หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ไทย พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
๒๔ เมษายน ๒๔๓๑ - ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕
วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
--------------------
ชื่อ-สกุล
นามเดิม จูม จันทวงศ์
บิดา คำสิงห์ จันทวงศ์
มารดา เขียว จันทวงศ์
เกิด ที่บ้านท่าอุเทน ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ. นครพนม เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๑ (ปีชวด)

บรรพชา
อายุ ๑๒ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพนแก้ว ต.ท่าอุเทน เมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๔๒

อุปสมบท
เมื่ออายุครบบวชแล้ว ได้อุปสมบท ที่วัดมหาชัย อ.เมือง จ.หนองบัวลำพู เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๕๐ โดยมี พระครูแสง ธมมธโร เป็นพระอุปัชฌาย์

ธรรมศึกษา
พ.ศ.๒๔๔๖ ติดตาม พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ไปจำพรรษา ที่วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี อันเป็นสำนัก ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ได้มีโอกาส ศึกษาข้อวัตร ปฏิบัติ ในด้าน สมถวิปัสสนากรรมฐาน จากท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

คุณพิเศษ
เป็นอุปปัชฌาย์ ที่มีสัทธิวิหาริก เป็นพระกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น หลายรูปอาทิ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ขาว อนาลโย พระอาจารยอ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต

สมณศักดิ์
๑๙ ธ.ค.๒๔๘๘ ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมเจดีย์

เจ้าอาวาส
วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ. อุดรธานี

มรณภาพ
๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ณ โรงพยาบาลศิริราช


ชาติกำเนิด และชีวิตปฐมวัย
ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ มีนามเดิมว่า จูม จันทรวงศ์ เกิดเมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2431 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำเดือน 6 ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช 2450 เป็นบุตรคนที่ 3 (ในจำนวน 9 คน) ของ นายคำสิงห์ และนางเขียว จันทรวงศ์ มีอาชีพทำนาทำไร่ ชาติภูมิอยู่บ้านท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

เด็กชายจูม จันทรวงศ์ เป็นผู้มีอุปนิสัยดี สนใจในการทำบุญทำกุศล ตั้งแต่เป็นเด็ก ชอบติดตามบิดามารดา หรือคุณตาคุณยาย ไปวัด ได้มีโอกาสพบเห็นพระสงฆ์เป็นประจำ เมื่ออายุครบเกณฑ์เข้าเรียนหนังสือ ก็ไปเข้า โรงเรียนวัดศรีเทพ ประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จนจบหลักสูตรประถมศึกษาบริบรูณ์ ในสมัยนั้น

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ต่อมาเมื่อเด็กชายจูม จันทรวงศ์อายุได้ 12 ปี บิดามารดาประสงค์จะให้ลูกชายได้บวชเรียนในพุทธศาสนา จึงได้จัดการ ให้เด็กชายจูมได้บรรพชาเป็นสามเณร ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.1442 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 1 (เดือนอ้าย) ปีกุน โดยมี พระครูขันธ์ ขนฺติโก วัดโพนแก้ว ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูเหลา วัดโพนแก้ว เป็นพระอาจารย์ ผู้ให้ไตรสรณคมน์และศีล ท่านพระครูสีดา วัดโพนแก้ว เป็นพระอาจารย์ผู้ให้โอวาท และอบรมสั่งสอนความรู้ ทางหลักธรรม

เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดโพนแก้ว และได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม รวมทั้งระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณีของ วัดโพนแก้วเป็นเวลา 3 ปี

การศึกษาเล่าเรียนของพระสงฆ์ในสมัยนั้น เป็นการเรียนอักษรสมัย คือ อักษรขอม อักษรธรรม และภาษาไทย สามเณรจูม จันทรวงศ์ มีความสนใจในการศึกษา เล่าเรียน สามารถเขียนอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม จนเป็นที่รักใคร่ ของครูบาอาจารย์ นอกจากนี้ ท่านยังได้ฝึกหัดเทศน์มหาชาติ (เวสสันดรชาดก) เป็นทำนองภาคอีสาน ปรากฏว่า เป็นที่นิยมชมชอบ ของบรรดาญาติโยมทั้งบ้านใกล้ และบ้านไกล

ต่อมาในปี พ.ศ.2445 สามเณรจูม จันทรวงศ์ ได้ย้ายไปอยู่วัดอินทร์แปลง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และจะได้เป็นปัจจัยสำคัญ ในการศึกษาหลักธรรมชั้นสูง สืบต่อไป แต่ท่านก็อยู่จำพรรษาที่วัดอินทร์แปลงได้เพียงปีเดียว ในปี พ.ศ.2446 ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ซึ่งต่อมาเป็น "พระเทพสิทธาจารย์" และเป็นพระอาจารย์สามเณรจูม ท่านมีจิตใจมุ่งมั่น ที่จะบำเพ็ญสมณธรรม ตามหลักของไตรสิกขา และมีความสนใจ เรื่องการปฏิบัติกรรมฐาน เป็นพิเศษ ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย จึงปรารภกับหมู่คณะ และสานุศิษย์ว่า จะเดินทางไปกราบขออุบายธรรมปฏิบัติ จากพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายสมถกรรมฐาน คือ พระอาจารย์เสาร์ กนุสีตโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ดังนั้น สามเณรจูมและหมู่คณะ จึงได้ติดตามพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย เดินทางออกจากจังหวัดนครพนม มุ่งสู่จังหวัดอุบลราชธานี

คณะพระอาจารย์จันทร์และลูกศิษย์ ออกเดินทางรอนแรมไปตามป่าดงพงไพร พักไปเรื่อยๆ เมื่อผ่านหมู่บ้าน เนื่องจาก การเดินทางในสมัยนั้นยาก ลำบากเต็มทน นอกจากต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าแล้ว ยังต้องผ่านป่าดงหนาทึบ และบางตอน เป็นภูเขาสูงชัน บางตอนเป็นหุบเหวลึก ต้องหาทางหลีกเลี่ยงวกไปวนมา จึงทำให้การเดินทางล่าช้า เมื่อไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ได้นำคณะศิษย์เข้ากราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ สำนักวัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้ฝากถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและแนวกรรมฐาน

ตลอดเวลา 3 ปี ที่อยู่จำพรรษา ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลฯ สามเณรจูม จันทรวงศ์ ได้รับการอบรมสั่งสอน จากพระอาจารย์ใหญ่ ทั้งสองท่านเป็นอย่างดี จนมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องวัตรปฏิบัติ และแนวทางเจริญกรรมฐาน เป็นที่น่าพอใจ เพราะอาศัยเมตตาจิต และโอวาทานุสาสนี จากพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง จึงทำให้อุปนิสัย ของสามเณรจูม ยึดมั่นในพระธรรมวินัย ประพฤติดีปฏิบัติชอบ สร้างสมบารมีเรื่อยมา จนได้เป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นปูชนียบุคคลของชาวอีสานในกาลต่อมา

ภายหลังจากที่ได้ศึกษาธรรมปฏิบัติกรรมฐาน กับพระอาจารย์เสาร์ และ พระอาจารย์มั่น เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ในปี พ.ศ. 2449 ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย (พระเทพสิทธาจารย์) จึงได้กราบลาพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง พาคณะพระภิกษุและสามเณร เดินทางกลับจังหวัดนครพนม อันเป็นถิ่นมาตุภูมิ ในการเดินทางกลับนั้น ก็มีความยากลำบาก เหมือนกับตอนเดินทางมา คือ ต้องเดินทางด้วยเท้า ไม่มียานพาหนะใดๆ ถนนก็ยังไม่มี คงมีแต่หนทาง และทางเกวียนที่ลัดเลาะไปตามป่าตามดง เมื่อผ่านหมู่บ้าน ก็ปักกลด พักแรม เป็นระยะๆ หมู่บ้านละ 2 คืนบ้าง 3 คืนบ้าง ชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันมาฟังธรรม โดยท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย เป็นผู้แสดงธรรมโปรดญาติโยม ทุกหมู่บ้านที่ผ่านเข้าไป ประชาชนเกิดศรัทธาปสาทะเป็นอย่างยิ่ง บางแห่งถึงกับนิมนต์ คณะของพระอาจารย์จันทร์ ให้พักอยู่หลายๆ วันก็มี

ครั้นถึงวันที่ 8 เดือนเมษายน พ.ศ.2449 ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย เป็นวันมหาฤกษ์ ที่คณะพระสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย เดินทางเข้าเขตจังหวัดนครพนม ถึงบ้านหนองขุนจันทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองนครพนม จึงหยุดพักอยู่ที่นั่น ก่อน พระยาสุนทรกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนม ได้ทราบข่าวว่ามีพระผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น เดินทางมาถึงบ้านหนองขุนจันทร์ ก็เกิดความชื่นชมยินดีเป็นอันมาก จึงสั่งให้ข้าราชการทุกแผนก ประกาศให้ ประชาชนทราบ และจัดขบวนออกไปต้อนรับ โดยมีเครื่องประโคมต่างๆ มีฆ้อง กลอง ปี่ พาทย์ เป็นต้น เมื่อไปถึง ท่านเจ้าเมือง ก็เข้ากราบนมัสการพระสงฆ์เหล่านั้น และนิมนต์ให้ขึ้นนั่งบนเสลี่ยง ซึ่งมีชายฉกรรจ์แข็งแรง 4 คนหามแห่เข้าสู่เมืองนครพนม จนถึง วัดศรีขุนเมือง (วัดศรีเทพประดิษฐาราม) คณะสงฆ์ลูกศิษย์ ของพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่น ก็ได้ปักหลักตั้งสำนักสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุตติกนิกายอยู่ ณ อารามแห่งนี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาในปี พ.ศ.2450 ท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย (พระเทพสิทธา จารย์) ได้พิจารณาเห็นว่า ลูกศิษย์ทั้ง 7 คนของท่านคือ สามเณรจุม จันทรวงศ์ สามเณรสังข์ สามเณรเกต สามเณรคำ นายสาร นายสอน และนายอินทร์ ทั้งหมดนี้เป็นผู้มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ สมควรจะทำการอุปสมทบได้แล้ว ท่านพระอาจารย์จันทร์ จึงจัดเตรียมบริขาร เครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ศิษย์ แล้วพาคณะศิษย์ทั้ง 7 คน เดินทางจากเมืองนครพนม ไปยังเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เพื่อเข้ารับการ อุปสมบทเป็นพระภิกษุสืบต่อไป

ในการเดินทางครั้งนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ได้เล่าไว้ว่า "เดินทางด้วยเท้าเปล่าจากเมืองนครพนม ถึงหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา 15 วันเต็มๆ ไปถึงแล้วก็พักผ่อนกันพอสมควร วันอุปสมบทคือ วันที่ 9 เดือนมีนาคม พ.ศ.2450 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม ณ พัทธสีมาวัดมหาชัย ตำบลหนองบัวลำภู อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านพระครูแสง ธมฺมธโร วัดมหาชัย เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสีมา สีลสมฺปนฺโน วัดจันทราราม (เมืองเก่า) อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระอาจารย์จันทร์ เขมิโย (พระเทพ สิทธาจารย์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พนฺธุโล" การอุปสมบทเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 17.10 น.

หลังจากที่พระภิกษุจูม พนฺธุโล ได้อุปสมบทเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ก็ได้นำคณะพระนวกะที่เป็นลูกศิษย์ เดินทางกลับจังหวัดนครพนม โดยผ่านเมืองอุดรธานี มุ่งสู่จังหวัดหนองคาย ลงเรือชะล่า ซึ่งพระยาสุนทรเทพสัจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนม จัดให้มารับที่จังหวัดหนองคาย ล่องเรือไปตามแม่น้ำโขงเป็นเวลา 12 วันเต็มๆ ก็ถึงนครพนม จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม (วัดศรีขุนเมือง) 1 พรรษา

ในปี พ.ศ.2451 พระภิกษุสามเณรจำนวน 5 รูป ได้แก่ 1. พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย 2. พระภิกษุจูม พนฺธุโล 3. พระภิกษุสาร สุเมโธ 4. สามเณรจันทร์ มุตตะเวส และ 5. สามเณรทัศน์ ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ให้มีความรู้ ทางด้านนักธรรมและบาลีให้ดียิ่งขึ้น การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในสมัยนั้น เต็มไปด้วยความลำบาก อาศัยพ่อค้าหมูเป็นผู้นำทาง ผ่านจังหวัดสกลนคร ขึ้นเขาภูพาน และต้องนอนค้างคืนบนสันเขาภูพานถึง 2 คืน ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น อำเภอชนบท และหมู่บ้านต่างๆ จนถึง จังหวัดนครราชสีมา ใช้เวลาเดินทาง ทั้งสิ้น 24 วัน เมื่อเดินทางถึงนครราชสีมา ก็ได้โดยสารรถไฟ ต่อเข้ากรุงเทพฯ เพราะในสมัยนั้น ทางรถไฟมาถึงแค่โคราช ถึงกรุงเทพฯ แล้วได้ไปพักอยู่วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งมี พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ เป็นเจ้าอาวาส ท่านพระอาจารย์ จันทร์ เขมิโย ได้นำคณะเข้ากราบเรียน โดยนำจดหมายฝากจาก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนมเข้าถวาย ท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ ทราบเจตจำนงแล้ว ก็ได้รับพระภิกษุสามเณรทั้ง 5 รูป ให้อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสืบต่อไป

พระภิกษุจูม พนฺธุโล ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ณ สำนักวัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลา หลายพรรษา พระภิกษุจูมได้ตั้งใจ ศึกษาเล่าเรียน ด้วยวิริยะและอุตสาหะ แม้จะทุกข์ยากลำบาก ก็อดทนต่อสู้เพื่อความรู้ ความก้าวหน้า ในที่สุดท่านก็สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี และชั้นโท ต่อมาก็เรียนบาลีไวยากรณ์ และแปลธรรมบท สอบไล่ ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค จากความสำเร็จทางการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมนี้ พระมหาจูม พนฺธุโล จึงได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูฐานานุกรม ที่ "พระครูสังฆวุฒิกร" ซึ่งเป็นฐานานุกรมของ พระสาสนโสภณ (เจริญ ญาณวโร) ในปี พ.ศ.2448 ปีมะเส็ง เป็นปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ เนตติโพธิ์) มีศักดิ์เป็นมหาอำมาตย์ตรี ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลอุดรธานี ได้จัดสร้างวัดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง (นอกเหนือไปจากวัดมัชฌิมาวาส) ได้นิมนต์พระครูธรรมวินยานุยุต เจ้าคณะ เมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาส มาเป็นเจ้าอาวาสวัดที่สร้างใหม่นี้ ต่อมาพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ ได้เข้ากราบทูลขอชื่อวัดใหม่ ต่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ทรงประทานนามว่า "วัดโพธิสมภรณ์" ให้เป็นอนุสรณ์ แด่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ เนตติโพธิ์) ผู้ก่อตั้ง จำเดิมแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมา พ.ศ.2456 พระยาราชานุกูลวิบูลย์ภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) ดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลภาคอีสาน และเป็น สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรธานี ภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระยามุขมนตรีศรีสมุหพระนครบาล ได้พิจารณาเห็นว่า ภายใน เขตเทศบาลอุดรธานี ยังไม่มีวัดฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย สมควรจะจัดให้วัดโพธิสมภรณ์ เป็นวัดคณะธรรมยุติ และในขณะเดียวกันก็ขาด พระภิกษุผู้จะมาเป็นเจ้าอาวาส เนื่องจากเจ้าอาวาสองค์ก่อน (คือ พระครูธรรมวินยานุยุต) ชราภาพมาก และญาติโยมได้นิมนต์ ให้กลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน คือ วัดศรีเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย ท่านพระยามุขมนตรีฯ (อวบ เปาโรหิตย์) จึงไปปรึกษา หารือกับพระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ และได้นำความขึ้นกราบทูล พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ เพื่อขอพระเปรียญธรรม 1 รูป จาก วัดเทพศิรินทราวาส ไปเป็นเจ้าอาวาส วัดโพธิสมภรณ์

ท่านเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส โดยบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้คัดเลือกพระเปรียญธรรม ผู้มีความรู้ความสามารถ ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาและจริยา และมีภูมิลำเนาอยู่ภาคอีสาน ปรากฏว่าพระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนธุโล น.ธ.โท. ป.ธ. 3) ได้รับการคัดเลือก นับว่าเป็นผู้เหมาะสมที่สุด และเป็นที่พอใจของพระยามุขมนตรีฯ อีกด้วย เพราะท่านพระยาฯ มีความสนิทคุ้นเคย และเคยเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงพระครูสังฆวุฒิกร (จูม) มาก่อน

พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนฺธุโล) อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลานานถึง 15 ปี เมื่อได้รับพระบัญชาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และ พระสาสนโสภณ เช่นนั้น ก็มีความเต็มในที่จะสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มที่ จึงอำลาวัดเทพศิรินทราวาส ที่ท่านอยู่จำพรรษามานานถึง 15 ปี เดินทางสู่จังหวัดอุดรธานี ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อันเป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2466 เป็นต้นมา เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ในฐานะนักปกครองเป็นครั้งแรก พระครูสังฆวุฒิกร (จูม พนฺธุโล) ก็ได้เร่งพัฒนาวัดโพธิสมภรณ์ ให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งทางด้านศาสนาสถาน ศาสนศึกษา ศาสนบุคคลและศาสนธรรม

ที่มา : http://www.fungdham.com
ย้อนกลับ | หน้าที่ ๑ | หน้าที่ ๒ | หน้าต่อไป

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก