หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย พระมงคลเทพมุนี : สด จนฺทสโร (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
พระมงคลเทพมุณี : สด จนฺทสโร (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)

การตั้งโรงงานทำวิชชา

แม้ภารกิจด้านการบริหาร การปกครอง และการพัฒนาวัดปากน้ำภาษีเจริญ จะมีมากสักเพียงใดก็ตาม แต่ท่านก็ไม่เคยละทิ้งการปฏิบัติธรรม รวมถึงการเผยแผ่วิชชาธรรมกายด้วย เพราะท่านถือว่า เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ท่านศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกาย และสั่งสอนผู้อื่นให้บรรลุธรรมกายไปด้วยนั้น ท่านได้คัดเลือกผู้ที่มีผลการปฏิบัติดีเยี่ยม ทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา จำนวนหนึ่ง เพื่อรวมทีมศึกษา ค้นคว้าวิชชาธรรมกาย ที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่า การทำวิชชาปราบมาร

และเพื่อให้การทำงานค้นคว้าวิชชาธรรมกาย เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในสถานที่ที่เป็นสัดเป็นส่วน ในปี ๒๔๗๔ ขณะที่ท่านอายุได้ ๔๗ ปี ท่านจึงได้สร้างอาคาร เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายขึ้น ภายในวัดปากน้ำภาษีาเจริญ ในสมัยนั้นเรียกว่า “โรงงานทำวิชชา”

โรงงานทำวิชชาในสมัยนั้น ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร ใกล้หอไตรเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น ภายในระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง มีท่อต่อถึงกัน สำหรับหลวงปู่ใช้สั่งวิชชาลงมาทางท่อนี้ ซึ่งผู้อยู่เวรก็จะได้ยินโดยทั่วกัน และจะเจริญวิชชาตามคำสั่งนั้น ๆ มีผู้อยู่เวรทำวิชชากะละประมาณ ๑๐ คน ตัวเรือนโรงงานนี้ ขนาดไม่กว้างใหญ่นัก ชั้นล่างตั้งเตียงเป็น ๒ แถวซ้ายขวา ข้างละ ๖ เตียง ตรงกลางเว้นเป็นทาง พอให้เดินได้สะดวก ชั้นล่างสำหรับฝ่ายแม่ชีและอุบาสิกา ให้นั่งเจริญวิชชา และเป็นที่พักอาศัยด้วย มีผู้อยู่เวรที่ไม่พักในโรงงานบ้าง แต่ก็เพียงไม่กี่คน ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง ไม่มีบันไดเชื่อมต่อกัน และทางเข้าออก ก็แยกกันคนละทาง ชั้นบนมีทางเข้าต่างหาก ใช้เป็นที่เจริญวิชชาสำหรับหลวงปู่และพระสงฆ์สามเณร ที่อยู่เวรทำวิชชา

ภายหลัง มีโรงงานทำวิชชาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือวิหารอยู่ด้านหลังหอสังเวชนีย์มงคลเทพเนรมิต ที่ประดิษฐานร่างของหลวงปู่ เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ยาวพอสมควร ตรงกลางมีฝากั้นแบ่งเป็น ๒ ห้อง แยกขาดจากกัน โดยมีประตูเข้าออกคนละทาง ส่วนหน้าเป็นที่สำหรับแม่ชีกับอุบาสิกา ส่วนหลังเป็นที่สำหรับหลวงปู่ และพระสงฆ์สามเณร เวลาสั่งวิชชา หลวงปู่จะพูดผ่านช่องสี่เหลี่ยม ของฝากั้นห้องนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเพียงแต่ได้ยินเสียงซึ่งกันและกันเท่านั้น

วิชชาที่หลวงปู่สั่งไว้ในแต่ละวัน ได้มีการจดบันทึกไว้ในสมุดปกแข็งรวม ๓ เล่ม เล่มที่ ๒ มีผู้ยืมไปและมิได้นำส่งคืน คงเหลือเล่ม ๑ และเล่ม ๓ ได้ถวายให้ท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลเถร (วีระ คุณตฺตโม) ซึ่งมีปฏิปทาอย่างมั่นคง ที่จะถือเพศบรรพชิต และมุ่งมั่นในการเจริญภาวนาธรรม ตามรอยพระเดชพระคุณหลวงปู่ ควรที่จะได้เก็บรักษาวิชชาของหลวงปู่ ที่ได้บันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป

การเข้าเวร

ผู้ที่เห็นเป็นวิชชาธรรมกายแล้ว จะต้องผลัดกันเข้าเวรปฏิบัติภาวนากันตลอด ๒๔ ชั่วโมง ในโรงงานทำวิชชาที่หลวงปู่จัดไว้ให้ ปัจจุบันก็ยังคงเรียกโรงงานทำวิชชาอยู่

ระยะที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้จัดให้มีการเข้าเวรทำวิชชา ๒ ชุดแบ่งเป็น ๔ ผลัด ผลัดละ ๖ ชั่วโมง กะแรกเข้าเวร ๖ โมงเช้า และออกประมาณเที่ยง แล้วกะที่สองจะเข้ารับเวรต่อ กะแรกจะกลับมารับเวรอีกครั้งในเวลา ๖ โมงเย็นและจะส่งเวรให้กะที่สองในเวลาเที่ยงคืน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเช่นนี้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงมิได้ขาด

เมื่อสงครามสงบลง พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้ปรับเวลาการเข้าเวรในโรงงานเป็น ๓ ชุด ผลัดละ ๔ ชั่วโมงแทน ส่วนการสอนธรรมะนั้น หลวงปู่จะกำหนดตัวบุคคล ที่ว่างจากเวรทำวิชชาในโรงงาน มาเป็นผู้สอน เช่น แม่ชีญาณี ศิริโวหาร ระหว่างสงครามจะทำการภาวนากันที่ “บ้านน้าสาย” ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ พระวิหารในเวลาค่ำ เมื่อสิ้นสุดสงคราม ได้เปลี่ยนที่สอนเป็นที่วิหาร ในเวลาบ่าย ๒ โมง

หลวงปู่ตั้งเป็นกฏเคร่งครัดมากว่า ห้ามบุคคลที่ไม่ได้วิชชาธรรมกาย เข้าไปในโรงงานท่านมีเหตุผลหลายประการ ได้แก่
1.บุคคลภายนอกอาจเข้าไปทำเสียงรบกวน เป็นการทำลายสมาธิของผู้ที่กำลังปฏิบัติกิจภาวนา จะเกิดบาปติดตัวผู้นั้นไปโดยมิได้ตั้งใจ
2.วิชชาธรรมกายนั้น เป็นวิชชาที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ถ้าผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เห็น ไม่เข้าใจยังปฏิบัติไม่เป็นแล้ว ไปได้ยินได้ฟังเข้าก็จะทำให้เกิดวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ทำให้เกิดความคิดสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนต่อวิชชา หลวงปู่ท่านทราบดีว่า อันตรายจะเกิดแก่บุคคลที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจดีพอ

3.หลวงปู่ท่าน ไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกเข้าไปชวนพวกที่ได้ธรรมกายพูดคุย ด้วยเรื่องไร้สาระ ท่านบอกว่าเสียเวลาโดยใช่เหตุ

การตั้งโรงครัว

เมื่อหลวงปู่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านได้ดำเนินการ ก่อตั้งโรงครัวขึ้นเพี่อถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณร เพราะสมัยที่ท่านเคยอยู่วัดพระเชตุพนฯ และประสบความลำบาก ในเรื่องอาหารบิณฑบาต ท่านจึงตั้งมโนปณิธานไว้ว่า เมื่อมีโอกาส จะตั้งโรงครัวเลี้ยงอาหารพระภิกษุสามเณร เพื่อจะได้มีเวลาและโอกาส ในการศึกษาพระปริยัติธรรม และปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ และเป็นการสะดวกแก่ทายกทายิกา ที่ต้องการจะทำบุญถวายภัตตาหาร แก่พระภิกษุสามเณรทั้งวัดด้วย เพียงแต่แสดงความประสงค์ ที่จะเป็นเจ้าภาพและนำปัจจัยมามอบให้แก่ไวยาวัจกร ทางวัดจะมีแม่ครัวหุงหาอาหารให้เสร็จเรียบร้อย ทั้งมื้อเช้าและมื้อเพล เจ้าภาพเพียงแต่มาประเคนภัตตาหารเท่านั้น

หลวงปู่ได้ชี้แจงถึงอานิสงส์ ของการถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรว่า จะได้บุญยิ่งใหญ่ไพศาล เพราะพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ พระสงฆ์เป็นประมุข เป็นประธานของผู้ต้องการบำเพ็ญบุญ ถ้าต้องการบุญ ก็ให้ถวายในหมู่สงฆ์ ไม่ควรเจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ให้ทำใจให้เป็นกลาง หลวงปู่ท่านเน้นว่าเป็นทายกต้องฉลาด โง่ไม่ได้ เพราะถ้าถวายเจาะจงเสียแล้ว ผลบุญก็ลดน้อยลงไป คนฉลาดต้องถวายให้เป็นกลาง จะได้ผลบุญยิ่งใหญ่ไพศาลที่เรียกว่า สังฆทาน และได้ชื่อว่าวางหลักพระพุทธศาสนา เพราะศาสนาของพระบรมศาสดา จะดำรงอยู่ได้ก็เพราะอาศัยความเป็นกลาง ภิกษุสามเณร ก็ต้องประพฤติในพระธรรมวินัยให้เป็นกลาง ปฏิบัติให้เป็นกลาง ไม่เข้าข้างตน ไม่เข้าข้างบุคคลอื่น อุบาสก อุบาสิกาบริจาคทานในพระพุทธศาสนาให้เป็นกลาง ไม่ค่อนข้างตน หมู่ตน พวกตน อย่างนี้ได้ชื่อว่า บริจาคถูกทางสงฆ์ ถูกเป้าหมายของบุญ

หลวงปู่ท่านนำกล่าวถวายสังฆทานว่า “ทานที่ท่านถวายให้ให้เป็นกลาง มิให้เจาะจงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มีใจความตามภาษาบาลีว่า

“กาเล ททนฺติ สปญฺญา วทญฺญู วีตมจฺฉรา ฯลฯ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินฺนติ”
ทายกทายิกาทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยปัญญา ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสแล้วในพระอริยบุคคล ในพระอริยสงฆ์ เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ตรงคงที่ ถวายทาน ทำให้เป็นทาน ที่ตนถวายแล้วโดยกาล ในสมัยทักขิณาทานของทายกนั้น ย่อมเป็นคุณชาติ มีผลไพบูลย์ดุจน้ำเต็มเปี่ยมในห้วงมหาสมุทร เพราะบริจาคทานในเขตบุญ

หลวงปู่ท่านได้แนะนำศิษย์ “ให้เป็นบุคคลที่ตนเองก็ชอบทำบุญ และชักชวนให้ผู้อื่นทำด้วยทั้งกำลังกาย และกำลังทรัพย์ ให้รู้จักเลือกผู้ที่จะทำบุญด้วย ให้ทุกคนพยายามรักษามนุษย์สมบัติ ท่านอธิบายว่าคนเรานั้น จะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้องมีบิดามารดา ญาติพี่น้อง สามีภรรยา บุตร บริวาร อย่างที่เรามักเรียกกันว่า “มีพรรคมีพวก” คนที่มีพรรคพวกดีนั้น ต้องประกอบกรรมดีร่วมกันมาแล้ว ท่านจึงสอนว่าถ้าเห็นคนดีๆ เขาบริจาคทานกันละก็ให้พยายามไปร่วมกับเขา ไม่จำเป็นต้องร่วมด้วยเงินก็ได้ เพราะคนบางคนเขามีทรัพย์สิน เงินทองเหลือเฟืออยู่แล้ว เขาต้องการให้มีคนมาช่วยเท่านั้น เราก็ไปช่วยด้วยแรง เพื่อว่าภพชาติหน้าจะได้มีพรรคพวกที่เป็นคนดี การที่จะมีมนุษย์สมบัติดีนั้นก็ด้วยสาเหตุ ๒ ประการ คือ ปุพฺเพกตปุญฺญตา การร่วมบุญกันมาในอดีตชาติ และการร่วมบุญในภพชาติปัจจุบัน

สมัยแรก ที่ก่อตั้งโรงครัว หลวงปู่ท่านใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่าย และมีโยมพี่สาวของท่าน นำข้าวสารและอาหารแห้งมาถวายเป็นประจำ ถ้าวันใดไม่มีผู้ใดมารับเป็นเจ้าภาพ หลวงปู่ก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว เป็นค่าภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสามเณรแทน ซึ่งเป็นวัดเดียวในประเทศไทย ที่พระภิกษุไม่ต้องออกบิณฑบาต ทำให้ผู้ที่ยังขาดความเข้าใจในพระวินัยอย่างแจ่มแจ้ง ประณามว่าพระภิกษุที่วัดปากน้ำ ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย และขาดนิสัยอย่างหนึ่งในนิสัย ๔ อย่าง อันเป็นหลักปฏิบัติของบรรพชิต คือ การฉันอาหารบิณฑบาต ส่วนผู้ที่เข้าใจในคำสอนอย่างแจ่มชัดแล้ว จะไม่กล่าวอย่างนั้นเลย เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพุทธานุญาตไว้ว่า พระภิกษุสามเณรพึงงดเว้น ถือนิสัยในการออกบิณฑบาตได้ เมื่อพระภิกษุสามเณรมีอดิเรกลาภเกิดขึ้น เช่น มีผู้ศรัทธานิมนต์ฉันจังหัน หรือมีทายกทายิกา จัดถวายในวันอุโบสถ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นั้นมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาประมาณ ๑๕๐ รูป และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ๖๐๐ รูปเศษ ถึงกระนั้นหลวงปู่ท่านก็ไม่เคยวิตกกังวลกับภาระนี้ ท่านเคยพูดเสมอว่า “กินคนเดียวไม่พอกิน กินมากคนกินไม่หมด”

ท่านมุ่งมั่นจะบำเพ็ญบารมีอย่างจริงจัง ท่านเคยพูดถึงอานิสงส์ของการบำเพ็ญทานไว้ว่า “ทานนั่นแหละ จะเป็นชนกกรรมนำไปเกิดในสกุลที่มั่งมีมาก เมื่อให้ทานแล้ว ผู้ยากขัดสนก็สมบูรณ์ อ้ายความสมบูรณ์ ที่ให้แก่เขาน่ะ กลับมาเป็นของตัวมากน้อยเท่าใด กลับมาเป็นของตัวหมด ทานนี่แหละเป็นข้อสำคัญนัก เพราะฉะนั้น บัดนี้วัดปากน้ำมีพระภิกษุสามเณรมารวมกันอยู่มาก ก็เพราะอาศัยเจ้าอาวาส บริจาคทาน บริจาคมานาน ๓๗ ปีแล้ว”

การพัฒนาวัดของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ

๑. การปกครอง
ท่านบริหารงาน โดยใช้หลักการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพระภิกษุสามเณร ตลอดจนผู้ที่อยู่ในอุปการะ ดุจพ่อปกครองบุตรชายหญิง อันเกิดจากอกของตนเอง ให้ความเสมอภาค โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ยกย่องชมเชย ใครต้องการความช่วยเหลือจากท่าน ท่านก็ช่วยอุปการะปัดเป่าให้คลายทุกข์ ด้วยความเมตตาปราณี แม้แต่ผู้ที่ออกจากความปกครองของท่านไปแล้ว ท่านยังคอยติดตามถามข่าว ด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าจะหลงลืมโอวาทที่ดีงาม ที่เคยกรุณาสั่งสอนไว้ ความเอื้ออาทรเหล่านี้ทำให้บรรดาลูกศิษย์ ที่เคยอยู่ในความปกครองของท่าน พากันเรียกท่านจนติดปากว่า “หลวงพ่อ”

๒. การศึกษา
เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาส ทำการปกครองวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระภิกษุสามเณรอยู่ในลักษณะย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย และไร้การศึกษาเสียเป็นส่วนมาก ในฐานะที่ท่าน เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในการปกครองของท่าน จึงต้องเลือกเรียนสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างจริง ๆ ใครไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ก็ให้ทำหน้าที่บริหารงานในวัด

๒.๑ แผนกคันถธุระ ท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นในวัด โดยจัดหาทุนเอง และได้จัดการศึกษานักธรรมและบาลีขึ้น เมื่อมีผู้มาศึกษามาก ในที่สุดก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นสำนักเรียนโดยตรง และสำนักของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญก็ได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่านคอยส่งเสริมเอาใจใส่เรื่องการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรอยู่เสมอ พระภิกษุ-สามเณรที่สอบผ่านบาลี ท่านจะกล่าวชมเชย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งยังหารางวัลให้เป็นกำลังใจอีกด้วย

สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนาทางปริยัตินั้น ท่านจะเป็นผู้แสดงเองในวันอาทิตย์ และวันธรรมสวนะ ที่พระอุโบสถเป็นประจำมิได้ขาด รวมทั้งวันอื่น ๆ ที่มีเจ้าภาพมาถวายภัตตาหาร แล้วอาราธนาให้ท่านแสดงธรรม ท่านจะสอนให้พุทธศาสนิกชน เลื่อมใสในการบำเพ็ญทาน การรักษาศีลและการเจริญภาวนา โดยยกชาดก และเรื่องจากธรรมบท มาเป็นอุทาหรณ์ ลงท้าย ด้วยการสอนเจริญภาวนา ทำให้ผู้ฟังมีความเข้าใจเรื่องราว ในพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง และได้รับความสนุกสนานด้วย

การแสดงธรรม ท่านยังได้จัดให้พระภิกษุสามเณร หัดทำการเทศนาเดี่ยวบ้าง หัดเทศน์ปุจฉาวิสัชนา ๒ – ๓ ธรรมาสน์บ้าง แล้วจัดให้ทำการแสดงพระธรรมเทศนา ณ ศาลาการเปรียญ ตลอดฤดูการเข้าพรรษา จากการฝึกฝนนี้ ทำให้พระภิกษุสามเณรของวัดปากน้ำหลายรูป ได้เป็นพระธรรมกถึก และได้รับการอาราธนาให้ไปแสดงพระธรรมเทศนานอกสำนักอยู่เสมอๆ

๒.๒ แผนกวิปัสสนาธุระ เป็นวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้ศึกษาค้นคว้ามา ตั้งแต่เริ่มอุปสมบทวันแรก เมื่ออายุ ๒๒ ปี เป็นต้นมาจนกระทั่งอายุ ๗๐ ปี ขณะที่ท่านเปิดสอนปริยัติ ท่านก็สอนปฏิบัติ ควบคู่ไปด้วย มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ มาปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้วัดปากน้ำในครั้งนั้น มีชื่อเสียงไม่เฉพาะเพียงแต่ด้านปริยัติธรรมเท่านั้น ในด้านวิปัสสนาก็มีชื่อเสียงมากเช่นกัน เพราะมีผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม และเข้าถึงธรรมกายเป็นจำนวนมาก

การแสดงพระธรรมเทศนา ทางปฏิบัติเฉพาะในวัดนั้น พระเดชพระคุณท่าน จะเทศน์สอนทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งจะมีพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่น ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกามาศึกษากันอย่างคับคั่ง ซึ่งท่านถือเป็นวัตรปฏิบัติของท่าน ไม่ยอมขาดเลย เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยจริงๆ จึงจะยอมขาด เท่าที่ปรากฏมาท่านเคยขาดกิจกรรมนี้ไม่เกิน ๓ ครั้ง

ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์

•ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านได้รับสมณศักดิ์ เป็น พระครูสมณธรรมสมาทาน
•ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถร ถือพัดยอดพื้นขาวอันเป็นตำแหน่งวิปัสสนาธุระ
•ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ
•ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระมงคลราชมุนี
•ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระมงคลเทพมุนี

อาพาธและมรณภาพ

ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ จะมรณภาพประมาณ ๕ ปี ท่านได้เรียกประชุมศิษย์ทั้งใน และนอกวัดเป็นกรณีพิเศษที่ศาลาการเปรียญ เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบว่า ท่านจะถึงกาลมรณภาพในอีก ๕ ปีข้างหน้า กิจการใดที่ท่านได้ดำเนินไว้แล้ว ขอให้ช่วยกันทำกิจการนั้น ๆ อย่าทอดทิ้ง ท่านได้ชี้แจงโครงการพัฒนาวัดปากน้ำ ให้คณะศิษย์ช่วยกันดำเนินต่อไปให้สำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ท่านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ท่านบอกว่า ต่อไปวัดปากน้ำจะเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต มีลูกศิษย์หลายคน ได้อาราธนาขอไม่ให้ท่านมรณภาพ ท่านตอบว่าไม่ได้ อีก ๕ ปี ท่านจะไม่อยู่แน่ ๆ แล้ว

นับตั้งแต่หลวงปู่วัดปากน้ำ ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย การจัดตั้งโรงครัว การบูรณปฏิสังขรณ์ เสนาสนะต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือผู้คน ที่มาขอพึ่งบารมีของท่าน เพื่อบรรเทาทุกข์ยาก ท่านได้ทุ่มเทชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนา จนมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก ทำให้สุขภาพทางกายทรุดโทรม แต่ทางด้านจิตใจ ยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม ท่านไม่ยอมทอดทิ้งธุระ ที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร ยังคงออกเทศน์สอนนั่งภาวนา แจกพระของขวัญตามปกติ ท่านไม่ชอบทำตนให้เป็นภาระของผู้อื่น แม้เวลาอาพาธ ก็ไม่ยอมให้ใครพยุงลุกนั่ง เรื่องภัตตาหารก็ไม่จู้จี้ ไม่เรียกร้องในเรื่องการขบฉัน ใครทำมาถวายอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น

เมื่อท่านอาพาธหนัก ได้เรียกศิษย์ให้ดำเนินการสอน เผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป และสั่งว่า เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ให้เก็บสรีระของท่านไว้ไม่ให้เผา

พระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านถึงแก่ มรณภาพอย่างสงบ สมดังเช่นจอมทัพธรรม ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๕๐ น. สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๓ เดือน ๒๔ วัน มีอายุพรรษาได้ ๕๓ พรรษา

ที่มา : http://www.dmc.tv/pages/phramongkolthepmuni/2007-04-21-1.html
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก