หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระโสณกุฏิกัณณเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๑๗. พระโสณกุฏิกัณณเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีวาจาไพเราะ

พระโสณกุฎิกัณณเถระ เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อว่า “กาฬี” ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า “โสณะ” แต่เพราะท่านชอบประดับหูของท่านด้วยเครื่องประดับมีมูลค่ามากถึง ๑ โกฎิ จึงได้ นามว่า “กุฎิกัณณะ” เติมเข้ามาข้างหลังชื่อ ดังนั้นท่านจึงมีชื่อว่า “โสณกุฎิกัณณะ

สมัยที่พระมหากัจจายนเถระ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ใน อวันตีทักขิณาปถชนบท มารดาของโสณกุฎิกัณณะ เป็นอุบาสิกาให้การบำรุงอุปัฏฐากท่าน เมื่อ โสณกุฎิกัณณกุมารเจริญเติบโตขึ้นได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระเถระอยู่บ่อย ๆ แล้วเกิดศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก และปวารณาตัวเป็นอุปัฏฐากของท่าน ด้วย

อยู่ชนบทบวชพระยาก
ต่อมาโสณกุฎิกัณณอุบาสก มีศรัทธาปรารถนาจะบวช แต่พระเถระได้แนะนำให้เขา ปฏิบัติตนบำเพ็ญกุศล ในเพศฆราวาสจะสะดวกกว่า เพราะชีวิตพระสงฆ์ต้องประพฤติ พรหมจรรย์นั้น เป็นเรื่องยากลำบาก แต่ โสณกุฎิกัณณะ ก็ยังยืนยันมั่นคงว่า ถึงจะลำบากอย่างไรก็ ยินดีที่จะปฏิบัติกิจของพระสงฆ์ อย่างดีที่สุด เฝ้าอ้อนวอนพระเถระอยู่หลายครั้ง ในที่สุดพระ เถระก็ให้บวชเป็นสามเณร ไว้ก่อนเนื่องจากอวันตีทักขิณาปถชนบทนั้น หาภิกษุได้ยาก การบวช พระ จะต้องมีภิกษุร่วมประชุมสังฆกรรม ให้การอุปสมบท อย่างน้อย ๑๐ รูป เรียกว่า ทสวรรค ท่านจึงเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๓ ปี กว่าที่จะมีภิกษุครบจำนวน ทำการอุปสมบทให้ท่านได้

เฝ้าพระผู้มีพระภาค
เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ได้เรียนพระกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ปลีกตัวหาสถานที่ สงบสงัด ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงในพรรษา นั้น

ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านมีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะท่านยังไม่เคย เห็นพระองค์เลย ท่านจึงกราบลาพระมหากัจจายนเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเถระก็อนุญาต และได้ฝากความไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค เพื่อขอแก้ไขพระวินัย อันเป็นพุทธบัญญัติบาง ประการ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระสงฆ์ ผู้อยู่ในเมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตีชนบาท รวมทั้งหมด ๕ ประการ (เหมือนในประวัติพระมหากัจจายนเถระ ดังกล่าวแล้วข้างต้น)

ถวายพระธรรมเทศนา
พระโสณกุฎิกัณณะ เดินทางมาถึงพระเชตะวันมหาวิหารแล้ว เข้าเฝ้ากราบถวายบังคม พระบรมศาสนาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรแก่ตนส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงปฏิสันถารทัก ทายกับเธอโดยสมควรแล้ว เธอได้กราบทูลความตามที่พระอุปัชฌาย์สั่งมา เมื่อพระพุทธองค์ทรง สดับรับทราบ ความลำบากของหมู่ภิกษุสงฆ์ ในชนบทแล้ว พระองค์ทรงประทานอนุญาตตามที่ ขอมานั้นทุกประการ

ได้รับยกย่องในทางผู้มีวาจาไพเราะ
พระผู้มีพระภาค มีดำรัสสั่งให้พระอานนท์เถระจัดสถานที่ ให้ท่านพักค้างแรมใน พระคันธกุฎีร่วมกับพระองค์ ในเวลาใกล้รุ่งของราตรีนั้น พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านแสดง ธรรมให้พระองค์ได้สดับ พระโสณกุฎิกัณณเถระ จึงน้อมรับสนองพุทธดำรัสด้วยการแสดง พระสูตรอันแสดงถึงวัตถุ ๘ ประการด้วยเสียงอันไพเราะ เมื่อจบเทศนาพระสูตรนั้นแล้ว พระ พุทธองค์ตรัสอนุโมทนา สาธุการชมเชยในความสามารถของท่านและได้ทรงยกย่องท่านใน ตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้มีวาจาไพเราะ, ผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำ ไพเราะ

ท่านพระโสณกุฎิกัณณเถระ พักอาศัยอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาค พอสมควรแก่ เวลาแล้ว ได้กราบทูลลา กลับมายังสำนักของพระมหากัจจายนเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ใน อวันตีชนบท กราบเรียนรายงานผลการเข้าเฝ้าให้ได้รับทราบทุกประการ และท่านยังได้แสดง เทศนาที่แสดงถวายพระพุทธองค์ให้ โดยมีมารดาของท่านรับฟัง เป็นการเพิ่มพูนศรัทธาความเชื่อ และปสาทะความเลื่อมใส แก่โยมมารดาของท่านอีกด้วย

ท่านพระโสณกุฎิกัณณเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาโดยสมควรแก่กาล เวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระโสณกุฎิกัณณเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก