หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระอุบาลีเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๙. พระอุบาลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย

พระอุบาลี เกิดในตระกูลช่างกัลบก ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้รับแต่งตั้ง ให้ทำหน้าที่เป็นช่างกัลบก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่างภูษามาลา มีหน้าที่ตัดแต่งพระเกศา ประจำราชสกุลศากยะ ซึ่งมีเจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และ เจ้าชายอานนท์ เป็นต้น ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี เสมอต้นเสมอปลายต่อเจ้าชาย ทุก ๆ พระองค์ จนเป็นที่ไว้วางพระหฤทัย

ขอบวชตามเจ้าศากยะ
ในสมัยที่พระพุทธองค์ เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่นครกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จไป ประทับที่อนุปิยอัมพวัน ซึ่งเป็นแว่นแคว้นของมัลลกษัตริย์ เจ้าชายศากยะทั้ง ๕ พระองค์ ที่ กล่าวนามข้างต้น ได้ตัดสินพระทัยออกบวชเป็นพุทธสาวก และอุบาลีช่างกัลบกก็ขอบวชด้วย จึงรวมเป็น ๗ พระองค์ด้วยกัน

พระอุบาลี เมื่อบวชแล้ว ได้ศึกษาพระกรรมฐานจากพระภาค หลังจากนั้นท่านมีความ ประสงค์จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า เพื่อหาความสงบตามลำพัง แต่เมื่อกราบทูลลาพระผู้มี พระภาคแล้ว พระองค์ไม่ทรงอนุญาต ได้มีรับสั่งแก่เธอว่า
“อุบาลี ถ้าเธอไปอยู่ในป่าบำเพ็ญสมณธรรม ก็จะสำเร็จเพียงวิปัสสนาธุระ แต่ถ้าเธออยู่ ในสำนักของคถาคต ก็จะสำเร็จธุระทั้งสอง คือ ทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระ (การเรียนคัมภีร์ ต่าง ๆ )”

ท่านปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสแนะนำ ได้ศึกษาพระพุทธพจน์ไปพร้อมกับเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลในพรรษานั้น หลังจากนั้นท่านก็เป็นกำลัง สำคัญ ในการเผยแผ่พระศาสนา เพราะความที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระบรมศาสดาโดยตรง ท่านจึงมี ความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ในด้านพระวินัย ท่านช่วยอบรมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้ด้าน พระวินัยให้แก่ศิษย์ลัทธิวิหาริกของท่านเป็นจำนวนมาก ถ้ามีอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์หรือ เกี่ยวกับพระวินัยแล้ว พระพุทธองค์จะทรงมอบให้ท่านเป็นผู้วินิจฉัย

ตัดสินใจคดีภิกษุณีท้อง
สมัยหนึ่ง ลูกสาวเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ หลังจากแต่งงานแล้วเข้ามาบวชโดยไม่ทราบว่า ตนตั้งครรภ์ เมื่อบวชได้ไม่นานครรภ์โตขึ้นมาก เป็นที่รังเกียจสงสัยของพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์แม้จะทรงทราบความจริงอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ความจริงปรากฏชัดแก่พุทธบริษัททั้ง ปวง จึงรับสั่งให้พระอุบาลีเถระตัดสินความเรื่องนี้

พระเถระ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาร่วมกันพิสูจน์ โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็น ประธาน มีนางวิสาขา และอนาถปิณฑิกะ เป็นต้น ร่วมกันพิจารณาเมื่อคณะผู้พิจารณาได้ตรวจดู มือ เท้า และลักษณะของครรภ์แล้วนับวันนับเดือนสอบประวัติย้อนหลังโดยละเอียดแล้วก็ทราบ ชัดเจนว่า “นางตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวช”

พระอุบาลีเถระ จึงได้ประกาศตัดสินในท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง ๔ ว่า “ภิกษุณีรูปนี้ยังมี ศีลบริสุทธิ์อยู่” แล้วกราบทูลเนื้อความให้พระบรมศาสดาทรงทราบ พระพุทธองค์ได้ตรัส อนุโมทนาสาธุการแก่พระเถระว่า “ชำระความได้ถูกต้องยุติธรรม

ปฐมสังคายนาวิสัชนาพระวินัย
ผลงานที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญ ทำให้พระพุทธศาสนายืนยาวสืบสอดมาถึงปัจจุบันนี้ ก็คือ หลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระ ได้คัดเลือก พระอรหันตสาวก จำนวน ๕๐๐ รูป ร่วมกันทำปฐมสังคายนา โดยมติของที่ประชุมสงฆ์ได้มอบ ให้ท่านรับหน้าที่วิสัชนาพระวินัย โดยรวบรวมพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ นำมาจัดรวบรวมเป็นหมวดหมู่จนเป็น พระวินัยปิฎก ที่เป็นหลักฐานให้ ศึกษากันในปัจจุบันนี้

อนึ่ง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยการนำของพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ก็ถือว่า ท่านสืบเชื้อสายการศึกษาพระวินัยมากจากศิษย์ของพระอุบาลีเถระเช่นกัน

ด้วยความที่ท่านพระอุบาลีเถระ เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านพระวินัยนี้ จึงได้รับยกย่องจาก พระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้ทรงพระวินัย ท่านพระอุบาลีเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระอุบาลีเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก