หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระเขมาเถรี
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๒. พระเขมาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีปัญญา | อัครสาวิกาฝ่ายขวา

พระเขมาเถรี เกิดในราชสกุล กรุงสาคละ แคว้นมัททะ พระประยูรญาติ ได้ให้พระ นามว่า “เขมา” เพราะพระนางมีผิวพรรณเลื่อมเรื่อดังสีน้ำทอง เมื่อเจริญพระชันษาแล้วได้ อภิเษกสมรสเป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งนครราชคฤห์

เมื่อพระบรมศาสดา ประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์นั้น พระนางได้สดับ ข่าวว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษในรูปสมบัติ และเพราะความที่พระนางเป็นผู้หลงมัวเมาในรูป โฉมของตนเอง จึงไม่กล้าไปเข้าเฝ้าพระทศพล ด้วยเกรงว่าพระพุทธองค์จะแสดงโทษ ในรูปโฉม ของพระนาง

หลงอุบายถูกหลอกให้ไปวัด
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงดำริว่า “เราเป็นอัครอุปัฏฐากของพระศาสดา แต่อัครมเหสี ของอริยสาวกเช่นเรานี้ กลับไม่ไปเฝ้าพระทศพล ข้อนี้เราไม่ชอบใจเลย” ดังนั้น พระองค์จึงคิด หาอุบาย ด้วยการให้พวกนักกวีผู้ฉลาด แต่บทกวีประพันธ์ ถึงคุณสมบัติความงดงาม ของพระวิหาร เวฬุวันราชอุทยานแล้ว รับสั่งให้นำไปขับร้องใกล้ ๆ ที่พระนางเขมาเทวีประทับ เพื่อให้ทราบ สดับบทประพันธ์นั้น

พระนางได้สดับคำพรรณนา ความงดงามของพระราชอุทยานแล้ว ก็มีพระประสงค์จะ เสด็จไปชม จึงเข้าไปกราบทูลพระราชาผู้สามี ซึ่งท้าวเธอก็ทรงยินดีให้เสด็จไป ตามพระประสงค์ เมื่อพระนางได้เสด็จชมพระราชอุทยาน จนสิ้นวันแล้ว ใคร่จะเสด็จกลับ พวกราชบุรุษทั้งหลาย ได้ นำพระนาง ไปยังสำนักของพระบรมศาสดาทั้ง ๆ ที่พระนางไม่พอพระทัยเลย

พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระนาง กำลังเสด็จมา จึงทรงเนรมิตนางเทพอัปสร นางหนึ่ง ซึ่งกำลังถือพัดก้านใบตาล ถวายงานพัดให้พระองค์อยู่เบื้องหลัง พระนางเขมาเทวี เห็น นางเทพอัปสรนั้นแล้ว ถึงกับตกพระทัยดำริว่า “แย่แล้วสิเรา สตรีที่งามปานเทพอัปสร เห็นปานนี้ ยืนอยู่ใกล้ ๆ พระทศพล แม้เราจะเป็นปริจาริกา หญิงรับใช้ของนาง ก็ยังไม่คู่ควรเลย เพราะเหตุ ไร เราจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจจิต คิดชั่ว หลงมัวเมาอยู่ในรูปเช่นนี้หนอ”

พระนางยืนทอดพระเนตร เพ่งดูสตรีนั้นอยู่ ในขณะนั้นเอง พระบรมศาสดา ได้ทรง อธิษฐานให้สตรีนั้น มีสรีระเปลี่ยนแปลง ล่วงเลยปฐมวัย แล้วย่างเข้าสู่มัชฌิมวัย ล่วงจากมัชฌิมวัย แล้วย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย เป็นผู้มีหนังเหี่ยวย่น ผมหงอก ฟันหัก แก่หง่อม แล้วล้มลงกลิ้งพร้อมกับ พัดใบตาลนั้น

พระนางเขมาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีนั้น โดยตลอดแล้ว จึงดำริว่า “สรีระที่ สวยงามเห็นปานนี้ ยังถึงงามวิบัติอย่างนี้ได แม้สรีระของเรา ก็จักมีคติเป็นไปอย่างนี้เหมือนกัน”

ขณะที่พระนางกำลังมีพระดำริอย่างนี้อยู่นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัส พระคาถาภาษิตว่า:-
ชนเหล่าใดถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกไปในกระแสราคา
เหมือนแมลงมุมตกไปในข่ายใยที่ตนทำเอง
เมื่อชนเหล่านั้น ตัดกระแสนั้นได้ โดยไม่มีเยื่อใยแล้ว
ละกามสุขเสียได้ ย่อมออกบวช


เมื่อจบพระพุทธดำรัสคาถาภาษิตแล้ว พระนางเขมาเทวี ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อม ด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในอิริยาบถที่ประทับยืนอยู่นั่นเอง

พระอรหันต์ฆราวาสเป็นได้ไม่นาน
ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือน เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้วจำต้องปรินิพพาน หรือไม่ก็บวชเสียใน วันนั้น เพราะเพศฆราวาส ไม่สามารถจะรองรับความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่พระนางรู้ว่าอายุ สังขารของตน ยังเป็นไปได้ จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ ให้พระเจ้าพิมพิสารพระสวามี ทรง อนุญาตการบวชก่อน แม้พระราชาก็ทรงทราบโดยสัญญาณ คืออาการที่พระนางแสดงว่า บรรลุ อริยธรรมแล้ว ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ให้พระนางประทับบนวอทอง แล้วนำไปอุปสมบทใน สำนักของภิกษุณีสงฆ์

เมื่อพระนางบวชแล้วได้นามว่า “พระเขมาเถรี” เพราะอาศัยเหตุที่พระนางมีปัญญามาก บรรลุพระอรหัตผลทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศฆราวาส พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องเธอไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้มีปัญญา และทรงแต่งตั้งให้เป็น อัครสาวิกาฝ่าย ขวา

วิชชา ความรู้แจ้ง ความรู้วิเศษ มี ๘ คือ
๑. วิปัสสนาญาณ ญาณอันนับเข้าในวิปัสสนา
๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ
๓. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๔. ทิพพโสต หูทิพย์
๕. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
๗. พิทพจักขุ ตาทิพย์ (จุตูปปาตญาณ)
๘. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- พระเขมาเถรี - อัครสาวิกาฝ่ายขวา 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก