หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
๑ มกราคม ๒๔๓๑ - ๒๑ กันยายน ๒๔๙๙
วัดป่าบ้านคุ้ม ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี
--------------------
หลวงปู่ทองรัตน์ เที่ยวธุดงค์สู่ประเทศลาวบ่อยๆ ครั้งหนึ่งท่านพระอาจารย์อวน ปคุโณ ได้ธุดงค์ติดตามไปกับหลวงปู่กินรี เพื่อกราบคารวะที่บริเวณดอนพระเจ้า บ้านบุ่งแมง ใกล้บ้านแพงริมฝั่งโขง ซึ่งหลวงปู่ทองรัตน์ ได้มาพำนักปฏิบัติธรรมที่นี่มากกว่า 7 วันแล้ว จึงทราบเรื่องอัศจรรย์ของหลวงปู่ว่า มีนายฮ้อยช้างได้นำช้างโขลงหนึ่ง 16 ตัวเดือนทางผ่านจะไปเวียงจันทน์ เมื่อมาถึงป่าบริเวณดอนพระเจ้า ให้ช่วยทำพิธีขอขมากราบคารวะพวกภูมิภูตผีต่างๆ ในโขงเขตนี้ โขลงช้างก็ยังใช้งวงกอดรัดต้นไม้อยู่เหมือนเดิม ชาวบ้านจึงแนะนำให้นายฮ้อยช้าง ไปกราบคารวะหลวงปู่ทองรัตน์ หลวงปู่ทองรัตน์กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องของพ่อ แต่ว่าช้างมันหิว นายฮ้อยช้างตอบว่าพวกกระผมเพิ่งให้พัก และเลี้ยงอาหารมาอิ่มใหม่ๆ ขอได้กราบนมัสการหลวงปู่แล้วยกขันธ์ 5 นมัสการ เมื่อเดินทางไปยังโขลงช้าง เห็นช้างกินใบไม้อยู่ตามปกติ ลูกศิษย์จึงนมัสการถามหลวงปู่กินรี ท่านบอกว่าเป็นอภินิหารของหลวงปู่ทองรัตน์ เพราะเคยเห็นเคยรู้จักมาหลายครั้งที่ร่วมเดินธุดงค์ร่วมกันมากว่า 5 ปี

หลวงปู่กินรี กล่าวตอบว่า หลวงปู่ทองรัตน์อยู่คนเดียว ก็มีการแสดงธรรมโดยส่วนมากจะเป็นเวลากลางดึกที่สานุศิษย์ได้พักผ่อนจำวัดแล้ว แต่ท่านยังมีการเทศน์มีเสียง การถามการตอบปัญหาคล้ายกับมีคนไปถามปัญหาตอบปัญหา หลวงปู่กินรีคิดว่าท่านมีอะไรสำคัญอยู่กับตัวท่าน คล้ายกับมีเทวดามาถามปัญหา จึงแสดงธรรมแก้ปัญหาข้อธรรมคำถามต่างๆ

พระอาจารย์อวน ปคุโณ ได้เล่าถึงหลวงปู่ทองรัตน์ไว้ว่า ไม่มีวัดอยู่ อยู่ร่มไม้ กระท่อมไม้ตลอด เป็นกุฏิกระต๊อบเพียงเพื่ออาศัยอยู่สัปดาห์เดียว เพราะท่านรักการเดินธุดงค์ บริขารบาตรใบเดียว ตั้งแต่บวชจนมรณะภาพ สันโดษมักน้อยที่สุด นิสัยอย่างหนึ่ง คือไม่ยอมให้ลูกศิษย์ติดตามหรืออยู่ใกล้ พบศึกษาข้อธรรมแล้วให้แยกหนี กุฏิที่ชาวบ้านศรัทธาสร้างให้สวยๆ จะไม่ฉลองศรัทธา ซึ่งยังตำหนิว่าคนไม่มีปัญญาชอบกุฏิที่สร้างวัดเดียวเสร็จ ไม่รักสวยรักงามให้ทำง่ายๆ เพราะไม่นานก็ธุดงค์ไป หลวงปู่เคยจำพรรษาระหว่างฝั่งโขง-บ้านสามผง บ้านพงพะเนา บ้านศิริวันชัย อ.ศรีสงคราม นครพนม บ้านดงชน บ้านดงมะเกลือ และบ้านไผ่ล้อม บ้านโนนหอม อ.เมือง สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี แขวงจำปาศักดิ์ และเขมรตอนบน

พระอาจารย์อวน ได้เล่าต่อว่า ที่วัดป่าผาศรีคุณ อำเภอนาแก มีคนเอากบมีชีวิต ไก่มีชีวิตแม้กระทั่งขี้ความใส่บาตรท่าน ด้วยสำคัญผิดคิดว่าท่านเป็นพระมักได้ ชาวอำเภอนาแกบางคนไม่ชอบทำบุญ หลวงปู่ทองรัตน์มีเมตตาสูงส่ง อยากให้ได้บุญจึงตะแคงบาตรรับบิณฑบาตของญาติโยม แหล่งชุมชนที่ไม่ชอบให้ทานไม่อยากทาน ยิ่งชอบไปโปรดอย่างๆ แม้ผ้ากฐินที่ท่านนำมาเย็บเป็นจีวร ยังถูกทำลายฉีกทิ้งขณะที่ไปบิณฑบาตร ญาติโยมบางคนเกลียดชังท่าน ท่านพูดคล้ายดุแต่ใจไม่ดุ

พระอาจารย์คำดี พระผู้น้องของหลวงปู่บุญมี แห่งอำเภอหนองไผ่-วีเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เป็นชาวยโสธร ผู้อยู่ร่วมและปรนนิบัติพระอาจารย์ทองรัตน์ ตั้งแต่ครั้งอยู่สกลนคร เรื่อยมาจนถึงอุบลราชธานี ท่านได้เล่าให้ฟังว่าอุปนิสัยของท่านครูบาอาจารย์ น่าเกรงกลัวมาก กิริยาท่าทางดุ วาจาโผงผาง เสียงดัง ลูกศิษย์อยู่ด้วยได้ไม่นาน ยิ่งผู้ปฏิบัติหย่อนยาน ไม่ซื่อตรงต่อตนเอง หลอกลวงตัวเอง มีภูมิจิตภูมิธรรมตัวไม่ก้าวหน้า ปฏิบัติธรรมฝึกจิตบางขณะเวลา ต้องโดนเล่นภูมิจิต โดนทอสอบอารมณ์ ตรวจสอบอารมณ์อยู่ตลอดเวลาว่า ยินดียินร้ายในรูปรสกลิ่นเสียงหรือไม่ ลูกศิษย์เกือบทุกคนจึงกลัวท่านครูบาอาจารย์มาก ท่านอาจารย์คำดีเล่าต่อว่า ท่านครูบาอาจารย์ทองรัตน์มักใช้คำว่า "พ่อ" กับลูกศิษย์ การที่จะอยู่กับครูบาอาจารย์ได้นานนั้น จิตต้องภาวนาอยู่ตลอดเวลา จดจ่อต่อธรรมะจิตส่ายออกทางโลกธรรมไม่ได้ เพราะท่านเฝ้าตรวจสอบ การปฏิบัติจิตของลูกศิษย์อยู่เสมอ พอท่านเรียกจิตเราจะต้องรู้ความประสงค์ของท่านแล้ว ปฏิบัติถวายท่าน พระอาจารย์คำดีท่านคือท่านที่อยู่ป่าช้านาป่าคอง อ.นาแก ที่พระอาจารย์ชาได้ไปสนทนาธรรม ขออุบายธรรม การปฏิบัติธรรมอยู่ป่าช้า ซึ่งเป็นนิสัยปกติของพระอาจารย์คำดี (ซึ่งในประวัติของหลวงปู่ชา ผู้เขียนบางท่านคิดว่าเป็นพระอาจารย์คำดี ปภาโส แต่ความจริงแล้วไม่ใช่) ครั้งไปกราบหลวงปู่มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นยังพูดว่า "อ่อ ได้ยินเขาว่าห้าวหาญไม่กลัวผีกลัวภัย กลัวตาย ไม่ใช่รึ" ท่านเป็นชาวบ้านทรายมูล ยโสธร ซึ่งเป็นพระปฏิบัติธรรม มหานิกายรูปหนึ่ง ณ ป่าช้าแห่งหนึ่ง หลวงปู่ชาจึงได้พบสหธรรมมิก ที่ต่อมาได้ร่วมทางธุดงค์ด้วยกันคือ พระอาจารย์ปุ่น ฉนฺทาโร วัดป่าฉันทาราม บ้านคำแดง ยโสธร ซึ่งเป็นมหานิกายเช่นเดียวกัน ท่านพระอาจารย์ทองดี และพระอาจารย์อวนเล่าตรงกันว่า ลูกศิษย์ที่ภาวนาไม่ถึงปฏิบัติไม่จริง จะถูกท่านอาจารย์ทองรัตน์เรียกหาบ่อย ถ้าไม่ปฏิบัติไม่รู้จักนิสัยจะอยู่ไม่ได้ ใครเห็นผิดมีทิฐิมานะ ปฏิบัติผิดทุกเช้าช่วงฉันอาหาร ท่านจะอบรมสั่งสอนทันที ทำไม่ดีอยู่ไม่ได้ท่านชอบทดสอบลูกศิษย์เป็นประจำ ชัดชวนให้ลูกศิษย์ทำผิด ถ้าใครทำตามท่านจะว่าคนไม่มีปัญญา พระอาจารย์ปุ่นมักจะเล่า หรือยกตัวอย่างท่านครูบาจารย์ทองรัตน์อยู่เสมอ โดยเฉพาะความสันโดษ ไม่สะสมสิ่งใดๆ ชีวิตเรียบง่าย ประหยัด กุฏิก็อยู่หลังเก่าๆ เล็กๆ มุงหญ้าคาหญ้าแฝก ยกพื้นขึ้นนิดพอดีนั่งถึง ไม่ต้องขึ้นบันได ใครมาสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ ก็ไม่อยู่ชอบ อยู่กุฏิเดิม เช่นเดียวกับบูรพาจารย์ท่านหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น

บางคนไม่เข้าใจอุบายที่ท่านกระทำ เพื่อให้ญาติโยมได้ทำบุญตักบาตร ท่านใช้อารมณ์ขันแม้เวลาไปบิณฑบาตร บางคนอาจมองว่าพระอะไรไม่สำรวม ข้าวไม่สุกก็ยืนคอยจนข้าวสุก หลวงพ่อจะบิณฑบาตร ไม่เคยขาดแม้ในวัยชรา ท่านจะไปทุกหลังคาเรือน ถามว่าข้าวสุกหรือยัง มาตักบาตรพ่อด้วย แม้ฝนตก ท่านก็บอกว่าเดี๋ยวจะเปียกไม่ต้องออกมา และท่านจะเดินเข้าไปถึงบันไดบ้าน

เนื่องจากชาวบ้านคุ้มเป็นบ้านป่า ไม่คุ้นเคยกับพระ และการทำบุญตักบาตรท่านจึงฝึกหัด และออกอุบายให้ชาวบ้านตักบาตรทุกวัน จนต่อมาทุกครัวเรือนก็ทำบุญตักบาตร และเข้าวัดฟังธรรม

เมื่อครั้งครูบาจารย์ทองรัตน์ พำนักที่บ้านดอนหอม สกลนคร ท่านพระอาจารย์อวนเล่าว่า วันหนึ่งครูบาจารย์ไปบิณฑบาต ได้แต่ข้าวปล่าวๆ ท่านจึงพูดว่า บ้านโนนหอมใส่บาตร มีแต่ให้หมากิน ไม่มีข้าวให้คนกิน ไม่เหมือนบ้านสามผง ชาวบ้านโนนหอมโกรธมาก หลายปีต่อมาชาวบ้านถือข้าวไปทำไร่ ลืมเอากับข้าว นั่งกินเปล่าๆ เหมือนกับที่เคยโยน ก้อนข้าวเหนียวให้หมากิน จึงนึกถึงคำพุดของหลวงปู่

ด้วยการที่ไม่ติดในเสนาะสนะ และสันโดษของพระอาจารย์ทองรัตน์ ท่านจึงจำพรรษาอยู่ที่ใดไม่นาน ก็ย้ายที่ไปเรื่อยๆ หลวงปู่กิ ศิษย์คนหนึ่งของท่านเล่าว่า ท่านเคารพนับถือพระอาจารย์เสาร์มาก และมีสัญญากับหลวงปู่เสาร์ในการมาสร้างวัดที่บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ปี พ.ศ. 2480-2481 พระอาจารย์เสาร์ได้ลาหลวงปู่มั่น เดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างและขยายวัด ทางจังหวัดอุบลราชธานีที่ท่านเคยพำนัก และเป็นบ้านเกิดมาก่อน ให้เจริญรุ่งเรือง หลวงปู่เสาร์ได้ให้หลวงปู่ทองรัตน์ ไปสร้างวัดป่าบ้านชีทวนขึ้น และหลวงปู่เสาร์เอง ได้ไปสร้างวัดที่บ้านป่าโคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ติดต่อ ระหว่างอำเภอเขื่องใน กับอำเภอเมือง อุบลราชธานี หลวงปู่ทองรัตน์ได้จำพรรษา และพำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านชีทวนนานถึง 9 ปี เมื่อหลวงปู่เสาร์ได้มรณภาพลง ที่นครจำปาศักดิ์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลวงปู่ทองรัตน์ก็ได้ธุดงค์ต่อไป แม้ชาวบ้านทัดทานอย่างไรท่านก็ยังจากไป

ในปีหนึ่งท่านได้ธุดงค์ไปถึงบ้านคุ้ม ตำบลหนองไฮ อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบัน บ้านคุ้มขึ้นอยู่กับตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง) ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนบท ห่างจากบ้านนาส่วง อำเภอเดชอุดมประมาณ 17 กิโลเมตร ในสมัยนั้นไม่มีทางรถยนต์เข้าหมู่บ้าน มีแต่ทางเกวียนชาวบ้านยังไม่มีวัด บางคนก็นับถือผี อุปนิสัยคนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นชาวส่วยเป็นลาว เป็นผู้ไม่คุ้นเคยกับพระและวัด หมู่บ้านนี้ยังไม่เจริญ ทั้งห่างไกลที่ตั้งอำเภอประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร เป็นหมู่บ้านกันดาร

พ่อใหญ่เขียน ศรีสุธรรม ชาวบ้านคุ้ม ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากคนสำคัญที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้เล่าว่า ครั้งแรกที่ท่านหลวงปู่มาถึงบ้านคุ้ม ไม่ทราบว่าท่านมาทางไหน อย่างไร มาถามชาวบ้านว่า ป่าช้าหมู่บ้านอยู่ตรงไหน ชาวบ้านก็ชี้มือไปทางใต้หมู่บ้าน คืนแรกที่มาถึง หลวงปู่ได้ไปบำเพ็ญภาวนา และปักกดที่กลางป่าใต้หมู่บ้าน ซึ่งกลางป่าแห่งนี้ มีเนินดินบริเวณ กว้างประมาณ 6 ไร่ เนินแห่งนี้ เดิมรกทึบมาก มีเถาวัลย์ขึ้นเต็ม และชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปในเนินนี้เพราะเชื่อว่าเจ้าที่แรง ใครไปเก็บลูกสบ้าจากเนินนี้มา ก็จะมีอันเป็นไป เป็นไข้ตายบ้าง หรืออื่นๆ ชาวบ้านจึงกลัวมาก

หลวงปู่ทองรัตน์ ได้ไปอาศัยโคนไม่ในดงนี้ เป็นที่บำเพ็ญภาวนา มีชาวบ้านศรัทธาในปฏิปทาของท่าน เข้าไปกราบนมัสการ และช่วยเหลือท่าน และคอยรับใช้หลายคน และหลวงปู่ได้ตัดสินใจสร้างเป็นวัด แต่ระยะแรก ก็เพียงถากป่าให้โล่ง ปลูกศาลา และกุฏิมุงหญ้าพอได้อาศัย นานวันเข้าก็มีผู้เลื่อมใสมาเป็นศิษย์มากขึ้น แม้จะสร้างเป็นวัดหลายปี มีพระเณรลูกศิษย์มาฝากตัวจำพรรษา พำนักอยู่ด้วยปีละ 20 กว่ารูป หลวงปู่ทองรัตน์ก็ไม่ได้สร้างวัดใหญ่โต คงให้ญาติโยมสร้างพอได้อาศัยให้พอแก่พระเณร ท่านได้ปรารภกับลูกศิษย์ว่า ท่านจะไม่ไปไหน จะตายที่นี้ พ่อใหญ่สอน นามฮุม ศิษย์อีกคนที่เคยบวชกับหลวงปู่แม้เพียง 1 พรรษา ก็ยังซาบซึ้งในตัวหลวงปู่ และเล่าว่าหลวงปู่ไปๆ มาๆ ออกพรรษาแล้ว จะธุดงค์ไปครั้งละนานๆ เมื่อเข้าพรรษาจึงกลับมาวัด ท่านพำนักอยู่ที่วัดบ้านคุ้ม นานประมาณ 10 ปีกว่า จึงนับเป็นวัดอีกวัดหนึ่ง ที่หลวงปู่ทองรัตน์จำพรรษาอยู่นาน หลังจากออกจากสำนักหลวงปู่มั่นแล้ว

ธรรมโอวาท
พ่อใหญ่สอน นามฮุง ได้เล่าถึงการสั่งสอนศิษย์และญาติโยมว่า หลวงปู่เอาใจใส่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงค์วัตร สม่ำเสมอ ท่านพูดน้อย ทำมาก และเอาใจใส่ลูกศิษย์ทุกคน และสั่งสอนให้เอาตัวอย่างท่านในการปฏิบัติ ลูกศิษย์เคารพยำเกรงท่านมาก ไม่มีใครกล้าทำผิด การฉันจะ ฉันครั้งเดียว ฉันในบาตร ไม่ออกปากขอ หากมิใช่ญาติ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ถึงแม้ท่านจะอารมณ์ขัน บางคนหาว่าท่านไม่สำรวม แต่จริงๆ แล้ท่านสำรวมระวัง และสั่งสอนพระเณรให้สำรวมระวังอย่างยิ่ง ข้าวที่ท่านฉัน ท่านจะแยกเอาไว้ จากที่เขาเจตนาตักบาตร ส่วนที่ท่านออกอุบายให้เขาตักบาตร ท่าจะแยกไว้ต่างหากและให้ทานแก่ญาติโยม

พระอาจารย์ปุ่น ฉนฺทาโร เล่าให้ฟังว่า การแสดงธรรมอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ ของท่านครูบาจารย์ใหญ่ทองรัตน์นั้น สูงมากกิริยาวาจาดุดัน รุนแรงแต่จิตใจจริงๆ ไม่มีอะไร ครั้งหนึ่ง มีศิษย์ไปถามเรื่องวิธีการปฏิบัติธรรม ท่านครูบาจารย์พูดเสียงดังมาก พร้อมกับชี้ไปที่ตอไม้ใหญ่ใกล้ๆ กุฏิของท่านว่า เห็นตอไม้ไหมนั้น ทำอย่างตอไม้นั่นละ ครั้งหนึ่งพระอาจารย์ปุ่น และสานุศิษย์ได้ติดตามธุดงค์ระหว่างทาง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีหญิงชาวบ้าน มาร้องห่มร้องไห้คร่ำครวญกับท่านครูบาจารย์ทองรัตน์ที่ลูกชายได้ตายจากไป ให้ช่วยชีวิตคืน ท่านครูบาอาจารย์จึงพูดขึ้นว่า "ให้มันตาย ให้มันตายหมดโคตร หมดเชื้อหมดแนวมัน หมดพ่อ หมดแม่มัน"

หญิงคนนั้น หยุดร้องไห้ฟูมฟายทันที แล้วท่านจึงเทศนาโปรดอบรมให้คลายทุกข์คลายโศรกร่ำพรรณนา ให้เข้าใจรู้เท่าทันวัฎสังขาร อีกครั้งหนึ่ง ขณะพักธุดงค์ระหว่างทาง การแสวงหาที่วิเวก ชาวบ้านหามไก่มาหลายตัวทั้งตัวผู้ตัวเมีย ท่านครูบาจารย์ทองรัตน์จึงถามคณะลูกศิษย์ที่ติดตามว่า "เขาหามอะไรนี่" บางรูปก็ว่าไก่ตัวผู้ บางรูปก็ว่าไก่ตัวเมีย บางรูปก็ว่าไก่ตัวผู้ตัวเมีย ถกเถียงกัน ท่านพระอาจารย์จึงตะโกนดังๆ ว่า "มันสิไก่ตัวผู้ ตัวเมียได้อย่างไร มันไม่ใช่ตัวผู้ตัวเมียไม่ใช่ไก่ เป็นสิ่งสมมติทั้งนั้นละ" อย่าติดสมมติ พระอาจารย์อวน ปคุโน ลูกศิษย์ที่ได้ศึกษาธรรม ในช่วงตอนหลายชีวิตของท่านได้เล่าว่า ธรรมโอวาทที่ครูบาอาจารย์ย้ำเตือนอยู่เสมอคือ พระวินัยและศีล ใช้แนะนำปฏิบัติเบื้องต้น จะแนะนำวินัย มีวินัยเป็นวัตรวินัยจะทำให้เกิดศีลบริสุทธิ์ ทำศีลให้บริสุทธิ์ ศีลจะนำไปสู่การเป็นสมาธิ เกิดสมาธิจะนำไปสู่การเกิดปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง รักษาวินัยให้แน่วแน่ ตั้งจิตให้เป็นหนึ่ง พิจารณาขันธ์ 5 ท่านจะไม่เทศน์พรรณนาอย่างกว้างขวาง หรือแยบยลแต่ให้ปฏิบัติ

โอวาทที่ท่านเน้นในการสอนญาติโยมก็คือ เน้นการให้ทาน การรักษาศีล และสมาธิ สำหรับการอสนพระเณร หลวงพ่อเน้นข้อวัตรปฏิบัติธรรมวินัย ให้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ให้สำรวมระวังรวมทั้งธุดงควัตร การปฏิบัติภาวนา การมีสติ เป็นคนมักน้อยสันโดษ

พ่อใหญ่สอน นามฮุง เล่าว่าหลวงปุ่เป็นผู้มีฌานที่น่าประหลาด และหลายครั้งที่ท่านได้ประสบ ท่านสามารถหยั่งรู้จิตคน บางคนไม่เคยไปหาท่านเลย เมื่อพบหน้าท่านก็เรียกชื่อถูก ครั้งหนึ่ง มีโยมเอากล้วยมาถวาย และซ่อนกล้วยไว้ก่อนเข้าวัด เมื่อไปถึงถวายกล้วย ท่านก็ทักขึ้นว่า "โยมเสี่ยงกล้วยไว้ดีบ่ละ ญ่านลิงมันเอาไปกินก่อนเด้" (โยมซ่อนกล้วย ไว้ดีไหมละ กลัวลิงมันจะเอาไปกินก่อนนะ) จนผู้ถวายกล้วยอาย และยอมรับกับหลวงปู่

แม้แต่วาระสุดท้ายที่ท่านจะมรณภาพ ศิษย์ทั้งหลายก็เชื่อว่าท่านรู้ล่วงหน้าเป็นที่น่าอัศจรรย์ พ่อใหญ่เขียนและพ่อใหญ่สอนช่วยกันเล่าว่า ในปีที่ท่านจะมรณภาพ ท่านบอกให็ญาติโยม รวมทั้งพ่อใหญ่ทั้งสอง ช่วยกันหาฟืนมาไว้เต็มโรงครัวถึง 4 ห้อง ท่านบอกว่าปีนี้จะมีการใช้ฟืนมาก ในต้นเดือนกันยายน ท่านให้ทำประตูโขงเข้าวัด จะมีรถยนต์มามาก ชาวบ้านแปลกใจมาก เพราะตั้งแต่เกิดไม่เคยมีรถยนต์เข้ามาถึงหมู่บ้านเลย เหมือนกับว่าท่านจะรู้วันมรณภาพและปลงสังขารไว้ก่อน

เหตุการณ์ทุกอย่าง เป็นจริงประมาณกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 หลวงปู่ทองรัตน์ ได้ปวดท้องกระทันหัน ทั้งที่ท่านสุขภาพดีอยู่ ญาติโยมจะไปตามหมอท่านก็บอกว่า "ไม่เป็นอะไรมาก" ชาวบ้านได้พากันไปตามเจ้าหน้าที่่อนามัย ที่บ้านโคกสว่างมาดูอาการท่าน ในวันที่สองของการอาพาธ แต่หมอยังมาไม่ถึง ท่านก็ได้มรณภาพไปก่อน ด้วยอาการสงบ ก่อนมรณภาพท่านได้สั่งไว้ว่า ให้นำศพท่านไปเผาริมห้วย ขี้เถ้าและกระดูกให้โปรยลงน้ำให้หมด ท่านบอกว่า "ต่อไปมันซิเอากระดูกพ่อไปขาย" (ต่อไปคนจะเอากระดูกพ่อไปขาย)

ก่อนหน้าที่หลวงปู่จะมรณภาพ ศิษย์คนสำคัญคือพระอาจารย์บุญมาก แห่งภูมิโรแขวง นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ได้เดินทางจากประเทศลาว มานมัสการหลวงปู่กลางพรรษา และได้เป็นประธานในการจัดการศพหลวงปู่ทองรัตน์ เหตุที่ได้เดินทางมาทันงานศพ เนื่องจากเกิดนิมิต ภูมะโรงสั่นสะเทือน 3 ครั้ง จึงคิดถึงอาจารย์มาก และคิดว่าน่าจะมีเหตุร้าย จึงเดินทางมารีบด่วน โดยไม่มีใครแจ้งข่าว หลวงปู่ทองรัตน์เคยพำนักอยู่วัดภูมิโร กับท่านบูรพาจารย์หลวงปู่เสาร์

หลังหลวงปู่ทองรัตน์มรณภาพ ประชาชนและศิษย์ยานุศิษย์ยานพาหนะต่างๆ ต่างก็เข้ามายังบ้านคุ้มเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ชาวบ้านไม่เคยเห็นรถยนต์เลยก็ได้เห็น

หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล ได้ละสังขารจากโลกนี้ไป เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2499 ณ วัดบ้านคุ้ม ตำบลโคกสว่าง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี รวมอายุ 68 ปี อายุพรรษาได้ 42 พรรษา ประชาชน ลูกศิษย์ที่เคารพรักท่าน ได้ร่วมกันฌาปนกิจศพท่าน หลังมรณภาพไม่นาน แต่ไม่ได้ฌาปนกิจศพตามที่ท่านสั่ง ศิษย์บางคน ก็ได้อัฐิท่านไปไว้สักการะ และอัฐิของท่านส่วนหนึ่ง ชาวบ้านคุ้มได้บรรจุไว้ในเจดีย์ ที่สร้างไว้กลางเนินวัดป่าบ้านคุ้ม เพื่อไว้เคารพสักการะมาจนบัดนี้

ปัจฉิมบท
พระสุปฏิปันโน ที่เป็นสานุศิษย์ของครูบาจารย์ทองรัตน์ สายมหานิกาย ที่ไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุตตามกำหนดของท่านบูรพาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตะมหาเถระ ได้แก่ หลวงปู่กินรี จนฺทิโย พระอาจารย์บุญมาก จิตฺตปญฺโญ แห่งวัดภูมะโร จำปาศักดิ์ หลวงปู่พรหมบ้านโคกก่อง ยโสธร หลวงปู่บน หลวงปู่บุญมี เพชรบูรณ์ อาจารย์คำดี ผุดผ่อง พระอาจารย์อวน ปคุโณ พระอาจารย์ชา สุภทฺโท พระอาจารย์ปุ่น ฉนฺทาโร ที่ญัตติที่เป็นธรรมยุติ เช่น หลวงปู่ถิ ธมฺมุตฺตโม เป็นต้น

ขอเมตตาบารมีแห่งภูมิจิตภูมิธรรม ของท่านพระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล จงบันดาลแผ่ซ่านสู่จิตใจของสรรพสัตว์ผู้ทนทุกข์ทรมานในห้วงแห่งสังสารวัฏ ได้แก่นธรรมเห็นธรรม เกิดธรรมจักษุ ที่เป็นแก่นพุทธธรรมแทน เปลือกแทนกระพี้ พิธีพราหมณ์และพุทธพาณิชย์ด้วยเทอญ

ที่มา : http://www.fungdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก