หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๖	สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
[ วัดมกุฏกษัตริยาราม ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ )

ชาติกาลและชาติภูมิ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) ประสูติ ณ วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา นพศก จุลศักราช ๑๒๕๙ (ร.ศ. ๑๑๖) ที่บ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี.ท่านบิดาชื่อ “หงส์ ศิริสม” เป็นชาวโพธาราม ท่านปู่สืบเชื้อสายมาจากจีนแซ่ตัน ท่านย่าสืบเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์ ส่วนท่านมารดา ชื่อ “จีน” นามสกุลเดิมว่า “ประเสริฐศิลป์” ภูมิลำเนาเดิมอยู่ บ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ภายหลังท่านบิดาได้อุปสมบทเป็นภิกษุมาอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ถึงมรณภาพ เมื่ออายุ ๘๔ ปี (พ.ศ. ๒๔๙๖) ส่วนท่านมารดาก็ได้บวชเป็นชีมาอยู่ข้างวัดมกุฏกษัตริยาราม ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘๘ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๕) สมเด็จเป็นบุตรหัวปีในจำนวนพี่น้อง ๗ คน

ประถมวัยและประถมศึกษา
พ.ศ. ๒๔๔๙ พระชนม์ ๑๐ พรรษา ได้เข้ามาอยู่กับครูฟ้อน ผู้เป็นญาติและเข้าศึกษาภาษาไทยชั้น ประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดคฤหบดี ตำบลบ้านปูน อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี

พ.ศ. ๒๔๕๒ พระชนม์ ๑๓ พรรษา เมื่อเรียนจบประถมศึกษาแล้วได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนนายร้อยทหารบก (โรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.) แต่ป่วยเป็นโรคเหน็บชาเสีย จึงต้องกลับออกไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิม และไม่ได้กลับเข้ามาเรียนต่ออีก

พ.ศ. ๒๔๕๓ พระชนม์ ๑๔ พรรษา ท่านบิดามารดา ต้องการให้เรียนทางพระศาสนา จึงนำไปฝากให้อยู่กับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺต) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นพี่ของตา. พระวัดเขาวังเล่ากันต่อมาว่า ท่านเจ้าคุณมหาสมณวงศ์ เคยออกปากทำนายสมเด็จ ฯ ไว้ว่า “ลักษณะอย่างนี้ ต่อไปจะได้ดี” นัยว่าท่านหมายถึงพระเศียรที่มีลักษณะคล้ายกระพองช้าง

พ.ศ. ๒๔๕๔ พระชนม์ ๑๕ พรรษา พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป. ๗) ครั้งยังเป็นพระอริยมุนี ได้ออกเดินธุดงค์ไปพักที่ถ้ำเขาย้อยอยู่พอสมควรแล้ว เดินทางต่อไปเยี่ยมพระมหาสมณวงศ์ ที่วัดมหาสมณาราม ในฐานะที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในคณะ และเกี่ยวข้องกันทางญาติสัมพันธ์ พระมหาสมณวงศ์จึงขอฝากสมเด็จฯ กับพระอริยมุนี ให้มาอยู่ศึกษาปริยัติธรรมที่วัดมกุฏกษัตริยาราม.

พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชนม์ ๑๖ พรรษา ในราวเดือนเมษายน ได้เดินทางเข้ามาอยู่กับพระอริยมุนี ที่คณะนอก วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยมีนายเขียน ประเสริฐศิลป์ ผู้เป็นน้านำมาส่ง และ ทรงเริ่มศึกษาบาลีไวยากรณ์กับท่านเจ้าคุณอาจารย์บ้าง กับพระมหาจิณ จิณฺณาจาโร ป. ๔ บ้าง และศึกษาต่อกับพระมหาสุข สุขทายี ป.๕ ใน พ.ศ. ๒๔๕๖

บรรพชาอุปสมบท
พ.ศ. ๒๔๕๗ พระชนม์ ๑๘ พรรษา ทรงบรรพชาเป็นสามเณร มีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป. ๗) เป็นพระสรณคมนาจารย์ ที่พระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๕๙ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม มีสามเณรเรียนธรรมและบาลีอยู่มาก ได้ชักชวนกันออกวารสารรายปักษ์ขึ้นฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่า “สยามวัด” เพื่อเป็นสนามสำหรับฝึกหัดแต่ง โคลง กาพย์ กลอน กลบทและฉันท์ และจัดให้มีการประกวดแต่ง โคลง ฉันท์ เป็นต้น

ในจำนวนสามเณรเหล่านี้ สมเด็จ ฯ มีลายมือสวย จึงได้รับมอบให้เป็นบรรณาธิการรวบรวมและเขียนลงในสมุด ครั้งละ ๑-๒ เล่ม สำหรับนำออกอ่านในที่ประชุม ณ วันโกนแห่งปักษ์ทุกกึ่งเดือน วารสารนี้ดำเนินมาได้เกือบ ๒ ปีจึงหยุด เพราะทุกรูปมีภาระที่จะต้องเรียนมากขึ้น การหัดแต่งกวีนิพนธ์ในครั้งนั้น ทำให้สมเด็จ ฯ เป็นผู้สามารถการประพันธ์โคลงฉันท์ เป็นต้น

ในระยะเดียวกันนี้ ได้ทรงเรียนภาษาอังกฤษจากตำราด้วยพระองค์เอง ครั้นสอบประโยค ๔ ได้แล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ จึงเรียนจากครูโปร่ง (สำเร็จการศึกษาจากปีนัง) ซึ่งมาสอนที่กุฏิ ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๖๗ จึงเรียนกับลิงกัวโฟน บ้าง กับหลวงไพจิตร ฯ (สำเร็จการศึกษาจากเยอรมัน) บ้าง จนสามารถแต่ง-แปลบทเรียนได้โดยตลอดแล้ว จึงหยุดเรียน

สมเด็จ ฯ ทรงรู้ภาษาอังกฤษพอจะอ่านเขียนแปลได้ และรับสั่งได้บ้าง แต่ไม่ชำนาญฉะนั้นเวลาติดต่อกับชาวต่างประเทศ จึงใช้ล่ามเว้นแต่คราวจำเป็น จึงรับสั่งโดยประโยคสั้นๆ

พ.ศ. ๒๔๖๐ พระชนม์ ๒๑ พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ มีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระราชกวี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ที่พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐

พ ศ. ๒๔๖๐ พรรษาที่ ๑ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๑ พรรษาที่ ๒ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๖๒ พรรษาที่ ต ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๔ พรรษาที่ ๕ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๕ พรรษาที่ ๖ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๖ พรรษาที่ ๗ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๖๗ พรรษาที่ ๘ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๐ พรรษาที่ ๑๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๒ พรรษาที่ ๑๓ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค

พระกรณียกิจด้านการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๖๓ พรรษาที่ ๔ เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ ณ โรงเรียนบาลีในสำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม ณ เดือนพฤษภาคม และ พรรษาที่ ๕ เลื่อนขึ้นเป็นครูสอนธัมมปทัฏฐกถา พรรษาที่ ๗ เลื่อนขึ้นเป็นครูสอนมังคลัตถทีปนี

พ.ศ. ๒๔๖๔ พรรษาที่ ๕ เลื่อนขึ้นเป็นครูสอนธัมมปทัฎฐกถา (หลักสูตรบาลีประโยค ๓) ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม.
พ.ศ. ๒๔๖๖ พรรษาที่ ๗ เลื่อนขึ้นเป็นครูสอนมังคลัตถทีปนี (หลักสูตรบาลีประโยค ๔) ณ เดือน พฤษภาคม .
พ.ศ. ๒๔๖๘ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.๗) ครั้งยังเป็นพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ได้รับมอบจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎกบางปกรณ์ คือ อปทาน เถรคาถา เถรีคาถา พุทฺธวํส จริยาปิฎก และคัมภีร์มิลินทปัญหา ในเบื้องต้นได้แบ่งการตรวจชำระออกเป็น ๒ กอง คือ กองที่ ๑ ให้พระมหาจวน อุฏฺฐายี ป.๗ เป็นหัวหน้าตรวจชำระอปทาน เถรคาถา เถรีคาถา กองที่ ๒ ให้พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ ป.๗ เป็นหัวหน้าตรวจชำระ พุทฺธวํส จริยาปิฎก และ มิลินทปัญหา

สมเด็จ ฯ ได้สอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม เทียบกับฉบับอักษรพม่าและอักษรโรมันโดยตลอดเป็นเวลานาน จึงทำให้ชำนาญในอักษรทั้ง ๒ นี้ด้วย ฉะนั้น เมื่อเสด็จแทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนา ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงทรงอ่านพระไตรปิฎกอักษรพม่าได้โดยสะดวก

อนึ่ง โดยที่อักษรรามัญมีรูปร่างคล้ายกับอักษรพม่าโดยมาก จึงทรงสามารถอ่านคัมภีร์อักษรรามัญได้ด้วย

พ.ศ. ๒๔๖๙ พรรษาที่ ๑๐ เลื่อนขึ้นเป็นครูสอนตติยสมันตปาสาทิกา (หลักสูตรบาลี ประโยค ๕) ณ เดือนพฤษภาคม.
พ.ศ. ๒๔๗๐ พรรษาที่ ๑๑ เป็นกรรมการตรวจบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง ณ เดือนธันวาคม.
พ.ศ. ๒๔๗๑ พรรษาที่ ๑๒ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโท-เอก ในสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจบาลีประโยค ๔-๕-๖ และเป็นเลขานุการนักธรรมชั้นโท ของแม่กองธรรม คือ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป. ๗) ตั้งแต่ปีนี้ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งแม่กองธรรมลาออกจากหน้าที่.

พ.ศ. ๒๔๗๕ พรรษาที่ ๑๖ เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบาลี แห่งสำนักเรียนวัดมกกุฎกษัตริยาราม ณ วันที่ ๓ มิถุนายน สืบต่อจากพระราชวุฒาจารย์ (ชั้น กมาธิโก ป. ๕) ครั้งยังเป็นพระพินิตพินัย.

ตั้งพุทธมามกสมาคม
พ.ศ. ๒๔๗๖ ตอนต้นปี สมเด็จ ฯ ยังเป็นเปรียญ ได้ร่วมกับมิตรสหายตั้งสมาคมพุทธศาสนา ขึ้นเป็นครั้งแรก คือ “พุทธมามกสมาคม” โดยมีวัตถุที่ประสงค์เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งเสริมการศึกษา และบำรุงสัมมาปฏิบัติ ผู้ก่อตั้งครั้งแรก ฝ่ายบรรพชิตมีพระมหาจวน อุฏฺฐายี พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ วัดมกุฏกษัตริยาราม พระมหาผิน สุวโจ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น ฝ่ายคฤหัสถ์มีพระยาสุรเกษตรโสภณ หลวงสมัครนันทพล หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายไต๋ ปาณิกบุตร เป็นต้น

เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สมาคมก็เริ่มดำเนินการรับสมาชิกและประกวดเรียงความทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ต่อมาไม่ช้า ก็ถูกรัฐบาลในเวลานั้น ขอให้มหาเถรสมาคม ห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับสมาคมนี้ สมาคมจึงต้องหยุดกิจการและเลิกล้มไปในที่สุด

สมเด็จ ฯ ไม่ได้ดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยเอกเทศ ตามวัตถุที่ประสงค์ของพุทธมามกสมาคม แต่ในปลายปีนั้นเองก็ได้เป็นหัวหน้ากองเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหามกุฏราชวิทยาลัย และได้เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ (พระพุทธศาสนา) ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมาจนตลอด พ.ศ. ๒๕๐๕

พ.ศ. ๒๔๗๗ พรรษาที่ ๑๘ เป็นกรรมการตรวจบาลีประโยค ๗-๘-๙ แห่งสนามหลวง ตลอดถึง พ.ศ. ๒๕๐๘

กิจการมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ.๒๔๗๖ พรรษาที่ ๑๗ เป็นปีที่เริ่มฟื้นฟูกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยในยุคใหม่จึงทรงรับหน้าที่เป็นอนุกรรมการและกรรมการหลายอย่างดังต่อไปนี้

เป็นอนุกรรมการตรวจชำระแบบเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัย
เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม
เป็นกรรมาธิการวางระเบียบการบำรุง การศึกษาอบรมพระปริยัติธรรม ซึ่งมหามกุฏราชวิทยาลัยต้องรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว โดยขอให้กรมการศาสนาช่วยรับภาระไปจัดการบำรุงอีกส่วนหนึ่ง ณ วันที่ ๒๔ ตุลาคม
เป็นกรรมการอำนวยการออกหนังสือธรรมจักษุรายเดือนที่หยุดไปนานแล้วขึ้นใหม่ และเป็นประธานกรรมการตรวจเลือกพระสูตรที่จะแปลลงในหนังสือนั้นต่อไปด้วย ณ วันที่ ๑๕ ธันวาคม
เมื่อได้จัดแบ่งหน้าที่การงานภายในมหามกุฏราชวิทยาลัยออกเป็นกองต่างๆ ก็ทรงเป็นหัวหน้ากองเผยแผ่ ควบคุมดำเนินการออกหนังสือธรรมจักษุนั้นด้วย
พ.ศ. ๒๔๙๘ พรรษาที่ ๓๙ เป็นอุปนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๑ พรรษาที่ ๔๒ เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน เป็นต้นมา จนถึงวันสิ้นพระชนม์

พระกรณียกิจด้านคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๔๗๗ พรรษาที่ ๑๘ เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๔๙๐ พรรษาที่ ๓๑ เป็นเจ้าคณะรองคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๔๙๘ พรรษาที่ ๓๙ เป็นประธานกรรมการธรรมยุต
พ.ศ. ๒๔๙๙ พรรษาที่ ๔๐ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๕๐๑ พรรษาที่ ๔๒ เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

พระกรณียกิจด้านการคณะสงฆ์และสมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๗๖ พรรษาที่ ๑๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติสารมุนี
พ.ศ. ๒๔๗๘ พรรษาที่ ๑๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที เป็นประธานกรรมการบริหารในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี ร่วมกับพระญาณเวที วัดบุรณศิริ พระวิสุทธิสมโพธิ วัดพระเชตุพน และพระอริยกวี วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นกรรมการจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งยกเลิกการปกครองเป็นมณฑล

พ.ศ. ๒๔๗๙ พรรษาที่ ๒๐ เป็นกรรมาธิการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการเดินทางไปมาติดต่อกับต่างประเทศของภิกษุสามเณรชายแดน และในปีเดียวกันนี้ ได้เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ที่จะเสนอแก้ไขใหม่ ร่วมกับพระธรรมไตรโลกาจารย์ วัดมหาธาตุ พระธรรมโกศาจารย์ วัดเบญจมบพิตร พระราชสุธีวัดมหาธาตุ และพระศรีวิสุทธิวงศ์ วัดมกุฎกษัตริยาราม.

พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
พ.ศ. ๒๔๘๕ ประกาศใช้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ยกเลิก พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ แล้ว จัดรูปการปกครองคณะสงฆ์ เป็นแบบสังฆสภา ประกอบด้วยสมาชิก ๔๕ รูป คือ พระราชาคณะชั้นเทพ พระคณาจารย์เอก และเปรียญเอก เป็นที่ปรึกษา และประกอบด้วยคณะสังฆมนตรี คือสังฆนายก และสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธาณูปการ รับผิดชอบบริหารตามสายงาน ส่วนภูมิภาคก็มีเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล พร้อมด้วยพระคณาธิการ ตามลำดับ

พ.ศ. ๒๔๘๕ พรรษาที่ ๒๖ เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยคุณวุฒิ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม และเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ ตามพ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

สมเด็จ ฯ ทรงเป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา (ธรรมกถึก) เมื่อเป็นประธานกรรมการบริหารในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี ก็ได้ทรงตั้งพระอนุศาสนาจารย์ประจำอำเภอและจังหวัดขึ้นเกือบทั่วทั้งมณฑล และเมื่อเป็นกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัยก็เป็นหัวหน้ากองเผยแผ่อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ ตามคุณวุฒิและแนวทางที่เคยปฏิบัติมา.

พ.ศ. ๒๔๘๖ พรรษาที่ ๒๗ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสังฆนายกแทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) วัดบรมนิวาส ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ปีเดียวกัน และครั้งที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘

พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์
พ.ศ. ๒๔๘๙ พรรษาที่ ๓๐ เป็นผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส ครั้งที่ ๑ ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม.

พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระศาสนโศภน
พ.ศ. ๒๔๙๓ พรรษาที่ ๓๔ เป็นผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก แทนสมเดจพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส ครั้งที่ ๒ ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม.

พ.ศ. ๒๔๙๔ พรรษาที่ ๓๕ เป็นสังฆนายก ครั้งที่๑ ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน ถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน เพียง ๕ วันก็ลาออก กลับไปเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ ณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ต่อมา.

พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
พ.ศ. ๒๕๐๓ พรรษาที่ ๔๔ เป็นสังฆนายกครั้งที่ ๒ ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ตลอดจนสิ้น พ.ศ. ๒๕๐๕
พ.ศ. ๒๕๐๕ พรรษาที่ ๔๖ เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช ณ วันที่ ๑๗ มิถุนายน ในขณะที่ว่างสมเด็จพระสังฆราช ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

พ.ศ. ๒๕๐๖ พรรษาที่ ๔๗ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕.
พ.ศ. ๒๕๐๘ พรรษาที่ ๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเป็นประธานมหาเถรสมาคม ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ อันเป็นวันสิ้นพระชนม์.

เกียรติประวัติและพระกรณีพิเศษ
พ.ศ. ๒๔๖๘ พรรษาที่ ๙ เป็นหัวหน้ากองตรวจชำระพระไตรปิฎก คือคัมภีร์อปทานเถรคาถาและเถรีคาถา ในนามของเจ้าคุณอาจารย์ (พระศาสนโศภน) ซึ่งคัดมาจากฉบับขอม โดยสอบทานกับฉบับพม่าและโรมัน

พ.ศ. ๒๔๗๑ พรรษาที่ ๑๒ ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ชั้น ๕ ปปร. ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน
พ.ศ. ๒๔๗๕ พรรษาที่ ๑๖ เป็นกรรมการวัดมกุฏกษัตริยาราม
พ.ศ. ๒๔๗๖ พรรษาที่ ๑๗ เป็นกรรมการสอบจรรยาประโยคมัธยมบริบูรณ์ (ม.๘) ตั้งแต่ วันที่ ๒๕ มกราคม ถึง พ.ศ. ๒๔๘๒
พ.ศ. ๒๔๗๗ พรรษาที่ ๑๘ เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา (ธรรมกถึก)
พ.ศ. ๒๔๗๗ พรรษาที่ ๑๘ เป็นกรรมการตรวจและสะสางศาสนสมบัติของวัดทั่วไป ตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน เป็นต้นมา
พ.ศ. ๒๔๗๘ พรรษาที่ ๑๘ เป็นกรรมการเทียบวิทยะฐานะเปรียญ ๖ ประโยค ให้เท่ากับ ประโยคมัธยมบริบูรณ์ (ม.๘)
พ.ศ. ๒๔๗๙ พรรษาที่ ๒๐ เป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฎก ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม
พ.ศ. ๒๔๘๒ พรรษาที่ ๒๓ ได้รับรางวัลที่ ๑ ในการประกวดแต่ง “รตนตฺตยปฺปภาวสิทฺธิคาถา” แทน “รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา” และ ใช้สวดในราชพิธีต่อมา ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน

พ.ศ. ๒๔๘๘ พรรษาที่ ๒๙ เป็นประธานกรรมการส่งเสริมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๘๘ พรรษาที่ ๒๙ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดมกุฏกษัตริยาราม สืบต่อ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺดโล ป.๗) ผู้ถึงมรณภาพ ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน และเป็นเจ้าอาวาส ณ วันที่ ๑๙ ธันวาคม

อนึ่ง ในปีนี้ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยสัทธิวิหาริกองค์แรก คือสามเณรประจวบ เปรียญต่อมาได้เป็นพระราชาคณะ “พระกิตติสารมุนี” (ประจวบ กนฺตาจาโร) ปัจจุบันเป็นพระธรรมปัญญาจารย์ เจ้าอาวาส วัดมกุฏกษัตริยาราม รวมสัทธิวิหาริกทั้งสิ้น ๑๘๔๘ รูป

พ.ศ. ๒๔๙๗ พรรษาที่ ๓๘ เป็นประธานกรรมการจัดการรายการแสดงธรรมทางวิทยุในวันธรรมสวนะ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา
พ.ศ. ๒๔๙๘ พรรษาที่ ๓๙ เป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุติกนิกาย
พ.ศ. ๒๔๙๙ พรรษาที่ ๔๐ เป็นผู้อุปถัมภ์ คณะกรรมการการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการและประชาชน
พ.ศ. ๒๔๙๙ พรรษาที่ ๔๐ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ณ วันที่ ๒๒ ตุลาคม

พ.ศ. ๒๕๐๐ พรรษาที่ ๔๑ ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ภปร. ชั้น ๑
พ.ศ. ๒๕๐๑ พรรษาที่ ๔๒ ทรงตั้งและอุปถัมภ์บำรุงมูลนิธิกิจการศาสนาและมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.) ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม มีสำนักงานอยู่ที่ตึกศิริสม ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา มีการออกวารสารรายเดือนชื่อ “ศุภมิตร” เป็นประจำตลอดมานอกจากนี้ยังมีการบรรยายธรรมทางวิทยุกระจายเสียงอีกด้วย

พ.ศ. ๒๕๐๕ พรรษาที่ ๔๖ ทรงเป็นประธานมูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน มีสำนักงานอยู่ที่ตึกกรุณานิมิต หลังวัดมกุฏกษัตริยาราม อันเป็นสถานบำบัดโรคผิวหนังของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๐๘ พรรษาที่ ๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเป็นประธานมหาเถรสมาคม ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึงวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ อันเป็นวันสิ้นพระชนม์

พระกรณียกิจด้านต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๔๗๑ พรรษาที่ ๑๒ ครั้งยังเป็นเปรียญ เสด็จไปดูการพระศาสนาในประเทศลาว คือสุวรรณเขต ท่าแขก ปากหินปูน ถึงบ่อแหน่ง บ่อโพนติ้ว และนครเวียงจันทน์

พ.ศ. ๒๔๙๘ พรรษาที่ ๓๙ เสด็จไปเยี่ยมคณะสงฆ์ในประเทศมาเลเซีย - สิงคโปร์ และเสด็จเลยไปนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย เนปาล และลังกา ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม

พ.ศ. ๒๕๐๒ พรรษาที่ ๔๓ เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปร่วมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในประเทศญี่ปุ่น และกลับมาแวะเยี่ยมทหารไทยในประเทศเกาหลี ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ถึงเดือนเมษายน

พ.ศ. ๒๕๐๔ พรรษาที่ ๔๕ เป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช (วัดเบญจมบพิตร) ไปร่วมประชุมสังคายนา ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน

พ.ศ. ๒๕๐๗ พรรษาที่ ๔๘ เป็นหัวหน้าคณะทูตศาสนไมตรีเสด็จเยี่ยมพุทธบริษัทที่ฮ่องกง เกาะไต้หวัน (จีนคณะชาติ) ประเทศเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญเสด็จของพุทธบริษัทในที่นั้นๆ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน และในคราวเดียวกัน ได้เสด็จกลับมาแวะมอบพระไตรปิฎกแก่คณะสงฆ์ญวน ที่กรุงไซ่ง่อน ประเทศเวียดนามใต้ ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน

พ.ศ. ๒๕๑๐ พรรษาที่ ๕๑ เสด็จเยี่ยมคณะสงฆ์ลังกา ตามคำเชิญเสด็จของคณะสงฆ์และรัฐบาลลังกา ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์

งานแปลและพระนิพนธ์
พ.ศ. ๒๔๖๙ พรรษาที่ ๑๐ เมื่อทรงเป็นครูสอนบาลีประโยค ๕ ณ สำนักเรียน วัดมกุฏกษัตริยาราม ได้ทรงแปลตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เพื่อให้นักเรียนคัดลอกไปเป็นตำรา และได้อนุญาตให้โรงพิมพ์ไท ถนนรองเมือง พิมพ์ขึ้นเผยแพร่ครั้งหนึ่ง ต่อมาจึงมอบลิขสิทธิ์ให้มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมา

การนิพนธ์นั้น ได้ทรงไว้เป็นเรื่องใหญ่บ้าง เล็กบ้าง มีกว่า ๑๐๐ เรื่อง เช่น มงคลในพระพุทธศาสนา สาระในตัวคน วิธีต่ออายุให้ยืนและทำใจให้ชุ่มชื่นผ่องใส ฉันไม่โกรธ เป็นต้น พระนิพนธ์เหล่านี้ที่พิมพ์แล้วก็มาก ที่ยังไม่ได้พิมพ์ก็มี

พระธรรมเทศนาต่างๆ นั้น ทรงเขียนไว้ในใบลานบ้าง แสดงโดยปฏิภาณ และอัดเทปไว้บ้าง หลายร้อยเรื่อง แต่ที่สำคัญ คือพระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถา ที่แสดงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระธรรมเทศนาเหล่านี้ โดยมากยังไม่ได้พิมพ์

นอกจากนี้ ยังมีคำบรรยายในที่ต่างๆ และคำปราศรัยอีกมากมาย

การตั้งหลักสูตรการศึกษาขึ้นใหม่
พ.ศ. ๒๕๑๔ พรรษาที่ ๕๕ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพนั้น ได้ทรงส่งเสริมให้คณะสงฆ์กับกระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกันจัดตั้งหลักสูตรการศึกษาของภิกษุสามเณรขึ้นใหม่ เป็นโรงเรียนเอกเทศ เรียกว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ โดยผนวกความรู้นักธรรม-บาลี และวิชาสามัญเข้าด้วยกัน เริ่มต้นด้วยประโยคประถมศึกษาตอนปลายขึ้นไปถึงประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายตามลำดับ ในการนี้ กองสลากกินแบ่งได้บริจาคทรัพย์สร้างสถานศึกษาเป็นตึก ๓ ชั้นขึ้นที่หลังวัดมกุฏกษัตริยารามเป็นแห่งแรก

อวสานกาลแห่งพระชนม์ชีพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคล ขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เวลา ๑๐.๐๕ น.

สมเด็จ ฯ ดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ๑๗ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ๓ พรรษา อุปสมบทเป็นภิกษุ ๕๕ พรรษา เป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ๒๗ พรรษา และดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ๖ ปี ๑ เดือน คำนวณพระชนมายุเต็ม ได้ ๗๔ พรรษา ๑๑ เดือน ๒ วัน

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก