หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระอัสสชิ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระอัสสชิ
" ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ
พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับ ของธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะ มีวาทะอย่างนี้ "

ชาติภูมิ
ท่านพระอัสสชิ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในเมืองกบิลพัศดุ์นคร พราหมณ์ผู้เป็นบิดา ได้เห็นพระมหาบุรุษ มีพระลักษณะ ถูกต้องตามตำราลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ ในคราวที่ได้รับเชิญเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะของพระองค์ จึงได้มาบอกเล่าให้ท่านฟัง และสั่งไว้ว่า บิดาก็แก่เฒ่าชราแล้ว เห็นจะไม่ทันเห็นพระองค์ ถ้าพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชเมื่อใด ให้ออกบวชตามเสด็จเมื่อนั้น ตั้งแต่นั้นมาท่านมีความเคารพนับถือ และเชื่อในพระองค์เป็นอันมาก เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชแล้ว และกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ท่านได้ทราบข่าวจึงพร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญะพราหมณ์เป็นหัวหน้า พากันออกบวชตามเสด็จ คอยเฝ้าปฏิบัติพระองค์อยู่ทุกเช้าค่ำ ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ถึง ๖ ปี ยังไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันใด ทรงทราบแน่ในพระทัยว่า ไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยานั้นเสีย ตั้งพระทัยบำเพ็ญเพียรในทางใจสืบต่อไปฯ ทว่าท่านเข้าใจว่า พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ในกิเลสกามคุณเสียแล้ว เห็นจะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษ อันใดอันหนึ่งเป็นแน่นอน จึงเกิดความเบื่อหน่ายพากันละทิ้งพระองค์เสีย แล้วหลีกไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสีฯ ครั้นพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรในทางใจได้ตรัสรู้แล้ว จึงเสด็จไปตรัสเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร โปรดเป็นปฐมเทศนา และวันต่อมา ตรัสปกิรณกเทศนา ท่านได้สดับเทศนานั้น พอเป็นเครื่องปลูกความเชื่อแลเลื่อมใส แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดไม่ ครั้นได้สดับ ปกิรณกเทศนา ที่พระองค์ตรัสในวาระที่สี่ ท่านได้ดวงตาเห็นธรรมฯ

อุปสมบท
ท่านได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงรับให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ครั้นกาลต่อมาได้ฟังเทศนา อนัตตลักขณสูตร ที่พระองค์ทรงแสดง ในลำดับ ปกิรณกเทศนา นั้น ท่านพร้อมด้วยภิกษุ ๔ รูป คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็น พระอเสขบุคคล ก่อนกว่าพระอริยสาวกทั้งหมดฯ

การบำเพ็ญประโยชน์ (ประกาศพระศาสนา)
ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนาในตอนปฐมโพธิกาล ท่านองค์หนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ช่วยเป็นกำลังประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ปรากฏว่าท่านเป็นผู้เฉลียวฉลาด รู้จักประมาณตน ไม่โอ้อวด หรือเย่อหยิ่ง กิริยามารยาท ก็เป็นที่น่าเลื่อมใส

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ ประเวฬุวัน ในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ อุปติสสปริพพาชก เดินมาแต่สำนักของปริพพาชก ได้เห็นท่านเข้าเกิดความเลื่อมใส จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านกล่าวว่า ผู้มีอายุ เราเป็นคนใหม่บวชไม่นาน พึ่งมายังพระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านโดยกว้างขวาง เราจักกล่าวแก่ท่านโดยย่อพอรู้ความ แล้วท่านก็แสดงธรรมแก่ อุปติสสปริพพาชกพอเป็นเลา ๆ ความว่า...

เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ

“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุของธรรมนั้น
และความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้”

อุปติสสปริพพาชก ได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วท่านก็ได้ชักนำ ให้ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ภายหลังปรากฏว่า อุปติสสปริพพาชก ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา มีนามว่า สารีบุตร เป็นอัครสาวกฝ่ายขวา จัดว่าท่านพระอัสสชิ ได้ศิษย์สำคัญองค์หนึ่ง ท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธ์ปรินิพพานฯ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก http://www.geocities.com/piyainta
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก