หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย หลวงปู่หลุยส์ จนฺทสาโร
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
หลวงปู่หลุยส์ จนฺทสาโร
หลวงปู่หลุยส์ จนฺทสาโร
หลวงปู่หลุยส์ จนฺทสาโร
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ - ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๒
วัดถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
--------------------
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นบุตรของ คุณพ่อคำฝอย วรบุตร ลูกชายเจ้าเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว และ เจ้าแม่นางกวย (สุวรรณภา) วรบุตร ธิดาของผู้มีอันจะกินเขตเมืองเลย

ท่านถือกำเนิดเมื่อ วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2444 เวลารุ่งอรุณจวนสว่าง ได้ชื่อว่า วอ มีพี่สางต่างบิดา 1 คน และ น้องชายร่วมบิดามารดาอีก 1 คน

เมื่อเข้าโรงเรียน ท่านมีนิสัยช่างซักช่างเจรจา ออกความเห็นเหมือน ครูบา จึงถูกเรียกว่า บา ท่านมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ที่โรงเรียนวัดศรีสะอาด จนจบชั้นประถมปีที 3 ซึ่งขณะนั้น ถือเป็นการศึกษาชั้นสูง สำหรับเมืองชายแดน

ต่อมาท่านได้ทำงานเป็นเสมียนกับพี่เขย ที่เป็นสมุห์บัญชีสรรพากร อำเภอเชียงคาน และเมื่อปี 2464 ได้ย้ายไปทำงานที่อำเภอแซงบาดาล (ธวัชบุรี) และที่ห้องอัยการภาค จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยการอุปถัมภ์ของอัยการภาคร้อยเอ็ด

ขณะที่อยู่ที่เชียงคาน ด้วยวัยหนุ่มคะนอง มีการติดต่อกับฝรั่งฝั่งลาว ท่านจึงรู้จักวิธีผสมสุราอย่างฝรั่งเศส และศึกษาศาสนาคริสต์อยู่ 5 ปี จนคุณพระเชียงคาน ลุงของท่าน เรียกท่านว่า เซนต์หลุย หรือ หลุย ท่านจึงถูกเรียกชื่อว่า หลุย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ชีวิตราชการของท่าน ไม่ค่อยราบรื่นนัก ท่านจึงรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่ง ประกอบกับรู้สึกเบื่อหน่าย กับการต้องคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารในงานเลี้ยง ที่ต้องมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คิดอยากบวชเพื่อแผ่บุญกุศลไปให้สรรพสัตว์ที่ตายไปแล้ว ท่านจึงตัดสิ้นใจลาออกจากชีวิตราชการ เข้าสู่พิธีอุปสมบท เป็นพระมหานิกาย ณ อำเภอแซงบาดาล จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปีพุทธศักราช 2466 โดยมีอัยการภาค เป็นเจ้าภาพบวชให้

ระหว่างพรรษาแรกที่ธวัชบุรี ท่านได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติ ครั้นถึงคราวออกพรรษา ท่านได้ลาพระอุปัชฌาย์ ไปเข้าร่วมการคัดเลือกเกณฑ์ทหาร ที่จังหวัดเลย และได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม ระหว่างทาง ได้พบพระธุดงค์กัมมัฏฐานรูปหนึ่ง มาจากอำเภอโพนทอง รู้สึกถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ท่านได้ร่วมถวายภาวนาเป็นพุทธบูชา ณ ลานพระธาตุพนมตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ กายลหุตา จิตลหุตา คือ กายเบา จิตเบา จึงตั้งสัจจาอธิษฐานว่า จะบวชกัมมัฏฐานตลอดชีวิต

ระหว่างทางสู่จังหวัดเลย เมื่อมาถึงบ้านหนองวัวซอ ท่านได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนาจาก ท่านพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวโร รู้สึกเลื่อมใสมาก จึงขอถวายตัวเป็นศิษย์ พระอาจารย์ได้แนะนำ ให้ขอญัตติเป็นธรรมยุต ที่จังหวัดเลย หลังจากเกณฑ์ทหารแล้ว ท่านจึงได้ขอญัตติจตุตถกรรมใหม่ เป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ต่อมาท่านได้กลับมาอยู่กับ พระอาจารย์บุญ ที่วัดหนองวัวซอ และติดตามไปวัดพระพุทธบาทบัวบก ซึ่ง ณ ที่นี้เอง ท่านได้พบกับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และอยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจาก พระอาจารย์เสาร์ โดยมี พระอาจารย์บุญ เป็นพระพี่เลี้ยง จากนั้น ก็ได้ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มหาเถระที่ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้อยู่อบรมรับฟังโอวาท และฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่น จวบจนเข้าพรรษา จึงกลับมาจำพรรษาต่อกับ พระอาจารย์เสาร์ ที่วัดพระพุทธบาทบัวบก

ในพรรษานี้ ท่านได้ภาวนาจนจิต รวมแล้วเกิดอาการสะดุ้ง พระอาจารย์บุญ จึงให้ญัตติจตุถกรรมใหม่ที่ วัดโพธิสมพรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2468 โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัจฌาย์ และท่านพระอาจารย์บุญ ปญญาวโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านจึงได้บวชถึง 3 ครั้ง คือ ปี 2466, 2467 และ 2468

พรรษาที่ 1-6 ( พ.ศ. 2468-2473) ท่านจำพรรษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวุโธ พ.ศ.2468 จำพรรษา ณ วัดพระบาทบัวบก อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2469-2473 จำพรรษา ณ วัดป่าหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดบัญญานุสรณ์) และในปี พ.ศ. 2473 พระอาจารย์บุญ ปญฺญวุโธ มรณภาพ ซึ่งในปีนี้ ท่านได้จำพรรษาอยู่ร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

พรรษาที่ 7-8 พ.ศ. 2474 ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้างเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบัน คือ วัดป่าวิเวกธรรม) ร่วมกับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ชอบ ฐานสโมและหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ปี พ.ศ. 2475 ได้ร่วมกับคณะไปส่งสตรีกัมมัฏฐานที่ นครราชสีมา และ ร่วมสร้างวัดป่าสาลวัน และได้จำพรรษาที่ วัดป่าศรัทธา ร่วมกับ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์ภูมี จิตฺตธมฺโม พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พระอาจารย์คำดี ปภาโส

พรรษาที่ 9-10 (พ.ศ.2476-2477) ท่านได้ร่วมเดินธุดงค์กับ พระอาจารย์เสาร์ และได้วิชาม้างกายจากท่านอาจารย์ ในปีนี้ท่านได้จำพรรษา ณ ถ้ำบ้านโพนงาม-หนองสะไน ตำบลผักคำภู อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

พรรษาที่ 11 (พ.ศ.2478) เป็นปีที่สร้างวัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หรือ วัดภูริทัตตถิราวาส และท่านได้ออกอุบายให้ชาวบ้าน อาราธนานิมนต์ ท่านพระอาจารย์ฝั้น มาจำพรรษาที่นี่นานถึง 5 ปี

พรรษาที่ 12 (พ.ศ.2479) อยู่จำพรรษากับ พระอาจารย์เสาร์ ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ 13-14 (พ.ศ.2480-2481) กลับมาสู่แผ่นดินถิ่นกำเนิด จำพรรษา ณ ป่าช้าหนองหลางฝาง ถ้ำผาปู่ และ ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 15 (พ.ศ.2482) ธุดงค์แสวงหาที่ว่างปฏิบัติธรรมในเขตป่าดงเถื่อนถ้ำ จังหวัดเลย จำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ และ พักเจริญธรรมบ้านหนองบง
พรรษาที่ 16 (พ.ศ.2483) เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต จำพรรษา ณ โพนสว่าง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร (โพนงาม. หนองสะไน) ได้โสรจสรงอมฤตธรรม ครั้นออกพรรษา ได้ไปนมัสการ หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ 17-19 ใน พ.ศ.2484 ได้ร่วมอยู่ในรัศมีบารมีบูรพาจารย์ ขณะที่ หลวงปู่มั่น จำพรรษา ที่โนนนิเวศน์
พ.ศ.2485-2486 จำพรรษาที่ บ้านอุ่นโคก และ ป่าใกล้วัด ป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร
พรรษา ที่ 20-25 ใน พ.ศ.2487-2488 ทำหน้าที่เปรียบได้ดังนายทวารบาล แห่งบ้านหนองผือ จำพรรษา ณ บ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร
พ.ศ.2489-2490 จำพรรษา ณ บ้านอุ่นดง จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2491 จำพรรษา ณ บ้านโคกมะนาว จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2492 จำพรรษา ณ บ้านห้วยป่น ตำบลนาใน อำเภอพรรณนิคม สกลนคร ขณะที่หลวงปู่มั่น จำพรรษาช่วงปลายชีวิต ณ วัดป่าหนองผือ ท่านจึงอยู่พรรษากับบูรพาจารย์ใหญ่ ในช่วงนี้ โดย เฉพาะในปีนี้ มี พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พระอาจารย์มนู พระอาจารย์อ่อนสา พระอาจารย์เนตร ตนฺติสีโล พระอาจารย์วัน อุตฺตโมร่วมจำพรรษาด้วย

พรรษาที่ 26-31 พ.ศ.2493 หลังจากประทีปแก้วของพระกัมมัฏฐานได้ดับลง ณ วัดป่าสุทธาวาส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 และได้ถวายเพลิงในต้นปี 2493 หลังจากนั้น ท่านได้ออกธุดงค์เรื่อยไป จำพรรษาที่วัดศรีพนมมาศ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

พ.ศ. 2494 จำพรรษา ณ ถ้ำพระนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2495 จำพรรษา ณ วัดป่าเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น กับ เจ้าคุรอริยคณาธาร
พ.ศ. 2496 จำพรรษา ณ วัดดอนเลยหลง อำเภอเมือง จังหวัดเลย และถ้ำผาปู่
พ.ศ. 2497 จำพรรษา ณ บ้านไร่ม่วง (วัดป่าอัมพวัน) กับ หลวงปู่ชา อจฺตฺโต ผู้เคยร่วมธุดงค์กันหลายครั้ง และในปีนี้ ด้มาที่ท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
พ.ศ. 2498 จำพรรษา ณ สวนพ่อหนูจันทร์ บ้านฝากเลย จังหวัดเลย
พรรษาที่ 32 พ.ศ.2499 อยู่บ้านกกกอก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (ปัจจุบัน คือ วัดปริตตบรรพต) และ ผจญพญานาคที่ภูบักบิด
พรรษาที่ 33-35 พ.ศ.2500 จำพรรษาร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ วัดป่าแก้วชุมพล สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2501-2502 ร่วมจำพรรษา และ ร่วมสร้าง วัดถ้ำกลองเพล กับ หลวงปู่ขาว
พรรษาที่ 36 พ.ศ. 2503 จำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ตำบลหนองหิน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และ ในเขตป่าเขาถ้ำเถื่อน ในเขตจังหวัดเลย
พรรษาที่ 37 พ.ศ. 2504 จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ตำบลผาน้อย อำเภอสะพุง จังหวัดเลย ในปีนี้ ได้พบงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่
พรรษาที่ 38 พ.ศ. 2505 จำพรรษาที่ เขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
พรรษาที่ 39 พ.ศ. 2506 ได้อุบายธรรม เนื่องจากการจำพรรษากับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ ถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
พรรษาที่ 40 พ.ศ.2507 จำพรรษาที่ บ้านกกกอก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 41-42 พ.ศ.2508-2509 เสวยสุขจำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้งบ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 43-48 พ.ศ. 2510-2515 จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้ง สร้างวัดผาบิ้งและเริ่มรับนิมนต์โปรดพุทธชนภาคอื่นๆ ขณะมีอายุกว่า 70 ปีแล้ว
พรรษาที่ 49-50 พ.ศ. 2516-2517 กลัปไปบูรณะ บ้านหนองผือ และถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ 51 พ.ศ. 2518 จำพรรษา ร สวนบ้านอ่าง อำเภอบะขาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อโปรดชาวภาคตะวันออก
พรรษาที่ 52 พ.ศ.2519 เดินทางไปโปรดชาวภาคใต้ และ จำพรรษา ณ วัดกุมภีร์บรรพต นิคมควนกาหลง จังหวัดสตูล วัดควนเจดีย์ จังหวัดสงขลา
พรรษาที่ 53-57 โปรยปรายสายธรรม
พ.ศ.2520 จำพรรษาที่ สวนปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. 2521 จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ อุดรธานี
พ.ศ. 2522 จำพรรษาที่ โรงนายาแดง คลอง 16 อำเภอองครักษ์ นครนายก
พ.ศ. 2523 จำพรรษาที่ วัดอโศการาม อำเภอเมือง สมุทรปราการ
พ.ศ. 2524 จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์ บ้านคุณประเสริฐ โพธิ์วิเชียร อำเภอศรีราชา ชลบุรี
พรรษาที่ 58 พ.ศ.2525 พิจารณาธาตุขันธ์จะแตกดับ จำพรรษา ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ 59-65 (พ.ศ.2526-2532) เป็นช่วงแสงตะวันลำสุดท้ายของชีวิต ในช่วงปี พ.ศ. 2526-2528 ท่านจำพรรษาที่ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) กิ่งอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย
พ.ศ. 2529-2532 จำพรรษาที่พักสงฆ์ ก.ม.27 ดอนเมือง กรุงเทพมหานครกับ ที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอท่าหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในบรรดาศิษย์ของ หลวงปู่มั่น นั้น หลวงปู่หลุย เป็นผู้ทีสันโดษ มักน้อย ประหยัดมัธยัสถ์ที่สุด ท่านเป็นผู้ละเอียดละออมาก เป็นนักจดบันทึก มีบันทึกหลายสิบเล่มเกี่ยวกับหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อการค้นคว้าศึกษาสำหรับสาธุชนคนรุ่นหลังรวมทั้ง ธรรมโอวาท ของท่านเองด้วย

ที่มา : http://www.fungdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก