หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๑๔.พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เอตทัคคะในทางผู้บันลือสีหนาท

พระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล ตระกูลภารทวาชะ ผู้เป็น ปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน เดิมชื่อว่า “ภารทวาชมาณพ” ศึกษาจบไตรเพท คือ คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ของลัทธิพราหมณ์ มีความเชี่ยวชาญในวิชา ไตรเพท

โทษของการไม่รู้ประมาณในอาหาร
ภารทวาชมาณพ ได้ตั้งสำนักเป็นอาจารย์ใหญ่สอนไตรเพท มีศิษย์มาขอศึกษามากมาย แต่เนื่องจากเป็นคนมีความโลภในอาหาร แสวงหาอาหารด้วยอาการอันไม่เหมาะสม ไม่รู้ ประมาณในการบริโภค จึงถูกศิษย์พากันทอดทิ้ง มีความเป็นอยู่ลำบาก ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานไป อยู่ที่เมืองราชคฤห์ ตั้งสำนักสั่งสอนไตรเพทอีก แต่ก็ไม่ค่อยมีคนนับถือเพราะเป็นคนต่างถิ่น และเมืองราชคฤห์ก็มีสำนักอาจารย์ใหญ่ ๆ มากอยู่แล้ว จึงประสบกับชีวิตที่ฝืดเคืองยิ่งขึ้น

เมื่อพระบรมศาสดา ประกาศพระพุทธศาสนามาจนถึงเมืองราชคฤห์ มีประชาชนเคารพ นับถือเป็นจำนวนมาก ลาภสักการะก็เกิดขึ้นอุดมสมบูรณ์ ปิณโฑลภารทวาชะ คิดที่จะอาศัยพระ พุทธศาสนาเลี้ยงชีวิต อีกทั้งได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็เกิด ศรัทธาเลื่อมใส จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย แล้ว อุตสาห์บำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลใน พระพุทธศาสนา

ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๓ คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ และยังเป็นผู้ที่สามารถแสดงฤทธิ์ได้เทียบเท่าพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านเคยแสดงฤทธิ์จนเป็นสาเหตุให้พระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหาริย์ ดังมีเรื่องเล่าว่า....

เศรษฐีอยากรู้จักพระอรหันต์
สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน มหาวิหาร กรุงราชคฤห์ มี เศรษฐีผู้หนึ่งใคร่จะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา จึงให้บริวารขึงตาข่ายเป็นรั้วล้อมในท่าที่ตนอาบน้ำ อยู่นั้น เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ ขณะนั้นมีไม้จันทน์แดงต้นหนึ่งเกิดที่ริมฝั่งเหนือ น้ำขึ้นไป ถูกน้ำเซาะรากโค่นลงไหลมาตามน้ำถูกกระแสน้ำพัดกระทบกับของแข็งหักเป็นท่อน เล็กท่อนใหญ่กระจัดกระจายไปตามน้ำ มีอยู่ก้อนหนึ่งเป็นปุ่มซึ่งแตกออกมา กลิ้งกระทบหินและ กรวดทรายกลายเป็นก้อนกลมอย่างดี และมีตะใคร่น้ำเกาะอยู่โดยรอบไหลมาติดที่ตาข่ายนั้น

เศรษฐีให้คนตรวจดูรู้ว่าเป็นไม้จันทน์แดงแล้วคิดว่า “ไม้จันทน์แดง ในบ้านของเรามีอยู่ มากมาย เราควรจะทำอะไรดีกับไม้จันทน์แดงก้อนนี้” พลางก็คิดขึ้นได้ว่า “ชนเป็นจำนวนมาก ต่างก็พูดอวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ เรายังไม่รู้ชัดว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์กันแน่ เราควรให้ช่าง กลึงปุ่มไม้จันทน์แดงนี้ ทำเป็นบาตรแล้วแขวนไว้ที่ปลายไม้ผ่าต่อกันให้สูง ๑๕ วา ประกาศว่า ผู้ใดสามารถเหาะมาเอาบาตรไปได้ จึงจะเชื่อถือผู้นั้นว่าเป็นพระอรหันต์ เราพร้อมด้วยภรรยา และบุตรจะขอถึงผู้นั้นเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิต” เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วก็สั่งให้ทำตามที่คิดนั้นทุก ประการ

เดียรถีย์แสดงท่าเหาะ
ครั้งนั้น เจ้าสำนักครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฎฐบุตร ปกุทธกัจจายนะ และ นิครนถ์นาฎบุตร ต่างก็มีความประสงค์อยากจะได้ บาตรไม้จันทน์แดงด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ไปพูดกับท่านเศรษฐีว่า:-
“ท่านเศรษฐี บาตรนี้สมควรแก่เรา ท่านจงยกให้แก่เราเถิด”
“ถ้าท่านต้องการอยากจะได้ ก็จงเหาะขึ้นไปเอาด้วยตนเอง” เศรษฐีกล่าวยืนยัน

ครั้นถึงวันที่ ๖ นิครนถ์นาฎบุตร ได้ใช้ให้ศิษย์ไปบอกแก่เศรษฐีว่า:-
“บาตรนี้ สมควรแก่อาจารย์ของเรา ท่านอย่าให้ถึงกับต้องแสดงฤทธิ์เหาะมาเพราะเหตุ เพียงบาตรใบเดียว ซึ่งเป็นวัตถุเล็กน้อยนี้เลย จงมอบให้แก่อาจารย์ของเราเถิด”

ท่านเศรษฐี ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิม นิครนถ์นาฏบุตรจึงวางแผนกับลูกศิษย์ว่า “เมื่อเราทำท่ายกมือ ยกเท้า แสดงอาการจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร พวกเจ้าจงเข้ายึดมือและเท้า ของเราไว้แล้วกล่าวห้ามว่า ไฉนท่านอาจารย์จึงทำอย่างนี้ท่านอย่าได้แสดงคุณความเป็นพระ อรหันต์ที่ปกปิดไว้เพราะเหตุเพียงบาตรใบนี้เลย” เมื่อตกลงวางแผนกันเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไป พูดขอบาตรกับเศรษฐี เมื่อได้รับคำปฏิเสธเช่นเดิม จึงแสดงท่าจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร บรรดาศิษย์ ทั้งหลายก็พากันเข้าห้ามฉุดรั้งไว้แล้ว กล่าวตามที่ตกลงกันไว้นั้น นิครนถ์นาฏบุตรจึงพูดกับ เศรษฐีว่า “เราจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายพากันห้ามฉุดรั้งไว้อย่างที่เห็นนี้ ดังนั้น ขอท่านจงให้บาตรแก่เราเถิด” เศรษฐีก็ยังไม่ยอมให้เช่นเดิม

พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปเอาบาตร
ในวันที่ ๗ เวลาเช้า พระมหาโมคคัลลานเถระ กับพระปิณโฑลภารทวาชเถระ จะเข้าไป บิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ยืนห่มจีวรอยู่บนก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง ได้ยินเสียงนักเลงทั้งหลาย พูดกันว่า “ครูทั้ง ๖ ต่างกล่าวอวดอ้างว่าตนเป็นพระอรหันต์ จนถึง ๗ วันเข้าวันนี้แล้ว ก็ไม่เห็น มีใครสักคนเดียวเหาะขึ้นไปเอาบาตรที่ท่านเศรษฐีแขวนไว้ พวกเราก็เพิ่งจะรู้กันในวันนี้เองว่า พระอรหันต์ไม่มีในโลก”

พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงกล่าวว่า “ท่านภารทวาชะ ท่านได้ยินหรือไม่ถ้อยคำของ นักเลงเหล่านั้นพูดหมิ่นประมาทพระพุทธศาสนา ท่านก็มีฤทธิ์อานุภาพมาก จงเหาะไปเอาบาตร ใบนั้นมาให้ได้”

พระผู้เป็นเจ้าภารทวาชะ รับคำของพระมหาโมคคัลลานเถระแล้วเข้าจตุถฌานสมาบัติ อันเป็นฐานแห่งอภิญญา กระทำอิทธิฤทธิ์เหาะขึ้นไปบนอากาศพร้อมทั้งแผ่นศิลาที่ยืนอยู่นั้น เหาะเวียนรองกรุงราชคฤห์แล้ว เหาะลอยเลื่อนมาอยู่ตรงหลังคาเรือนของเศรษฐี ท่านเศรษฐีเห็น ดังนั้นแล้ว ทั้งดีใจที่ได้เห็นพระอรหันต์ที่แท้จริง และตกใจกลัวว่าก้อนหินจะล่วงลงมาทับบ้าน ของตน จึงกราบหมอบลงจนอกติดพื้นดินแล้ว กล่าวละล่ำละลักว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้า ลงมา เถิด”

พระเถระจึงสลัดก้อนหินไปประดิษฐานในที่เดิมแล้วเหาะลงมาจากอากาศ เมื่อพระเถระ ลงมาแล้ว ท่านเศรษฐีจึงนิมนต์ให้นั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย ให้คนนำบาตรลงมาจากที่แขวนไว้ บรรจุอาหารอันประณีตจนเต็มแล้วถวายพระเถระพระผู้เป็นเจ้าภารทวาชะ รับแล้วก็กลับสู่วิหาร

ฝ่ายประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไปทำธุระนอกบ้านมิได้เห็นปาฏิหาริย์จึงพากันชุมนุมติด ตามพระเถระไปอ้อนวอนนิมนต์ให้ท่านแสดงปาฏิหาริย์ให้ชมบ้าง พระเถระก็แสดงให้ชมตามที่ นิมนต์นั้น พระบรมศาสดาทรงสดับเสียงอื้ออึง จึงตรัสถามพระอานนท์ว่า “นั่นเสียงอะไร ?” เมื่อทรงทราบความทั้งหมดแล้ว มีรับสั่งให้พระภารทวาชเถระเข้าเฝ้า ทรงตำหนิการกระทำนั้นแล้วมีพระบัญชาให้ทำลายบาตรนั้น บดให้เป็นผงทำเป็นเภสัชสำหรับ หยอดตา จากนั้นทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระสาวกทั้งหลายทำปาฏิหาริยิ์อีกต่อไป

ได้รับการยกย่องในทางบันลือสีหนาท
โดยปกติ ท่านปิณโฑลภารทวาชเถระ มักจะบันลือสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า
ยสฺส มคฺเค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ
แปลว่า ผู้ใด มีความสงสัยในมรรคหรือในผล ผู้นั้น ก็จงถามเราเถิด”
แม้แต่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ท่านก็บันลือสีหนาทเช่นนั้น

ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายพากันกล่าวขวัญถึงท่านว่าเป็นผู้มีความองอาจประกาศ ความเป็นพระอรหันต์ของตนในที่เฉพาะพระพักตร์ พระบรมศาสดาและยังได้กระทำ อิทธิปาฏิหาริยิ์ เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์แดง จนทำให้เศรษฐีพร้อมด้วยบุตรและภรรยาพา กันประกาศตนเป็นพุทธมามกะ คือ ประกาศตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นพากันกล่าวสรรเสริญเกียรติคุณของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ทรงถือเอาคุณความดีของพระเถระนี้ตรัส สรรเสริญว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านภารทวาชะได้ประกาศความเป็นพระอรหันต์ ของตนเช่นนั้น ก็พราะท่านอบรมอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ไว้มาก ครั้น ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประกาศยกย่อง พระปิณโฑลภารทวาชะ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ในฝ่ายผู้บันลือสีหนาท

ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับ ขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก