไล่ จึงบอกแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางวิสาขาก็ไม่ขับไล่เหมือนกัน

พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพิสูจน์ความจริง
เรื่องราวของท่านนั้น ทราบไปถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้เป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภ์ ทรงมี พระดำริ ที่จะกำจัดมลทินพุทธศาสนาให้สิ้นไป จึงเสด็จไปยังที่อยู่ของพระธานเถระ

ขณะนั้น พระธานเถระ อยู่ในห้อง เมื่อทราบว่าพระราชาเสด็จมา จึงออกไปรับเสด็จข้าง นอก ภาพที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทอดพระเนตรเห็น ก็คือภาพหญิงสาวยืนอยู่ข้างหลัง พระธานเถระ สมจริงดังข่าวลือ จึงเสด็จเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อทอดพระเนตรให้เห็นชัด แต่ภาพนั้น กลับหายไป จึงขออนุญาตท่าน เข้าไปตรวจดูภายในห้อง ทรงตรวจดูด้วยพระองค์เองอย่าง ละเอียด แต่ก็ไม่พบหญิงสาวคนนั้น จึงเสด็จออกมาข้างนอก ประทับยืนที่เดิม ก็ทอดพระเนตร เห็นภาพหญิงสาวนั้นเหมือนเดิมอีก

พระองค์ทรงทดลองเสด็จพระดำเนินเข้า ๆ ออก ๆ หลายครั้ง จนแน่พระทัยว่า รูปหญิงสาวนั้น ไม่ใช่ของจริง คงเป็นรูป ที่เกิดขึ้นจากกรรมเก่าของท่านเอง ทรงแน่พระทัยว่า มิใช่ความประพฤติผิดลามก อย่างที่เป็นข่าวลือกัน ทรงพระดำริว่า “พระเถระคงจะลำบาก ด้วยอาหารบิณฑบาต อันเนื่องจากประชาชนรังเกียจท่าน” จึงกราบนมัสการนิมนต์ให้ท่าน เข้าไปบิณฑบาตในพระราชวังทุกวัน ทรงให้ความอุปถัมภ์บำรุงท่านด้วยปัจจัย ๔ มิให้ท่านต้องวิตกกังวลใด ๆ อีกต่อไป

บรรลุอรหัตตผล พร้อมกับภาพหญิงสาวก็หายไปด้วย
ตั้งแต่นั้นมา ท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะได้รับอาหารที่ดี สุขภาพจิตก็ดีขึ้น เพราะไม่มีคำพูดเสียดสี ต่อว่า เยาะเย้ยเป็นต้น ท่านจึงมีโอกาสบำเพ็ญวิปัสสนา กรรมฐานอย่างเคร่งครัด ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รูปหญิง สาวก็หายไป ไม่ปรากฏอีกเลย

เอตทัคคะในทางผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง
ต่อมา ได้มีมหาอุบาสิกา นามว่าสุภัททา กราบอาราธนาพระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์ ๕๐๐ รูป ไปสู่อุคคนคร เมื่อถึงเวลาแจกภัตตาหาร พระอานนท์เถระรับหน้าที่แจกสลากแก่ ภิกษุสงฆ์ ขณะนั้นท่านพระกุณฑธานเถระ ได้แสดงอภินิหาร เหาะขึ้นไปบนอากาศ บันลือสีหนาทแล้ว ขอจับสลากก่อนซึ่งพระอานนท์เถระ ก็ให้ท่านจับก่อนตามประสงค์ แม้ในการ แจกภัตรด้วยสลากครั้งอื่น ๆ ท่านก็จะบันลือสีหนาท และขอจับสลากเป็นท่านแรกทุกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลาย ในทาง ผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระโกณฑธานเถระ เอตทัคคะในทางผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก