หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระนันทเถระ (พระนันทศากยเถระ)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระนันทเถระ (พระนันทศากยเถระ)
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระนันทเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัวหนึ่ง ในกรุงหงสวดี เจริญวัยแล้ว กำลังฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระนันทเถระ มาบังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ครองกบิลพัสดุ์นคร เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา ทำให้บรรดาประยูรญาติมีความยินดีร่าเริง ใคร่จะเห็น ด้วยเหตุนั้น เมื่อพระราชกุมารประสูติแล้ว บรรดาประยูรญาติได้ถือเอานิมิตนั้นไปถวายพระนามว่า “นันทกุมาร

เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระราชบิดา และพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระน้านาง ประกาศธรรมให้ได้ความเชื่อ ความเลื่อมใส

ถูกบังคับให้บวช
ในวันหนึ่ง มีการอาวาหมังคลาภิเษก ระหว่างนันทุมารและนางชนบทกัลยาณี พระองค์เสด็จไปเสวยที่พระตำหนักของนันทกุมาร เสร็จแล้ว ทรงส่งบาตรให้นันทกุมารถือไว้ แล้วตรัสอวยชัยให้พร เพื่อเป็นมงคลแล้วเสด็จกลับ

ส่วนนันทกุมาร ถือบาตรตามเสด็จไป นึกรำพึงในใจว่า ถ้าพระองค์ทรงรับบาตรในที่แห่งใด ก็จะรีบกลับมา แต่ไม่สามารถจะทูลเตือนได้ เพราะมีความเคารพในพระองค์ ส่วนนางชนบทกัลยาณี ที่จะเป็นเทวีของนันทกุมาร ได้เห็นอาการอย่างนั้น จึงร้องสั่งว่า ขอพระลูกเจ้า จงรีบเสด็จกลับมา

ครั้นพระบรมศาสดา เสด็จถึงที่ประทับแล้ว จึงตรัสถามนันทกุมารว่า นันทะ เธอจักบวชหรือ นันทกุมารแม้ไม่สมัครใจจะบวช แต่ไม่อาจขัด เพราะมีความเคารพมาก จึงทูลยอมรับ ด้วยความฝืนใจว่าจะบวช

ครั้นบวชแล้ว ก็หวนระลึกถึงแต่คำที่นางชนบทกัลยาณี ที่ร้องสั่งไว้อยู่เสมอ มีความกระสันกระวนกระวาย ในอันที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป คิดจะสึกออกมา

พระพุทธองค์พาท่องเทวโลก
พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง จึงพาเที่ยวจาริกไปในสู่เทวโลก ให้ได้เห็นนางเทพธิดาที่มีรูปสวยงามกว่านางชนบทกัลยาณีนั้น ให้พระนันทะ ละความรักรูปนางชนบทกัลยาณีเสีย มุ่งหมายอยากจะได้รูปหญิงที่สวย ๆ งาม ๆ ยิ่งกว่านั้นต่อไป

ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่ออยากได้หญิงงาม
ความจริงก็เป็นไปเช่นนั้น จนผลที่สุด พระบรมศาสดาต้องเป็นผู้รับประกันว่า ถ้าพระนันทะ ตั้งใจจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระองค์ทรงรับรองที่จะหาหญิงที่สวย ๆ งาม ๆ ให้ ต่อแต่นั้น พระนันทะ ก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่ออยากได้หญิงที่รูปสวย ๆ งาม ๆ จนข้อความนั้น แผ่กระจายไปทั่ว

ถูกล้อเลียนว่าเป็นลูกจ้าง
หมู่ภิกษุก็พากันล้อเลียนท่านว่า พระนันทะเป็นลูกจ้าง “เขาว่า ท่านนันทะเป็นลูกจ้าง เขาว่า ท่านนันทะถูกซื้อมา ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุอยากได้นางเทพอัปสรทั้งหลาย เขาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับประกันท่านนันทะนั้น ที่จะได้นางเทพอัปสร ๕๐๐ นาง ซึ่งมีเท้าเหมือนไก่”

ท่านพระนันทะเกิดความละอาย คิดว่า “ ภิกษุพวกนี้ ไม่พูดถึงผู้อื่น พูดปรารภถึงเรา การกระทำของเราไม่ถูกต้องแน่แล้ว” หลีกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตต์

เมื่อท่านพระนันทะได้บรรลุพระอรหัตต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้ ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดกว่าเหล่าภิกษุสาวก ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย (อินฺทริเยสุ คุตฺตทฺวารานํ)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระนันทเถระ เอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก