หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระโสณาเถรี
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๗. พระโสณาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ปรารถนาความเพียร

พระโสณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี ได้ชื่อว่า “โสณา” เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้มีคู่ครองที่มีฐานะเสมอกัน อยู่ร่วมกันมามีบุตร ๗ คน มีธิดา ๗ คน

จากเศรษฐีเป็นอนาถา
เมื่อบุตรธิดาทั้งหลายเจริญวัยแล้ว ได้แต่งงานมีคู่ครองเรือนแยกย้ายกัน ออกไปอยู่ตาม ลำพัง ต่างก็มีฐานะความเป็นอยู่สุขสบาย ตามสมควรแก่อัตภาพฆราวาสวิสัย ต่อมาสามีของนาง ถึงแก่กรรมลง นางได้ปกครอง ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมด โดยยังมิได้จัดสรรแบ่งปันให้แก่บุตรธิดา เลย และต่อมา บุตรธิดาเหล่านั้น ได้พากันพาพูดกับนางบ่อย ๆ ว่า:- “คุณแม่ บิดาของพวกข้าพเจ้าก็ตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ แม่จะเก็บเอาไว้ทำไม หรือแม่เกรงว่าพวกเราทั้ง ๑๔ คนนี้จะเลี้ยงแม่ไม่ได้”

นางโสณาได้ฟังคำของลูก ๆ มาพูดกันอยู่บ่อย ๆ ก็คิดว่า “เมื่อเราแบ่งทรัพย์สมบัติให้ แล้ว ลูก ๆ ก็คงจะเลี้ยงดูเราให้มีความสุขได้ ไม่ต้องลำบาก”

เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว นางก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกชายหญิงทั้ง ๑๔ คน ๆ ละเท่า ๆ กัน แล้วนางก็ไปอยู่อาศัยกลับลูกชายคนโต เมื่อไปอยู่ใหม่ ๆ ก็ได้รับการปฏิบัติ ดูแลอย่างดี แต่เมื่อ นานไป ลูกสะใภ้ก็เริ่มมีความรังเกียจ พูดจาเสียดสีขึ้น วันละเล็กวันละน้อย พร้อมทั้งไปยุแหย่ให้ สามีรังเกียจแม่ของตนเอง เมื่อพูดบ่อย ๆ เข้า สามีก็เห็นคล้อยตามด้วย จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูก สะใภ้ได้พูดกับนางว่า:-

“คุณแม่ ความจริงแม่ก็มีลูกชายลูกหญิงตั้งหลายคน ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย แม่ก็แบ่งให้ เท่า ๆ กัน มิใช่ว่าฉันจะได้ ๒ ส่วนมากกว่าคนอื่น ๆ แต่ทำไมแม่จึงมาอยู่มากิน แต่ที่บ้านฉันคน เดียว แม่ไม่รู้จักทางไปบ้านลูกคนอื่นเลยหรือ ?”

ไร้ที่พึ่งพาจึงออกบวช
นางโสณา ได้ฟังคำของลูกสะใภ้แล้ว อีกทั้งลูกชายก็ดูท่าที คล้อยตามภรรยาของตน นาง จึงจำใจห่อของใช้ส่วนตัว ไปอาศัยลูกคนต่อ ๆ ไป และเหตุการณ์ก็เป็นไปทำนองเดียวกัน นางไม่ สามารถจะพึ่งพา อาศัยลูกชายและลูกหญิงทั้ง ๑๔ คนนั้นได้ จึงคิดว่า “จะมีประโยชน์อะไรกับ การอาศัยลูกเหล่านี้ เราไปบวชเป็นภิกษุณีจะดีกว่า”

นางโสณา ได้ไปยังสำนักภิกษุณีสงฆ์ ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุณี เพราะความที่ นางเป็นผู้มีลูกมากจึงได้ชื่อว่า “พหุปตติกาเถรี” นางเองก็คิดว่า “เราบวชในวัยชรา ไม่ควรที่จะอยู่ ด้วยความประมาท” จึงได้ช่วยนางภิกษุณีทั้งหลาย ทำวัตรปฏิบัติตามกิจของภิกษุณีสงฆ์ แต่ เพราะความเป็นผู้บวชใหม่ และอยู่ในวัยชรา จึงทำกิจบกพร่อง นางภิกษุณีทั้งหลาย จึงกระทำ ทัณฑกรรมลงโทษแก่เธอโดยให้เธอทำหน้าที่ ต้มน้ำอุ่นให้ภิกษุณีทั้งหลายสรง ทั้งเช้า-เย็น เป็น ประจำ บุตรธิดาของเธอได้มาเห็น ก็พากันพูดจาเยาะเย้ยจนเธอรู้สึกสลดใจ

วันหนึ่ง พระโสณาเถรี ได้ไปหาฟืน และตักน้ำมาไว้ในโรงครัว แต่ยังมิได้ก่อไฟ พระเถรีก็คิดว่า “เราไม่ควรประมาท ควรจะอาศัยเวลา และสถานที่อันสงบสงัดนี้ บำเพ็ญ สมณธรรม ทั้งกลางวันและกลางคืน” คิดดังนี้แล้ว ก็ได้พิจารณาอาการ ๓๒ ท่องบนภาวนาไป เดินจงกรมไปโดยยึดเสาโรงครัวเป็นแกนกลาง เดินวนรอบเสาสำรวมจิตเจริญวิปัสสนา

สำเร็จอรหันต์แสดงอภินิหาริย์
ขณะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงทราบด้วยพระฌาณ จึง ทรงเปล่งพระโอภาสรัศมี ปานประหนึ่งว่าประทับอยู่ตรงหน้าพระเถรีนั้น แล้วตรัสสอนว่า:- “ดูก่อนนพหุปุตติกา ชีวิตความเป็นอยู่เพียงวันเดียว ครู่เดียว ของผู้ที่เห็นธรรมอันสูงสุด ที่เราได้แสดงแล้ว ดีกว่า ประเสริฐกว่า ชีวิตความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นธรรม”

พอสิ้นสุดพุทธดำรัส พระเถรีก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย และ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงคิดว่า “เมื่อภิกษุณีเหล่านั้น มาเพื่อต้องการน้ำอุ่น พอเห็นเรา แล้วไม่ทันได้ใคร่ครวญ ก็จะพูดล่วงเกินดูหมิ่นเรา เหมือนก่อน ก็จะได้รับบาปกรรมอันหนัก เรา ควรจะทำอะไร พอเห็นที่สังเกตให้พวกเขากำหนดรู้สักอย่างหนึ่ง” แล้วนางก็ยกภาชนะต้มน้ำ ขึ้นตั้งบนเตาไฟ แต่มิได้ก่อไฟ เพียงแต่ใส่ฟืนเข้าไว้ เมื่อนางภิกษุณีทั้งหลาย มาที่โรงครัว เพื่อจะ นำน้ำอุ่นไปสรง เห็นมีแต่ภาชนะต้มน้ำอยู่บนเตาไฟ แต่ไม่เห็นไฟ จึงกล่าวว่า:- “พวกเราบอกให้หญิงแก่คนนี้ ต้มน้ำถวายภิกษุณี เพื่อนำไปสรง จนบัดนี้นางก็ยังไม่ได้ ใส่ไฟในเตาเลย ไม่ทราบว่านางมัวทำอะไรอยู่”

พระโสณาเถรี จึงกล่าวว่า:- “ข้าแต่แม่เจ้า ถ้าท่านทั้งหลายต้องการน้ำอุ่นไปสรง ก็จงตักเอาจากภาชนะนั้นเถิด” แล้วพระเถรี ก็อธิษฐานเตโชธาตุ ทำให้น้ำนั้นอุ่นขึ้นทันที

ภิกษุณีทั้งหลายได้ฟังคำของนางแล้วก็คิดว่า “คงจะมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็น แน่” จึงทดลองใช้มือจุ่มลงในภาชนะ ก็ทราบว่าเป็นน้ำอุ่น จึงตักเอาไปสรงทั่วกัน แต่ว่าตักสัก เท่าใด น้ำก็ยังปรากฏเต็มภาชนะอยู่เช่นเดิม ภิกษุณีทั้งหลาย จึงทราบชัดว่า พระเถรีนี้ สำเร็จเป็น พระอรหันต์แล้ว ต่างก็พากันตกใจ

นางภิกษุณี ผู้มีวัยอ่อนกว่า ก็ก้มกราบแทบเท้า กล่าวขอขมาโทษว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า พวกข้าพเจ้า ได้พูดจาดูหมิ่น ล่วงเกินท่าน พระความเขลาเบาปัญญา มิได้พิจารณาให้รอบครอบ ตลอดกาลนานมาแล้ว ขอพระแม่เจ้าจงเมตตา อดโทษแก่พวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”

ส่วนนางภิกษุณี ผู้มีวัยแก่กว่าก็นั่งกระหย่ง (นั่งคุกเข่า) กล่าวขอขมา ให้อดโทษานุโทษให้ เช่นกัน โดยขอขมาโทษด้วยคำว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า พวกข้าพเจ้าได้พูดจาดูหมิ่น ล่วงเกินท่าน โดยมิได้พิจารณาให้รอบคอบ ตลอดกาลนานมาแล้ว ขอท่านจงอเมตตา อดโทษให้พวกข้าพเจ้า ด้วยเถิด”

ได้รับการยกย่องเป็นเลิศทางความเพียร
ตั้งแต่นั้นมา คุณงามความดีของพระโสณาเถรี ก็ปรากฏเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า “พระเถรี ผู้แม้บวชในเวลาแก่เฒ่า ก็ยังสามารถดำรงอยู่ในพระอรหัตผลได้ ในเวลาไม่ นาน เพราะอาศัยความเป็นผู้ปรารภความเพียรไม่เกียจคร้าน”

พระบรมศาสดา ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้ง หลาย ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับแล้ว อาศัยความเป็นผู้ปรารภความเพียร ขยัน ไม่เกียจคร้าน ของพระเถรีนี้ จึงได้ทรงสถาปนาพระนางโสณาเถรี นี้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็นผู้ปรารถนาความเพียร

อภิญญา ปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่ง มี ๖ อย่าง
๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๒. ทิพพโสต หูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
(๕ อย่างแรกเป็นโลกิยอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก